ขยับเกณฑ์จ่ายขั้นต่ำ บัตรเครดิต เป็น 8% หากจ่ายไม่ไหวต้องทำอย่างไร?

2906

เริ่มแล้ว มกราคม 2567 ที่ผู้ถือบัตรเครดิตจะต้องปรับเพิ่มอัตราจ่ายขั้นต่ำสำหรับ “บัตรเครดิต”เป็น 8% ตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผู้ที่มีบัตรหลายๆใบ หากจ่ายไม่ไหวจะทำอย่างไรได้บ้าง….

ในรายการ “แบงก์ชาติชวนคุย” โดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้กล่าวถึงประเด็น “ทำไมต้องปรับขึ้นจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำการชำระหนี้บัตรเครดิต” ซึ่งระบุว่าการจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตที่ 5 % ไปเรื่อยๆ กว่าจะหมดหนี้ ลูกหนี้ต้องใช้เวลากว่า10 ปี และต้องรับภาระดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายทั้งสัญญาค่อนข้างสูง

“หากจ่ายไหว การจ่ายเพิ่มจาก 5% เป็น 8 % จะทำให้จบหนี้ได้เร็วขึ้นอย่างชัดเจน หากไหวมากกว่านั้นสามารถจ่าย 10 % ได้ก็จ่ายได้เลยไม่ต้องรอเกณฑ์ขั้นต่ำ หรือหากจะโปะก็ควรโปะเลย”

อย่างไรก็ดีได้ระบุด้วยว่า หากจ่ายไม่ไหวทางธปท.ได้คุยกับเจ้าหนี้บัตรเครดิตทุกรายแล้วว่าต้องมีการเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ ในกรณีที่เมื่อปรับเกณฑ์จ่ายขึ้นต่ำขึ้นเป็น 8 % แล้วจ่ายไม่ไหว โดยต้องช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้าเปลี่ยนจากวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนจากบัตรเครดิตแบบเดิมเป็นสินเชื่อแบบผ่อนจ่าย โดยให้อยู่ในปริมาณที่สามารถจ่ายต่อเดือนได้ไหวเพื่อให้สามารถปิดจบหนี้ได้

“แนวทางช่วยเหลือ เช่น การโอนเปลี่ยนประเภทหนี้จากบัตรเครดิตเป็นสินเชื่อแบบตามกำหนดเวลา (Term Loan) โดยใช้ดอกเบี้ย 16 % ของบัตรเครดิต แต่จะต้องปิดบัตรเครดิตใบเดิมด้วย”

อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ข้อมูลจากธปท.ระบุว่า ผู้ถือบัตรเครดิตสัดส่วน 70 – 80 % จ่ายเต็มจำนวนอยู่แล้ว ส่วนกลุ่มที่จ่ายขั้นต่ำจะต้องเสียดอกเบี้ย ทั้งนี้การจ่ายขั้นต่ำไปเรื่อยๆ จะมีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น เช่น วงเงินกู้ 80,000 บาท ดอกเบี้ย 16% การจ่ายขั้นต่ำ 5% จะใช้เวลาปิดหนี้ถึง 10 ปี 3 เดือน และคิดเป็นการจ่ายดอกเบี้ยรวม 28,000 บาท

ถ้าจ่ายขั้นต่ำ 8% การจะปิดหนี้ได้ต้องใช้เวลา 6 ปี 3 เดือน และจ่ายดอกเบี้ย 16,000 บาท แต่หากจ่ายขั้นต่ำ 10% จะใช้เวลาปิดหนี้เพียง 5 ปี จ่ายดอกเบี้ยรวม 12,000 บาท เห็นว่าแม้ลูกหนี้ต้องผ่อนชำระค่างวดมากขึ้น แต่สามารถนำค่างวดไปตัดชำระเงินต้นได้มากขึ้น จึงทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและสามารถปิดจบหนี้ได้เร็ว

ที่มา :  https://www.youtube.com/watch?v=0ZRQ_8RF7z8&ab_channel=BankofThailand

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง