เริ่ม 1 พ.ค. 2567 รูดบัตร ร้านค้าต่างประเทศเป็นเงินบาท ถูกเก็บ DCC Fee 1%

14359
DCC Fee

สถาบันการเงินที่ให้บริการบัตร Visa – Mastercard แจ้งเก็บค่าธรรมเนียมแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท หรือ DCC Fee ในอัตรา 1 % สำหรับการใช้บัตรเป็นสกุลเงินบาทในร้านค้าต่างประเทศ และร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ เช่น APPLE NETFLIX AGODA โดย มีผล 1 พฤษภาคม 2567

หากใครเดินทางไปต่างประเทศและใช้บัตรเครดิตในการซื้อของที่ร้านค้าในต่างแดน จะพบว่า เมื่อรูดซื้อจะมีการแสดงยอดเงินเป็น 2 สกุลให้เลือก คือ สกุลเงินท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ เช่น ดอลลาร์สหรัฐ , ยูโร , เยน และ “เงินบาท” ที่แปลงอัตราแลกเปลี่ยนมาให้แล้ว เพื่อสร้างความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บัตรไม่ต้องแปลงสกุลเงินเอง

แต่ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 สถาบันการเงินผู้ให้บริการบัตร Visa หรือ Mastercard ต่างๆ เริ่มแจ้งเตือนลูกค้าล่วงหน้าว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป รายการใช้จ่ายผ่านบัตร Visa หรือ Mastercard ในการซื้อสินค้า และ/หรือบริการ ด้วยสกุลเงินบาท ที่ร้านค้าและร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ

และการกดเงินสดด้วยสกุลเงินบาทผ่านตู้ ATM ในต่างประเทศ จะถูกเรียกเก็บ “ค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท” หรือ Dynamic Currency Conversion Fee ในอัตรา 1 % ของยอดใช้จ่าย/ยอดกดเงินสด โดยคิดจากยอด ณ วันที่บันทึกรายการใช้จ่าย

ทั้งนี้ การเรียกเก็บDCC Fee ในอัตรา 1 % ของยอดใช้จ่าย จะมีผลกับร้านค้าต่างประเทศหรือร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ ดังนั้นไม่ใช่แค่ไปรูดบัตรในต่างประเทศและเลือกสกุลเงินไทยเท่านั้น แต่การรูดกับ ร้านค้า Online ที่จดทะเบียนต่างประเทศ เช่น

AIRASIA BERHAD, NETFLIX, APPLE, TikTok, AGODA, Booking, Klook, IHERB, ALIPAY, TAOBAO, PAYPAL, FACEBOOK, GOOGLE, AIRBNB, EXPEDIA, EBAY, SPOTIFY, ALIBABA, TRIP.COM, STEAMGAMES, VIU, AMAZON เป็นต้น หากเลือกเป็นสกุลเงินไทยก็ถูกเก็บเช่นกัน

ตัวอย่าง เช่น หากจองโรงแรมที่เป็นโรงแรมในต่างประเทศกับ booking.com โดยเลือกชำระเป็นสกุลเงินไทยจำนวน 3,000 บาท จะมีค่าบริการDCC fee 1% ของยอด 3,000 บาท คือ 30 บาท หรือ ค่าบริการเติมเงินซื้อเกมร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศผ่าน app store จำนวน 100 บาท จะมีค่าบริการ DCC fee 1% ของยอด 100 บาท คือ 1 บาท

อย่างไรก็ดี DCC fee ที่จะเก็บนั้นพบว่า เฉพาะบัตร Visa หรือ Mastercard ส่วนบัตร JCB ยังไม่มีการเรียกเก็บ

อ้างอิง : ttbbank.com, krungsricard.com, kasikornbank.com

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม :