มุ่งพัฒนาตลาดทุน ให้เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน

2172

“ตลาดหลักทรัพย์ไทย ซึ่งกำลังจะก้าวสู่ปีที่ 50 ของการดำเนินงาน ได้ทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในระบบเศรษฐกิจ รวบรวมและจัดสรรการใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจ เปิดโอกาสให้กิจการต่างๆ เข้าถึงแหล่งเงินทุน ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกในการออมการลงทุนเพื่อสะสมความมั่งคั่ง”

ภายใต้สถานการณ์และความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้น ขณะที่โลกยุคดิจิทัลเปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง กลุ่มตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ประกาศยึดมั่นวิสัยทัศน์ “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone” มุ่งพัฒนาตลาดทุนให้เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน พร้อมปรับตัวและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง

ตลาดหลักทรัพย์ฯจะมีอายุครบ 5 ทศวรรษ หรือ 50 ปี ในวันที่ 17 เมษายน 2567 ในโอกาสนี้ การเงินธนาคาร ได้สัมภาษณ์พิเศษ ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. ถึงพัฒนาการของตลาดหลักทรัพย์ฯ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านตลาดทุนของประเทศไทย บทบาทของ ตลาดทุน ในฐานะที่เป็นฟันเฟืองสำคัญที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศ และภาพของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอนาคต ท่ามกลางสถานการณ์หรือตัวแปรที่เปลี่ยนแปลงไป

โครงสร้าง ตลท. ที่มาจาก Stakeholder ต่างๆ

ดร.ภากรอธิบายว่า โครงสร้างคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกอบด้วยผู้แทนที่มาจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคส่วนต่างๆ ของตลาดทุน ซึ่งส่วนหนึ่งแต่งตั้งโดย ก.ล.ต. และอีกส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยที่ประชุมสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ฯ

คณะกรรมการ เป็นผู้กำหนดแนวทางในการกำกับดูแลกิจการของกลุ่มตลาดหลักทรัพย์ฯ และมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ

คณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการชุดย่อยต่างๆ ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา มีส่วนขับเคลื่อนความหลากหลายของนโยบายต่างๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการ รวมทั้งมีมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ซึ่งเป็นไปตามหลักบรรษัทภิบาลที่ดี

ฟันเฟืองสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ

ดร.ภากร กล่าวถึงแนวคิดแรกเริ่มในการก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เน้นให้มีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งระดมเงินทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ

“ตลาดหลักทรัพย์ไทย ซึ่งกำลังจะก้าวสู่ปีที่ 50 ของการดำเนินงาน ได้ทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในระบบเศรษฐกิจ รวบรวมและจัดสรรการใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจ เปิดโอกาสให้กิจการต่างๆ เข้าถึงแหล่งเงินทุน ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกในการออมการลงทุนเพื่อสะสมความมั่งคั่ง”

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ไทย ยังมีบทบาทในด้านการเป็นแหล่งระดมทุนของกิจการเพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ โดยในช่วงปี 2013-2022 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ (IPO) ใน ตลาดหลักทรัพย์ไทย 305 บริษัท

ในด้านผลประกอบการช่วง 3 ปีหลังเข้า IPO พบว่า 40-50% ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ IPO มีผลกำไรเฉลี่ยเติบโตมากกว่า 20% ต่อปี และ 65% มีผลกำไรเฉลี่ยเติบโตทุกปี ซึ่ง บจ.ในกลุ่มการเงิน (ไฟแนนซ์) และกลุ่มอุตสาหกรรม (Resources) โดดเด่นที่สุด

สำหรับการเติบโตของรายได้ พบว่า บจ. มีรายได้ช่วง 3 ปีหลัง IPO เติบโตดี โดยประมาณ 30% ของ บจ. ที่ IPO มีรายได้เฉลี่ยเติบโตมากกว่า 20% ต่อปี และเกือบ 80% มีรายได้เฉลี่ยเติบโตทุกปี โดยพบว่ากลุ่มไฟแนนซ์ โดดเด่นที่สุด

ด้านการเติบโตของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) พบว่าประมาณครึ่งหนึ่งของ บจ. ที่ IPO ในตลาด SET และประมาณ 70% ในตลาด mai เติบโตได้ดีหลังเข้าจดทะเบียน

นอกจากนี้ ยังขยายโอกาสทางธุรกิจไปยัง Startup และ SMEs ผ่าน LiVE platform ให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้ลงทุนมากขึ้น

ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ตลาดทุนประกอบด้วยผู้มีส่วนร่วมเกี่ยวข้องหลายฝ่าย ซึ่งมีส่วนในการสร้างงาน สร้างนวัตกรรม สร้างกำลังซื้อผ่านการจ้างงาน และสร้างผลกำไร ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างรายได้ให้ภาครัฐผ่านการมีส่วนร่วมในการจ่ายภาษี เพื่อเสริมสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศไทย

ในปี 2565 บจ.จำนวน 813 บริษัท จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลรวมสูงสุดในประวัติศาสตร์ด้วยมูลค่ารวมกว่า 375,000 ล้านบาท คิดเป็น 50.2% ของภาษีนิติบุคคลที่กรมสรรพากรจัดเก็บทั้งหมดในปี 2565 นอกจากนี้ ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ บจ. นำส่งกรมสรรพากรในช่วง 3 ปีหลังเข้าจดทะเบียน เพิ่มขึ้น 2.4 เท่า เมื่อเทียบกับช่วง 3 ปี ก่อนเข้าจดทะเบียน

เมื่อ บจ. เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ช่วยเพิ่มความโปร่งใสในการทำบัญชี ทำให้ภาครัฐจัดเก็บภาษีได้เต็มประสิทธิภาพ สู่การพัฒนาสังคมและประเทศ และเมื่อธุรกิจเติบโต บจ. มีการจ้างงาน พนักงานมีเงินได้ ก็จะจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเข้ารัฐ โดยปี 2564 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่กรมสรรพากรจัดเก็บจากการจ้างงานพนักงาน บจ. มีมูลค่าสูงถึง 80,325 ล้านบาท คิดเป็น 24 % ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งหมดที่สรรพากรจัดเก็บในปี 2564

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมีบทบาทในการส่งเสริมให้คนไทยมีการวางแผนการเงินการลงทุนระยะยาว และยังคงยึดมั่นการเป็นแหล่งให้ความรู้ด้านตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการออมการลงทุนอย่างยั่งยืนให้ประชากรไทย

พัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ โครงสร้างพื้นฐานตลาดทุน

ดร.ภากรกล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์/บริการ และโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดทุนและตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีบทบาทในระบบเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เป็นต้นมา

ด้านผู้ลงทุน มีแนวโน้มเติบโตและมูลค่าการซื้อขายทกระจายตัวในหลายกลุ่มผู้ลงทุน จำนวนบัญชีเพิ่มขึ้นและทำสถิติสูงสุดอย่างต่อเนื่อง และมูลค่าการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตของผู้ลงทุนบุคคลสูงต่อเนื่อง สะท้อนการพัฒนากระบวนการ Digitalization ในตลาดทุน

ด้านสินค้าหรือผลิตภัณฑ์การลงทุน มีการพัฒนาและมีความหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ เปิดโอกาสและเชื่อมโยงการลงทุนในรูปแบบต่างๆ อาทิ DRx ที่อ้างอิงกับหลักทรัพย์ในตลาดต่างประเทศ ขยายโอกาสการลงทุน พัฒนาศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDX) เป็นแพลตฟอร์มการระดมทุนและซื้อขายโทเคนดิจิทัล

ด้านการระดมทุน ตลาดทุนเป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญของภาคธุรกิจโดยเฉพาะช่วงวิกฤติ และเป็นกลไกในการยกระดับขีดความสามารถของเศรษฐกิจไทย โดยมีจำนวนบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีมูลค่าการระดมทุนทั้งในตลาดแรกและตลาดรองปรับตัวสูงขึ้นมาก เสริมสร้างความหลากหลายให้กับตลาดทุน

ด้านความยั่งยืน บจ.ไทยได้รับการยอมรับและเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในระดับสากล โดยมีจำนวนบริษัทไทยที่ได้รับการคัดเลือกเข้าไปในดัชนีด้านความยั่งยืนระดับสากลเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เปิดตัวบริการ ESG Data Platform ของบริษัทจดทะเบียน เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศการลงทุนที่คำนึงถึงความยั่งยืนและ ESG

ด้านโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุน รองรับการขยายตัวของธุรกรรมในตลาดทุนที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัลตลอดกระบวนการ มีมาตรฐานเพื่อให้การเชื่อมต่อสะดวกและง่ายมากขึ้น เป็นระบบแบบเปิดที่เชื่อมโยงกัน และลดการลงทุนซ้ำซ้อนของอุตสาหกรรม เช่น ระบบการชำระเงิน (FinNet) การขยายช่องทางการจัดจำหน่ายกองทุนรวม (FundConnext) ระบบการพิสูจน์ยืนยันตัวตน (NDID Proxy) เป็นต้น

“การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างให้แพงเกินตัว แต่สิ่งที่ต้องการคือ การทำให้ระบบนิเวศเติบโตได้มากยิ่งขึ้น เปรียบได้กับการแบ่งพิซซ่าขนาด 8 นิ้ว ให้เท่ากัน โดยหากเราพยายามทำให้ใหญ่ขึ้นเป็น 12 นิ้ว โดยแบ่งให้เท่ากันแต่ขนาดกว้างและยาวขึ้น นี่คือโจทย์ที่ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ กล้าลงทุน”

พร้อมปรับตัวอยู่เสมอ
ยกระดับกำกับ-เพิ่มคุณภาพ บจ.

อีกหนึ่งตัวอย่างที่จะเห็นได้ว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการปรับตัวเพื่อให้ทันเหตุการณ์และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป นั่นก็คือ การปรับปรุงหลักเกณฑ์ บจ.ใน SET และ mai ทั้งกระบวนการ ทั้งนี้ เป็นไปตามแผนกลยุทธ์ระยะ 3 ปี (2566-2568) เพื่อเพิ่มโอกาสการระดมทุน และเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ดร.ภากร ได้ยกบทเรียนครั้งสำคัญจาก 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ บจ. ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 และเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมาว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ตระหนักถึงกฎเกณฑ์การทำงานทั้งของตลาดหลักทรัพย์ฯ Stakeholder รวมทั้งหน่วยงานกำกับดูแล

“ที่ผ่านมา ยอมรับว่าเราตามไม่ทันในบางโจทย์ แต่จะทำอย่างไรให้ในอนาคตสามารถป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก หากถามว่าสามารถป้องกันได้ 100% ไหม คงไม่มีทางทำได้ เพราะมีกลุ่มคนที่เกิดขึ้นมาเพื่อต้องการที่จะโกง แต่จะมีวิธีที่ทำให้การโกงยากขึ้น ดังนั้นต้องเริ่มตั้งแต่ระบบระบบการทำงานภายในของตลาดหลักทรัพย์ฯ ”

โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเริ่มจากทำหน้าที่กำกับดูแลการซื้อขายให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นธรรม และโปร่งใส 3 ด้าน

  1. Listing and Disclosure รับบริษัทที่มีคุณสมบัติเหมาะสม กำกับดูแลให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลให้ถูกต้อง เพียงพอ และทันเวลา เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลอย่างเท่าเทียมในการประกอบการตัดสินใจลงทุน รวมทั้งดำเนินการเมื่อบริษัทไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด และเพิกถอนหากมีคุณสมบัติไม่เหมาะสม
  2. Market Surveillance ติดตามดูแลให้การซื้อขายเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ป้องปรามและดำเนินการกับบริษัทสมาชิกหากพบการส่งคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสม และตรวจสอบเบื้องต้นกรณีที่อาจมีการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ก่อนส่งเรื่องให้สำนักงาน ก.ล.ต.พิจารณาดำเนินการต่อไป
  3. Member Supervisor การรับสมาชิก (โบรกเกอร์) ที่มีฐานะมั่นคงและมีความพร้อมในการประกอบธุรกิจ และตรวจสอบให้สมาชิกปฏิบัติตามเกณฑ์ตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงดำเนินการเพิกถอนสมาชิกที่ขาดคุณสมบัติ

“ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการปรับตัวอยู่เสมอ เช่น พัฒนาเครื่องมือต่างๆ เพื่อให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้น มีการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการติดตามการซื้อขายหลักทรัพย์ ทำให้จับสัญญาณการซื้อขายได้รวดเร็วขึ้น เป็นต้น”

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างหารือร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (สมาคม บล.) เพื่อร่วมจัดตั้ง “Securities Bureau” เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์มีข้อมูลในการตัดสินใจให้เงินกู้เพื่อซื้อหลักทรัพย์ หรือบัญชีมาร์จิ้น ซึ่งจะช่วยให้โบรกเกอร์สามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงของตนได้ดีขึ้น

ภาพตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอนาคต

ดร.ภากร ยังได้กล่าวถึงภาพของตลาดหลักทรัพย์ฯในอนาคต ท่ามกลางสถานการณ์หรือตัวแปรที่เปลี่ยนแปลงไปว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งส่งเสริมความยั่งยืนและการพัฒนาตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง ยึดหลักความยั่งยืน มุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มทางเลือกในการระดมทุน เพิ่มความหลากหลายในการลงทุน

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจและความผันผวนต่างๆ ในตลาดทุน ยังเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงในการลงทุน ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ ภาวะเศรษฐกิจโลก (Recovery & Recession) อัตราเงินเฟ้อและนโยบายการเงิน (Rates) การเมืองและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) และความยั่งยืน (Sustainability)

พร้อมกันนี้ ดร.ภากร ได้ทิ้งท้ายว่า เป้าหมายของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ การทำให้เด็กรุ่นใหม่เข้ามาใช้ตลาดทุนแทนการนำเงินไปลงทุนในตลาดคริปโทเคอร์เรนซี่ หรือซื้อลอตเตอรี่ ซึ่งมองว่าแพลตฟอร์ม LiVE เป็นช่องทางที่สามารถทำให้คนรุ่นใหม่เข้ามาลงทุนในตลาดทุนมากขึ้น โดยสามารถลงทุนด้วยเงินก้อนเล็กได้ และสามารถลงทุนเวลาไหนก็ได้

“ปัจจุบัน นักลงทุนไทย สามารถลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้โดยตรงด้วยเงินขั้นต่ำเพียง 80 บาท และในปี 2566 นี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะออกสินค้าทางฝั่งหุ้นไทย ที่นักลงทุนสามารถซื้อหุ้นไทยได้ด้วยเงินก้อนเล็กๆ”


ติดตามอ่านคอลัมน์ Exclusive Interview ได้ในวารสารการเงินธนาคารฉบับเดือนตุลาคม 2566 ฉบับที่ 498 ในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi

รวมช่องทางการสั่งซื้อวารสารการเงินธนาคาร ทั้งฉบับปัจจุบันและฉบับย้อนหลัง ครบจบที่นี้ที่เดียว : https://moneyandbanking.co.th/2023/18250/