MI แนะแบรนด์ไทย เจาะ แรงงานพม่า 6.8 ล้านคน สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 1.2 ล้านล้านบาท/ปี

300

MI เผยอินไซด์ แรงงานพม่า น่านน้ำรายได้ให้แบรนด์ไทย สร้างมูลค่าเศรษฐกิจสูง 1.2 ล้านล้านบาท/ปี ชี้แต่ละช่วงชีวิตซื้อของต่างกัน แนะธุรกิจจับกลุ่มโฆษณาตรงจุด

นายภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI GROUP กล่าวว่า ปัจจุบันแรงงานพม่าในประเทศไทย มีอยู่ 6.8 ล้านคน ใกล้เคียงกับผู้บริโภคไทยกลุ่มเจน Z สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจปีละ ได้สูงถึง 828,000 ล้านบาท – 1,242,000 ล้านบาทต่อปี

สะท้อนโอกาสของภาคธุรกิจที่จะสามารถนำข้อมูลมาใช้พัฒนาสินค้า-บริการที่สอดรับกับความต้องการและพฤติกรรมการจับจ่ายของกลุ่มแรงงานนี้

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมากลุ่มแรงงานพม่า ไม่ใช่กลุ่มที่แบรนด์จับโดยเฉพาะ โดยจากการวิจัยของเอ็มไอ พบว่า

แรงงานชาวเมียนมากว่า 88% เดินทางมาเพื่อทำงานเก็บเงินในไทยโดยเฉพาะ โดยมีรายได้เฉลี่ย 10,000-15,000 บาท/เดือน ส่วนมากวางระยะเวลาพำนักในไทย 3-5 ปี

เจาะลึก 100% ของรายได้แรงงานพม่า ใช้เงินสำหรับจับจ่ายการใช้ชีวิตในไทย 56% เช่น ค่าบ้าน ค่าโทรศัพท์ ค่ากิน เป็นต้น

ส่วนอีก 44% เป็นเงินออม ในจำนวนนี้ 28% จะส่งเงินกลับประเทศเมียนมา และอีก 16% เป็นเงินเก็บในประเทศไทย

“คนพม่าใช้เวลาทำงาน 10 ชม. ต่อวัน และทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ ทำให้มีเวลาเหลือน้อยเฉลี่ย 2-3 ชม. ต่อวัน เวลานั้นจึงใช้ในการเล่นอินเทอร์เน็ต และจับจ่ายซื้อของ”

นายวิชิต คุณคงคาพันธ์ Head of International Business Development, MI GROUP กล่าวเสริมว่า จากพฤติกรรมการใช้เงิน เมื่อเชื่อมโยงกับมิติการบริโภคสื่อของแรงงานชาวเมียนมาที่เน้นการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ เพื่อติดตามละคร ภาพยนตร์ และรายการต่างๆ (97%) ดูข่าวและอ่านข่าวสารบ้านเมือง (87%) ฟังวิทยุและฟังเพลง (48%)

ข้อมูลส่วนหนึ่งที่น่าสนใจพบว่า 74% ของกลุ่มตัวอย่างนี้ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ ในการซื้อของ โดย Lazada เป็นช่องทางอันดับหนึ่ง รองลงมาตามลำดับ คือ Facebook, Shopee และ TikTok

ขณะที่ “แรงงานชาวเมียนมาที่อยู่ในประเทศไทย สามารถแบ่งช่วงชีวิตออกได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ภายใต้กรอบการวิจัย ได้แก่

1. ช่วงตั้งหลัก ที่เพิ่งเริ่มต้นชีวิตในประเทศไทย สิ่งที่ต้องการมีอย่างแรกคือซิมการ์ด ต่อมาจึงเป็นที่อยู่ เครื่องแต่งกาย ของใช้ส่วนตัว และเครื่องสำอาง

ทั้งนี้ มีเดียที่จะจับกลุ่มแรงงานในช่วงนี้ได้ คือ เฟซบุ๊ก สำหรับการหาข้อมูลของชาวเมียนมา, Transit media เช่น ป้ายโฆษณาบนรถสองแถว เป็นต้น ตลอดจนนายหน้า

2. ช่วงตั้งตัว ที่ทำงานและใช้ชีวิตได้ระยะหนึ่งแล้ว สิ่งที่แรงงานต้องการ ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า สกินแคร์ และสินค้าอุปโภคและบริโภค

ช่องทางสื่อที่แบรนด์จำเป็นต้องเจาะเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มนี้คือ สื่อโซเชียลมีเดีย ซูเปอร์มาร์เก็ต และการเข้าไปทำกิจกรรมถึงหน้าโรงงาน เพื่อเชื่อมต่อทั้งออฟไลน์ และออนไลน์

3. ช่วงตั้งใจ ที่เน้นการติดต่อครอบครัวและเตรียมตัวกลับประเทศเมียนมา สิ่งที่ต้องการก่อนกลับประเทศ เช่น ของฝาก ยา อาหารเสริม รังนก เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และทอง เป็นต้น

ช่องทางสื่อที่ต้องเจาะมีทั้งเฟซบุ๊ก ลาซาด้า ช้อปปี้ ติ๊กตอก ตลอดจนช่องทางออฟไลน์ อาทิ ซูเปอร์มาร์เก็ต บิลบอร์ด สื่อตามรถสาธารณะทั้งแท็กซี่ รถไฟฟ้าต่าง ๆ

ทั้งนี้ ในแต่ละกลุ่มนี้จะมีความต้องการใช้สินค้าและบริการที่แตกต่างกันไป ให้ความสนใจกับประเภทคอนเทนต์ที่ไม่เหมือนกัน รวมถึงมีรายละเอียดของ Media Touchpoint ที่แบรนด์ต้องเลือกใช้อย่างเหมาะสม

จากรายงานครั้งนี้ MI BRIDGE หวังว่าข้อมูลในงานวิจัยจะสนับสนุนให้นักการตลาด นักกลยุทธ์ รวมถึงแบรนด์ต่างๆ สามารถพัฒนาสินค้าและบริการ รวมถึงสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุดด้วย Business Insights ที่ครอบคลุม

“ด้วยการวิเคราะห์สัดส่วนพฤติกรรมการเก็บออม การใช้จ่าย ตลอดจนพฤติกรรมการใช้เวลาว่างนอกเหนือจากการทำงาน จะทำให้แบรนด์สามารถเลือกใช้กลยุทธ์การสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ MI BRIDGE และ MI Learn Lab มุ่งหวังให้แบรนด์และองค์กรต่างๆ สามารถบรรลุผลได้ตามเป้าหมาย”