คนไทย ความพร้อมก่อนวัยเกษียณ ต่ำ เงินออมน้อย 10% อยู่รอดวัยชราต้องใช้เงิน 3-5 ล้านบาท

3519
ความพร้อมก่อนวัยเกษียณ

ดัชนี ความพร้อมก่อนวัยเกษียณ คนไทย แตะ 49.3% อาชีพเจ้าของกิจการ-ข้าราชการ-พนักงานรัฐวิสาหกิจ ค่าเฉลี่ยสูงกว่าอาชีพอื่น จุฬาฯ เผยวัยทำงานออมเงินน้อยกว่า 10% ของเงินเดือน ชี้สูงวัยอยู่รอดยันอายุ 80-85 ปี เงินเก็บต้อง 3-5 ล้านบาทขึ้นไป

ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า คาดว่า ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ โดยมีประชากรอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของประชากร จากปัจจุบันข้อมูลของกรมกิจการผู้สูงวัย ในปี 2565 ระบุ จำนวนผู้สูงอายุอยู่ที่ 12.6 ล้านคน คิดเป็น 19.21% ของคนไทยทั้งหมด

ความพร้อมก่อนวัยเกษียณ

ความพร้อมเกษียณอายุคนไทยแตะ 49.3% ข้าราชการ-เจ้าของกิจการ-พนักงานรัฐวิสาหกิจ พร้อมกว่าอาชีพอื่น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รัฐชัย ศีลาเจริญ หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ผลสำรวจจากประชาชนวัยทำงาน ปี พ.ศ. 2566 ทั่วทุกภาคของประเทศไทยกว่า 2,400 คน ชี้ให้เห็นว่า ตัวเลขดัชนีความพร้อมในการเกษียณอายุ (NRRI) ของคนไทยอยู่ที่ระดับ 49.3%

สะท้อนว่าคนไทยมี ความพร้อมก่อนวัยเกษียณ ในระดับปานกลาง และสูงขึ้นเล็กน้อยจากผลสำรวจในปี พ.ศ. 2564 ที่อยู่ระดับ 48.4%

ทั้งนี้ ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณ จำแนกตามกลุ่ม พบว่า

1.ปัจจัยเรื่องเพศ “ไม่มีผล“ ต่อความแตกต่างของค่าเฉลี่ย ทั้งด้านความพร้อมด้านการเงิน และความมั่นคงในชีวิต

2.ปัจจัยเรื่องอายุ มีผลต่อความแตกต่างของค่าเฉลี่ย “เล็กน้อยมาก” โดยกลุ่มอายุ 50-59 ปี มีความพร้อมด้านการเงินและความมั่นคงในชีวิตมากกว่ากลุ่มอายุ 18-29 ปี และภาพรวมกลุ่มอายุ 50-59 ปี ในผลสำรวจปี 2566 ดีขึ้นในทุกมิติเมื่อเทียบกับปี 2564

3.ปัจจัยภูมิภาค “ไม่ใช่คีย์หลักที่สร้างความแตกต่างในความพร้อม” แต่จากผลสำรวจ พบว่า ภาคกลางและภาคใต้ ในปี 2566 มีความพร้อมด้านการเงิน (F-RRI) สูงขึ้น ขณะที่ภาครวมกรุงเทพดีขึ้น

4.ปัจจัยอาชีพ “มีผลมากสุด” ต่อความพร้อมในวัยเกษียณ โดยพบว่า เจ้าของกิจการ ข้าราชการ และ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พร้อมในแทบทุกด้านดีกว่า ลูกจ้าง อาชีพอิสระ และอื่น ๆ

      • ตัวอย่างกลุ่มข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 17.3 มีการออมเงินมากกว่า 15% ของรายได้ และมีค่ามัธยฐานรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 20,000 บาท/เดือน
      • ตัวอย่างกลุ่มเจ้าของกิจการ ร้อยละ 24 ออมเงิน 10-15% ของรายได้ และมีค่ามัธยฐานรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 10,000 บาท/เดือน
      • ตัวอย่างกลุ่มพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 29.9% ออมเงินไม่เกิน 5% ของรายได้ และมีค่ามัธยฐานรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 5,000-9,000 บาท/เดือน
      • ตัวอย่างกลุ่มอาชีพอิสระ รับจ้างทั่วไป และลูกจ้าง ร้อยละ 28.7 ไม่มีเงินออมเลย และมีค่ามัธยฐานรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 5,000-9,000 บาท/เดือน

คนไทยออมเงินต่ำ ไม่ถึง 10% ของเงินเดือน อยู่รอดยันตายใช้เงิน 3-5 ล้านบาท

ผศ. ดร. รัฐชัย กล่าวต่อไปว่า ความพร้อม “ด้านการเงิน” ของคนไทยยังอยู่ในระดับต่ำที่น่ากังวล โดยพบว่า วัยทำงานออมเงินค่อนข้างน้อย ไม่ถึง 10% ของเงินเดือน

“นโยบายความพร้อมทางด้านการเงินแห่งชาติ เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจาก ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ประชากรสูงวัยจะมีโอกาสประสบปัญหาด้านรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น อาทิ ค่ารักษาพยาบาล ในขณะที่รายได้คงที่หรือลดลง ทำให้เกิดความยากลำบากด้านการเงิน”

ขณะที่เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายสำหรับผู้สูงอายุที่จะใช้ได้เพียงพอจนถึงอายุ 80-85 ปี ต้องมีเงินเก็บไม่น้อยกว่า 3-5 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 10,000-15,000 บาท/เดือน ซึ่งคำนวณโดยใช้ค่าเงินปัจจุบันและการคิดเผื่อเงินเฟ้อในอนาคต

โดยปัจจัยสำคัญที่ควรได้รับการสนับสนุนอย่างเร่งด่วน ได้แก่ การพัฒนาทักษะทางการเงินและการลงทุนของประชาชน และการสนับสนุนด้านการออมอย่างทั่วถึงจากภาครัฐและภาคเอกชน

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม :