เป็น Essence of Agriculture ยกระดับเกษตรไทย สู่เกษตรมูลค่าสูง

3307

งานที่ ธ.ก.ส. เป็นงานที่มีความท้าทายเพราะมีขอบเขตกว้าง นอกจากนี้ ยังเป็นงานภารกิจหลายด้าน ทั้งในด้านที่เป็นธนาคาร การพัฒนาลูกค้า ส่งเสริมสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพดีขึ้นและราคาสูงขึ้นได้ ที่ผ่านมา เรามักได้ยินประโยคที่บอกว่า เกษตรกรเป็นกระดูกสันหลังของชาติ แต่ผ่านมาหลายปี เกษตรกรก็ยังลำบากเหมือนเดิม ดังนั้น จึงอยากลองดูว่า หากได้รับโอกาส จะสามารถเปลี่ยนโฉมภาคการเกษตรของไทยได้หรือไม่

เป็นเวลา 6 เดือน นับแต่ ฉัตรชัย ศิริไล ได้เข้าดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 โดยวางเป้าหมายให้ ธ.ก.ส. เป็น “Essence of Agriculture” หรือแกนกลางการเกษตร เพื่อยกระดับภาคการเกษตรและเกษตรกรไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ฉัตรชัย ศิริไล ให้สัมภาษณ์พิเศษ “การเงินธนาคาร” ว่า การตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งผู้จัดการ ธ.ก.ส. มาจาก 2 เหตุผลคือ 1. ต้องการเปลี่ยนโฉมภาคการเกษตรไทย และ 2. กำลังหมดวาระจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ขณะที่ ธ.ก.ส. เปิดรับสมัครผู้จัดการพอดี

“งานที่ ธ.ก.ส. เป็นงานที่มีความท้าทายเพราะมีขอบเขตกว้าง นอกจากนี้ ยังเป็นงานภารกิจหลายด้าน ทั้งในด้านที่เป็นธนาคารและด้านการพัฒนาลูกค้า ส่งเสริมสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพดีขึ้นราคาสูงขึ้นได้ ที่ผ่านมา เรามักได้ยินประโยคที่บอกว่า เกษตรกรเป็นกระดูกสันหลังของชาติ แต่ผ่านมาหลายปี เกษตรกรก็ยังลำบากเหมือนเดิม ดังนั้น จึงอยากลองดูว่า หากได้รับโอกาส จะสามารถเปลี่ยนโฉมภาคการเกษตรของไทยได้หรือไม่”

เดินหน้าปรับองค์กร
ให้ก้าวทันโลกที่เปลี่ยน

ฉัตรชัย กล่าวว่า สำหรับภารกิจที่ได้เริ่มทำหลังเข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการ ธ.ก.ส. คือ การบริหารจัดการ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ที่สูงขึ้นจากผลกระทบของสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ให้กลับสู่ระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ รวมถึงปรับองค์กรให้เข้าสู่มาตรฐานของความเป็นธนาคารและในขณะเดียวกันต้องไม่ทิ้งความเป็นธนาคารเพื่อการเกษตร

“คน ธ.ก.ส. เป็นคนเก่งโดยพื้นฐาน แต่ที่ผ่านมา อาจจะปรับตัวไม่ทันกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ธ.ก.ส. เป็นเหมือนโกดังสินค้าที่ใหญ่มากแต่ไม่ถูกจัดให้เป็นระบบ ดังนั้น เราแค่เข้ามาจัดระบบ เช่น จัดการข้อมูล นำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อทำให้ทุกอย่างดีขึ้น”

โดยในปีบัญชี 2566 ได้กำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินงาน 6 ด้าน ได้แก่

  1. การปรับโครงสร้างองค์กร โดยปรับโครงสร้างภายในเพื่อให้เดินไปในทิศทางเดียวกันได้
  2. การฟื้นฟูอาชีพและพัฒนารายได้เกษตรกร โดยเปลี่ยนจากการทำการเกษตรแบบเดิมมาเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม
  3. การปรับปรุงคุณภาพข้อมูล (Data Cleansing) โดยทำให้ข้อมูลลูกค้า 4.2 ล้านคน เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง
  4. การใช้เทคโนโลยีพัฒนาการให้บริการทางการเงิน
  5. การแก้ไขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) และการบริหารจัดการหนี้
  6. การบริหารต้นทุนเงินและการบริหารงบประมาณให้เกิดความคุ้มค่าและใช้ประโยชน์จากตลาดเงินในการช่วยลดต้นทุน

“ตอนนี้ทุกอย่างเดินตาม Step ที่ได้วางเอาไว้ พนักงานและผู้บริหารทุกคนช่วยกันขับเคลื่อนองค์กร ที่ผ่านมา ไม่ใช่ว่าเราเก่งน้อยลง แต่โลกเปลี่ยนเร็วกว่าที่เราคิด ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเข้ามาปรับองค์กรเพื่อให้เราก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมไปให้ได้ ตัวชี้วัดของ ธ.ก.ส. คือ ทุกอย่างต้องอยู่ในมิติที่ควบคุมและบริหารได้ ไม่ต้องมุ่งกำไรสูงสุด แต่มุ่งความแข็งแรงทั้งลูกค้าและธนาคาร”

อย่างไรก็ตาม ธ.ก.ส.เป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีวัฒนธรรมองค์กรซึ่งอยู่มายาวนานถึง 58 ปี การเข้ามาปรับองค์กรจึงไม่ใช่การเข้ามาเปลี่ยน แต่เป็นการจัดระบบใหม่ ใส่วิธีคิดแบบใหม่ และเสนอทางเลือกทางใหม่ให้กับคนในองค์กร โดยปัจจุบันผ่านมา 6 เดือน ประเมินว่า องค์กรเริ่มปรับไปในทิศทางที่ต้องการให้เป็นแล้ว

“การปรับองค์กรไม่ใช่การเข้ามาเปลี่ยนทันที เพราะการเปลี่ยนเป็นการฝืนธรรมชาติ ดังนั้น ที่ทำตอนนี้คือไม่บังคับให้เปลี่ยน แต่จูงใจให้เปลี่ยนโดยเสนอทางเลือกทางใหม่ให้ ซึ่งถ้าเขามองว่าเป็นตัวเลือกที่ดีเขาก็จะไปกับเรา แต่ ธ.ก.ส. เป็นองค์กรขนาดใหญ่การปรับต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตาม 6 เดือนที่ผ่านมาคิดว่าแกนเริ่มขยับแล้วและเป็นไปในทิศทางที่อยากให้เป็น”

สำหรับเป้าหมายในระยะสั้นที่ต้องการเห็นคือ ทำให้ ธ.ก.ส. เป็นธนาคารที่สามารถควบคุม บริหาร และวางแผนได้ จากนั้นจะเริ่มฟื้นฟูรายได้ลูกค้าให้มีรายได้เพิ่มอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกัน ต้องปรับวิธีคิดของคนในองค์กรให้ไปในทิศทางเดียวกัน

“การตัดสินใจเข้ามาทำงานที่ ธ.ก.ส. ไม่ได้คิดว่าตัดสินใจถูกหรือผิด แต่ว่าถ้าตัดสินใจแล้ว ระหว่างทางอย่าไปคิดว่าทำไมไม่เลือกอีกทาง เพราะจะทำให้เกิดความลังเล ถ้าเลือกแล้วก็เดินหน้าต่อไปเลย ถ้าคิดให้สนุกก็มีอะไรให้ทำทุกวัน”

เปิดวิสัยทัศน์ ธ.ก.ส. ก้าวสู่ปีที่ 58
“ธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน”

ฉัตรชัยกล่าวต่อว่า ในโอกาสที่ครบรอบวันสถาปนาธนาคารก้าวสู่ปีที่ 58 ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 นี้ ได้กำหนดวิสัยทัศน์การเป็น “ธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน” โดยได้กำหนดกรอบการดำเนินงานในปีบัญชี 2566 ดังนี้

ด้านการเป็นธนาคารที่ยั่งยืน โดย ธ.ก.ส. มุ่งเน้นเป็นศูนย์กลางการให้บริการทางการเงินภาคเกษตร โดยจะยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบวงจรและทันสมัย ตลอดจนใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการบริหารจัดการสินทรัพย์และพัฒนาระบบเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของลูกค้าในอนาคต รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันและบริหารจัดการหนี้

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถองค์กรและบุคลากรรองรับการแข่งขัน ยกระดับการทำงานให้สอดคล้องกับทิศทางในอนาคตของธนาคาร  สร้างความตระหนักในการปฏิบัติตามเกณฑ์

พร้อมทั้งพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธนาคาร เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์และความเพียงพอของเงินกองทุน บริหารจัดการรายได้และต้นทุนเงิน รวมถึงมีการพัฒนาธุรกิจใหม่หรือร่วมลงทุนกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคเกษตรร่วมกับเครือข่าย เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจ

ด้านการพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน ธ.ก.ส.มุ่งยกระดับเศรษฐกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานการครองชีพและความเป็นอยู่ของคนชนบทให้ดีขึ้น พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันตามศักยภาพของลูกค้าและครัวเรือนเกษตรกรภายใต้ BCG Model

Essence of Agriculture
เป็นแกนกลางให้ภาคการเกษตร

ฉัตรชัยกล่าวว่า นอกจากยุทธศาสตร์ที่ขับเคลื่อนเพื่อมุ่งสู่ธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืนแล้ว ยังได้ปรับเปลี่ยนการดำเนินการของ ธ.ก.ส. ในหลายมิติ ครอบคลุมทั้งภายในและภายนอกเพื่อให้ ธ.ก.ส. เป็น “Essence of Agriculture” หรือแกนกลางการเกษตร และก้าวสู่ยุคใหม่อย่างเป็นรูปธรรมตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร

โดยใช้จุดแข็งของ ธ.ก.ส. คือ “คนของเรา รักลูกค้า” ผ่าน 4 แนวทางสำคัญ

1. เงินทุนเพื่อภาคการเกษตร โดยกลุ่มเกษตรกรต้องเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำพร้อมบริการทางการเงินครบวงจรที่รวดเร็ว ใช้เทคโนโลยีวิทยาการสมัยใหม่ นวัตกรรม และประโยชน์จากฐานข้อมูลที่ธนาคารมี นำมาวิเคราะห์และวางแผนสร้างผลิตภัณฑ์และบริการให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงความต้องการของตลาด ตลอดจนนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับเปลี่ยนกระบวนการให้บริการลูกค้าเพื่อความสะดวกและรวดเร็ว

รวมถึงต้องมีการวางแผนบริหารจัดการการผลิต การเพิ่มมูลค่าเพิ่ม และคาดการณ์ความต้องการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคต่าง ๆ ในตลาด สามารถกำหนดปริมาณและราคาสินค้าได้อย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันสินค้าล้นตลาดและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

2. องค์ความรู้ใหม่ๆ โดยส่งเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีและการทำการเกษตรแบบใหม่โดยอาศัยทักษะของกลุ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการผลิต ออกแบบ แปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ ช่วยลดความเสี่ยงและผลกระทบจากความผันแปรของธรรมชาติ เพื่อให้รายได้ไม่กลายเป็นศูนย์เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน

3. การพัฒนาคุณภาพและยกระดับผลิตภัณฑ์ โดยเชื่อมต่อเกษตรกรที่ขาดทักษะเข้ากับกลุ่มที่มีทักษะแต่ขาดทรัพยากรการผลิต เพื่อให้ได้มีโอกาสส่งเสริมซึ่งกันและกันในธุรกิจรูปแบบการแบ่งปันผลกำไร และใช้องค์ความรู้จากสถาบันการศึกษา เครือข่ายในการพัฒนามาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อพัฒนาและต่อยอดเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน

4. การพัฒนาด้านการตลาดและช่องทางการจำหน่าย โดยการพัฒนาด้านการตลาดและช่องทางการจำหน่าย ทั้งการตลาดแบบ Digital และการกระจายสินค้าเกษตร ซึ่ง ธ.ก.ส. สามารถเป็นตัวกลางเชื่อมต่อพร้อมทั้งเป็นนักขายให้กับภาคการผลิตเพื่อเปิดช่องทางใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือต่างประเทศได้อีกทางหนึ่ง

“เรากำลังใช้บทบาทของ ธ.ก.ส. เป็นประตูเพื่อยกระดับเกษตรกรหลังฟื้นตัวจากผลกระทบจากวิกฤตต่าง ๆ ทั้งปัญหาราคาพืชผล ภัยแล้ง และ COVID-19 เพื่อให้เกษตรกรก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงไปได้และเติบโตได้อย่างยั่งยืน”

ฉัตรชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายในการต่อยอดภาคการเกษตรสู่เกษตรมูลค่าสูง โดยสนับสนุนให้เกษตรกรไทยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า (Added Value) ด้วยการใช้นวัตกรรม เช่น การแปรรูปกล้วย ให้เปลี่ยนจากทำกล้วยตากธรรมดา เป็นการทำกล้วยผง ทำกล้วยให้เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ให้พลังงานสูงสำหรับนักวิ่ง

รวมไปถึงการสนับสนุนให้นำลายเบญจรงค์เข้ามาเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน ยกระดับให้เป็น Premium Grade ตลอดจนการยกระดับเกษตรกรผู้ปลูกไผ่ให้เปลี่ยนจากการปลูกเพื่อทำเครื่องจักสานมาทำเป็นกระดาษซับมัน บริหารจัดการสวนไผ่ให้เป็นสวนท่องเที่ยว การนำเนื้อทุเรียนไปทำไอศกรีมทุเรียนเพื่อส่งออก หรือปรับเปลี่ยนวิธีจำหน่ายใหม่ให้เป็นรูปแบบ Ready To Eat เป็นต้น

ทั้งนี้  การยกระดับสินค้าเกษตรในช่วงที่ผ่านมา ธ.ก.ส. มุ่งไปที่กลุ่มลูกหนี้ NPLs ก่อน เพื่อให้ลูกค้ากลุ่มนี้กลับมาเป็นลูกค้ากลุ่มที่ดีได้และเป็นตัวอย่างให้ลูกค้า NPLs รายอื่นเข้ามายกระดับสินค้าของตนเองให้เป็น High Value และสามารถกลับมาเป็นลูกหนี้ดีได้

“การเป็น Essence of Agriculture คือ ธ.ก.ส. จะเป็นแกนกลางที่สนับสนุนให้เกษตรกรปรับปรุงการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์และสินค้าของเกษตรกรที่มีอยู่ในมือดีขึ้นและมีมูลค่าสูงขึ้น ต่อยอดสินค้าเกษตรรูปแบบเดิมให้เป็นการทำเกษตรเพื่อเสพ เป้าหมายที่อยากเห็นคือลูกค้าของ ธ.ก.ส. ต้องแข็งแรงในสไตล์ของเรา อาศัยความแข็งแรงของ ธ.ก.ส. ดึงลูกค้าให้ลุกขึ้นมาให้ได้”

พร้อมตอบสนองนโยบายรัฐ
มองเป็น Win-Win Situation

ฉัตรชัย กล่าวว่า ธ.ก.ส. ในฐานะที่เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ได้ดำเนินภารกิจเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก และห่วงโซ่การผลิตภาคเกษตร แม้ว่าการตอบสนองต่อนโยบายของรัฐอาจจะกระทบกับการดำเนินธุรกิจปกติบ้าง แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ เนื่องจากทั้งรัฐบาล และ ธ.ก.ส. มีเป้าหมายในการช่วยเหลือเกษตรกร

“การตอบสนองต่อนโยบายรัฐ แม้จะกระทบกับการทำธุรกิจปกติ แต่เป็นสิ่งที่เราต้องทำ เนื่องจาก ธ.ก.ส. เป็นกลไกของรัฐ แต่เมื่อได้รับผลกระทบเราต้องใช้ประโยชน์จากนโยบายของรัฐ เช่น มาตรการพักหนี้ หากลูกค้าต้องการเข้ามาตรการของรัฐต้องดาวน์โหลด BAAC Mobile ที่เป็น Application ของเรา และเมื่อ BAAC Mobile ถึงมือลูกค้าแล้ว ลูกค้าก็จะสามารถเข้าถึงการสื่อสารและเทคโนโลยีได้ มองว่าเป็น Win-Win Situation”

ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้ดำเนินภารกิจขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากผ่านมาตรการตามนโยบายรัฐบาลที่สำคัญ

ในด้านของหนี้ภาคเกษตรที่เป็นปัญหาสะสมมาต่อเนื่อง ธ.ก.ส. มีนโยบายเข้าไปแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนในภาคเกษตรทําให้เกษตรกรก้าวพ้นกับดักหนี้และสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างมั่นคง ผ่านมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในกลุ่มหนี้ที่มีปัญหา โดยใช้ฐานข้อมูลและเทคโนโลยีในการวิเคราะห์ข้อมูล การจัดกลุ่มลูกค้า การพัฒนาเครื่องมือและช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น

ขณะเดียวกัน ยังจูงใจลูกค้าที่ชําระหนี้ดีด้วยโครงการชําระดีมีโชค โดยลูกค้าที่ชําระหนี้ตรงตามกําหนดเวลา ธนาคารจะนำจำนวนต้นเงินหรือดอกเบี้ยที่ชำระจริงทุกๆ 1,000 บาท  มอบเป็นสิทธิประโยชน์ในการชิงโชค รางวัลรวมมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 – 30 มิถุนายน 2567

ด้านปัญหาหนี้นอกระบบ ธ.ก.ส. ได้จัดทำโครงการ “มีหนี้นอกบอก ธ.ก.ส.” โดยให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่าน www.baac.or.th และ Line Official Account : BAAC Family ซึ่งผู้ที่ลงทะเบียนต้องเป็นเกษตรกรหรือบุคคลในครัวเรือน โดยหนี้ที่มีต้องเป็นหนี้สินที่เจ้าหนี้ไม่ใช่สถาบันการเงิน และเป็นผู้ที่สามารถสร้างหรือมีรายได้เพียงพอต่อการชำระหนี้ กรณีผู้ขอกู้อายุมากกว่า 60 ปีต้องมีทายาทหรือบุคคลในครัวเรือนอย่างน้อย 1 คน เป็นลูกหนี้ร่วม และหลังจากลงทะเบียนแล้วธนาคารจะติดต่อกลับตามช่องทางการติดต่อที่ได้ให้ไว้เพื่อนัดหมายวันเวลาในการเข้าพบพูดคุยและให้คำปรึกษาในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ

ในส่วนของปัญหาผู้สูงอายุ (Aging) ธ.ก.ส. ได้จัดทำ “โครงการสินเชื่อแทนคุณ” วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่มีหนี้อันเป็นภาระหนักและมีความประสงค์จะโอนทรัพย์สินและหนี้สินให้กับทายาท เพื่อเปิดโอกาสให้ทายาทเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขหนี้อย่างยั่งยืนและร่วมรักษาทรัพย์สินให้คงอยู่กับครอบครัว  โดยที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้ปล่อยสินเชื่อตามโครงการสินเชื่อแทนคุณไปแล้ว 24.63 ล้านบาท

ขณะที่ ธ.ก.ส. ยังพร้อมสนับสนุนทายาทในการต่อยอดการดำเนินธุรกิจของครอบครัวโดยการเติมความรู้ทางการเงิน เทคโนโลยี นวัตกรรม และเงินทุน เพื่อเพิ่มมูลค่า (Added Value) สร้างความหลากหลายในผลิตภัณฑ์และการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อยกระดับสินค้าไปสู่ตลาดที่มีกำลังซื้อสูง โดยตั้งเป้าทายาทเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 42,000 คน

นอกจากนี้  ธ.ก.ส. ยังได้จัดทำมาตรการตัดชำระหนี้ตามสัดส่วน (จ่ายดอก ตัดต้น) มาตรการปรับตารางชำระหนี้ (จ่ายต้น ปรับงวด) และแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีหนี้อันเป็นภาระหนัก เพื่อลดภาระ และความกังวลใจในด้านภาระหนี้สินผ่านโครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบยั่งยืน โดยปรับตารางการชำระหนี้ใหม่ให้สอดคล้องกับศักยภาพของลูกค้าและที่มาของรายได้ รวมถึงการฟื้นฟูอาชีพ โดยพัฒนาอาชีพ และเสริมสภาพคล่องในการลงทุน เพื่อประกอบอาชีพเพิ่มรายได้

เดินหน้าความยั่งยืน-CSR
ตอบโจทย์สังคมและสิ่งแวดล้อม

ธ.ก.ส. ร่วมกับชุมชนในการดำเนินโครงการ BAAC Carbon Credit เพื่อเดินหน้าตามแนวทางการส่งเสริมการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตในประเทศ ตามโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER)

โดยเริ่มจากการขึ้นทะเบียนโครงการ การตรวจนับจำนวนต้นไม้ การตรวจรับรองคาร์บอนเครดิตจากผู้ประเมินภายนอก (Validation and Verification Body : VVB) การรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตจากองค์กรบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เพื่อนำปริมาณการกักเก็บดังกล่าวไปตอบโจทย์ความต้องการของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ที่มีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

ทั้งนี้ ได้นำร่องโครงการธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่ และธนาคารต้นไม้บ้านแดง จังหวัดขอนแก่น จำนวนคาร์บอนเครดิต 453 ตันคาร์บอน โดยขายกึ่ง CSR ในราคาตันละ 3,000 บาท คิดเป็นเงินรวม 1,359,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เกษตรกรในชุมชนจะมีรายได้ประมาณ 951,300 บาท

“ธ.ก.ส.มีเป้าหมายที่จะขยายการสร้างคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ไปยังชุมชนที่เข้าร่วมโครงการธนาคารต้นไม้ รวมถึงขยายผลไปยังกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การทำนาเปียกสลับแห้ง เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทน การลดพื้นที่การเผาตอซังข้าว อ้อยและข้าวโพด การเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าชายเลน เป็นต้น โดยคาดว่าจะมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่จะนำมาซื้อ-ขายได้กว่า 150,000 ตันคาร์บอน ภายใน 7 ปี”

ฉัตรชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ได้เดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพชุมชนแบบบูรณาการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนภายใต้ BCG Model ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างการเติบโตของภาคเกษตรกรรมไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs)

โดยส่งเสริมและสนับสนุนเงินทุนให้กับเกษตรกร บุคคล นิติบุคคล กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์การเกษตร

ผ่านสินเชื่อภายใต้ BCG Model วงเงินรวม 35,000 ล้านบาท ประกอบด้วย

  1. สินเชื่อเพื่อเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy Credit) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้เพิ่มศักยภาพในการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต
  2. สินเชื่อเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Credit) เพื่อสนับสนุนการลดปริมาณของเสียให้เท่ากับศูนย์ (Zero waste) โดยนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนการนำวัสดุกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และแปรสภาพกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)
  3. สินเชื่อสีเขียว (Green Credit) เพื่อสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์หรือการผลิตอาหารปลอดภัย (Food Safety) ส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกหรือพลังงานสะอาด รวมถึงการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

จากการดำเนินยุทธศาสตร์ของ ธ.ก.ส. ไม่ว่าจะเป็นด้านการขับเคลื่อนการเป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืนการแก้ไขหนี้ครัวเรือน การตอบสนองนโยบายของรัฐ รวมถึงการปรับรูปแบบการทำงานขององค์กร ทั้งหมดนี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรไทยให้แข็งแรง สนับสนุนให้ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อต่อยอดภาคการเกษตรสู่เกษตรมูลค่าสูง มุ่งสู่การเป็น Essence of Agriculture


ติดตามอ่านคอลัมน์ Special Interview ได้ในวารสารการเงินธนาคารฉบับเดือนตุลาคม 2566 ฉบับที่ 498 ในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi

รวมช่องทางการสั่งซื้อวารสารการเงินธนาคาร ทั้งฉบับปัจจุบันและฉบับย้อนหลัง ครบจบที่นี้ที่เดียว : https://moneyandbanking.co.th/2023/18250/