10 รายสนใจตั้ง “Virtual Bank” ธปท.กางคุณสมบัติคัดเลือกคาดให้บริการจริงกลางปี 68

1964

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้จัดทำเอกสารรับฟังความคิดเห็น (consultation paper) เรื่องการเปิดให้มีผู้ให้บริการประเภทใหม่ ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) โดยธปท. ได้กำหนดแนวทางสำหรับการอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ดังนี้

 

1.ให้ Virtual Bank สามารถประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปได้ ขณะที่ธปท. ยังกำหนดให้กรณีระบบขัดข้องต้องห้ามเกิน 8 ชั่วโมงต่อปี และการแก้ไขต้องทำได้ภายใน 2 ชั่วโมง

2.ผู้ขอจัดตั้ง Virtual Bank จะต้องมีคุณสมบัติเหมาะสม  ได้แก่

(1) มี Business Model ที่ตอบโจทย์ Green Line อย่างยั่งยืน โดยต้องนำเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ด้วยเทคโนโลยี ข้อมูล และดิจิทัล ได้แก่ มีบริการทางการเงินที่ครบวงจรและเหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่มโดยเฉพาะรายย่อยและ SMEs ที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเหมาะสมเพียงพอ สามารถสร้างประสบการณ์ทางการเงินดิจิทัลที่ดีขึ้นแก่ลูกค้า และ ช่วยกระตุ้นการแข่งขันเพื่อพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินอย่างเหมาะสม

(2) มีธรรมาภิบาล โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ กรรมการ ผู้บริหารระดับสูง ต้องมีคุณสมบัติเหมาะสมและมีธรรมาภิบาล

(3) มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการดิจิทัล โดยสามารถออกแบบการให้บริการที่สร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า

(4) มีการใช้เทคโนโลยีที่ยืดหยุ่นคล่องตัว ลดต้นทุนการดำเนินงานและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้อย่างรวดเร็ว

(5) มีความสามารถในการบริหารความเสี่ยงธุรกิจการเงินสามารถดำเนินธุรกิจ Virtual Bank ได้อย่างยั่งยืนไม่เกิดความเสี่ยงต่อระบบ

(6) มีความสามารถในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่หลากหลาย เพื่อนำไปใช้พัฒนาบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละกลุ่ม

(7) มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง โดยต้องมีทุนจดทะเบียนอย่างน้อย 5,000 ล้านบาทขณะที่ผู้ถือหุ้นใหญ่สามารถสนับสนุนให้ Virtual Bank ดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ธนาคารพาณิชย์ในไทย และ นอนแบงก์ สามารถยื่นขอใบอนุญาตได้โดยไม่ต้องยกเลิกใบอนุญาตเดิมแต่ต้องไม่ใช้ชื่อและตราสัญลักษณ์เดียวกัน ไม่นับเงินทุนซ้อนกัน และ Virtual Bank ต้องไม่พึ่งพาธนาคารแม่มากเกินไป ขณะที่หากเป็นบริษัทต่างชาติต้องร่วมทุนกับบริษัทในไทยโดยกำหนดสัดส่วนไม่เกิน 25% และผ่อนผันไม่เกิน 49% และต้องดำเนินกิจการในรูปแบบออนไลน์ 100% ไม่อนุญาตให้มี ADM และ CDM

3. ให้ Virtual Bank ปฏิบัติตามเกณฑ์การกำกับดูแลเช่นเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน โดย ธปท. จะกำกับ Virtual Bank ตามระดับความเสี่ยง ให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาลและวัฒนธรรมด้านความเสี่ยง (risk culture) รวมถึงความต่อเนื่องในการให้บริการของระบบ IT ประสิทธิภาพในการดูแลลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล และความเหมาะสมของการใช้บริการจากผู้ให้บริการภายนอก ในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วน รับเรื่องร้องเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีแผนรับมือระบบมีปัญหา และต้องมีแผนการดูแลลูกค้าหากจำเป็นต้องเลิกกิจการ

4.ให้การดำเนินกิจการในช่วงแรกเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด (phasing) เพื่อให้การดำเนินกิจการเป็นไปอย่างมั่นคงและไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบการเงิน

สำหรับกระบวนการรับสมัครและคัดเลือกผู้สนใจจัดตั้ง Virtual Bank เริ่มจากหลังไตรมาส 1 ปี 66 ธปท. ประกาศเกณฑ์และเปิดให้ผู้ที่สนใจยื่นคำขออนุญาตจัดตั้งรวมถึงเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น แผนการดำเนินงานให้กับ ธปท.ภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่ประกาศหลักเกณฑ์ จากนั้นในช่วงไตรมาส 4 ปี 66 ถึง ไตรมาส 2 ปี 67 จะคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมโดยธปท. ใช้เวลา 6 เดือนและจะส่งให้กระทรวงการคลังพิจารณาอีก 3 เดือน และในช่วงไตรมาส 2 ปี 67 จะให้ผู้ผ่านการคัดเลือกได้เตรียมความพร้อมก่อนเปิดบริการอีก 1 ปี โดยคาดว่าจะพร้อมเปิดดำเนินการได้ในไตรมาส 2 ปี 68 ปี ทั้งนี้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นอันสมควร ธปท. อาจผ่อนผันให้ Virtual Bank เริ่มเปิดดำเนินการหลังจาก 1 ปีได้

“คณะกรรมการที่ทำหน้าที่คัดเลือกจะมีทั้งผู้เชี่ยวชาญจากธปท. และที่ปรึกษาจากภายนอก และเมื่อทำการคัดเลือกแล้วจะส่งรายชื่อให้คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินและกระทรวงการคลังต่อไป โดยปัจจุบันมีผู้สนใจสมัครแล้ว 10 รายทั้งแบงก์และนอนแบงก์และมีต่างชาติสมัครประมาณ 2-3 ราย อย่างไรก็ตามธปท. คาดว่าจะให้ใบอนุญาตไม่เกิน 3 รายเนื่องจากไม่ต้องการให้มีการแข่งขันมากเกินไป”

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง Virtual Bank เพื่อให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี การให้บริการดิจิทัล และการใช้ข้อมูลที่หลากหลายมาวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า เข้ามาให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัล ด้วยต้นทุนด้านพนักงาน อาคารและสถานที่ที่ลดลง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ตรงจุดและครบวงจรขึ้น รวมถึงช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินในราคาที่เหมาะสม

โดยเฉพาะสำหรับผู้ใช้บริการรายย่อย และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเพียงพอหรือตรงความต้องการ และเพื่อให้ Virtual Bank ที่จะเปิดให้บริการสามารถพัฒนานวัตกรรมที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (responsible innovation) และประกอบธุรกิจในรูปแบบที่ยั่งยืน โดยไม่กระตุ้นให้เกิดการแข่งขันปล่อยสินเชื่อที่ส่งเสริมการก่อหนี้เกินตัว และไม่เอื้อประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้องหรือใช้อำนาจตลาดเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้อง จนกระทบเสถียรภาพระบบการเงิน ผู้ฝากเงิน และผู้บริโภคในวงกว้างนั้น

ดังนั้นเพื่อให้มี Virtual Bank ในประเทศไทยที่บรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้นและตอบโจทย์ความต้องการของภาคการเงินอย่างแท้จริง ธปท. จึงขอเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 โดยสามารถส่งความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของ ธปท. หรือทางอีเมล virtualbank@bot.or.th ซึ่ง ธปท. จะนำความเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับมาประกอบการจัดทำหลักเกณฑ์การอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ต่อไป