7 อุตสาหกรรมที่น่าจับตา ใน “อินโดนีเซีย”

1555
อินโดนีเซีย

อินโดนีเซีย มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของโลก ประมาณกว่า 275 ล้านคน ในจำนวนนี้มีวัยทำงานราว 60% และมีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 10 ของโลกในแง่ความเสมอภาคของอำนาจซื้อ

การเลือกตั้งทั่วไปของอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการปรากฏว่า นายปราโบโว ซูเบียนโต วัย 72 ปี ซึ่งเป็นอดีตนายพลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอินโดนีเซียได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดเกินกว่า 50% ขึ้นแท่นประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านผู้นำประเทศครั้งแรกในรอบ 10 ปี

ในระหว่างนี้คาดว่านักลงทุนจะรอดูท่าทีจนกว่าจะมีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งหาก นายปราโบโว ซูเบียนโต ยังรั้งตำแหน่งผู้นำคนใหม่ได้อย่างเหนียวแน่น การบริหารประเทศก็จะเป็นไปตามแนวทางที่มุ่งตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ประมาณ 8% และยกระดับการพึ่งตัวเองด้านพลังงานผ่านการใช้ไบโอดีเซลจากปาล์มน้ำมัน ขณะที่บรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของอินโดนีเซียอาจจะเติบโตแตะ 4.5-5% ในปี 2567 เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลงและอุปสงค์ทั่วโลกอ่อนแอลง

นอกจากนี้ พรรคของ นายปราโบโว ซูเบียนโต ยังให้คำมั่นว่าจะเดินหน้าการปฏิรูปและนโยบายต่างๆ ของ นายโจโค วิโดโด หรือ “โจโควี” ต่อไป รวมถึงการพัฒนาปลายน้ำของกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ การทำให้โครงสร้างพื้นฐานทันสมัย การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจมหภาคอย่างรอบคอบ อีกทั้งแผนการย้ายเมืองหลวงมูลค่า 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็จะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

7 อุตสาหกรรมเด่นที่น่าจับตา

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทุกวันนี้อินโดนีเซียมีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของโลก ประมาณกว่า 275 ล้านคน ในจำนวนนี้มีวัยทำงานราว 60% และมีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 10 ของโลกในแง่ความเสมอภาคของอำนาจซื้อ

นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังมีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีต้นทุนการดำเนินงานต่ำอื่นๆ ขณะที่ด้านแรงงานในแง่ค่าจ้างก็ยังถูกอยู่ รวมทั้งเป็นประตูสู่ตลาดอาเซียนและเป็นตัวเสริมสำหรับธุรกิจที่ดำเนินงานในจีนแต่ต้องเผชิญความท้าทาย เช่น ค่าแรงสูงขึ้นหรือการค้าหยุดชะงัก เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมเด่นที่น่าจับตาในปี 2567 มีด้วยกัน 7 กลุ่ม ได้แก่

1.เหมืองแร่ปลายน้ำ ในช่วงที่เกิดความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้การส่งออกของของอินโดนีเซียเติบโตมาก เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น ดังนั้นการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ จะยังคงเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจอินโดนีเซียต่อไป ทั้งนี้ ในปี 2557 อินโดนีเซียได้เริ่มห้ามส่งออกแร่ดิบเพื่อกระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ปลายน้ำและพัฒนาโรงถลุงแร่ในท้องถิ่นนอกจากส่งเสริมการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์แปรรูปมูลค่าสูง

2.นิกเกิล อินโดนีเซียประกาศห้ามส่งออกแร่นิกเกิลในปี 2562 และออกข้อกำหนดให้แปรรูปหรือทำนิกเกิลให้บริสุทธิ์ภายในอินโดนีเซียก่อนที่จะส่งออก ซึ่งนโยบายนี้ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจอย่างมาก เช่น การลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นและการส่งออกสินค้าที่ผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ต่างๆ เพิ่มขึ้น 10 เท่าในตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีปริมาณแร่นิกเกิลสำรองมากที่สุดในโลกประมาณ 21 ล้านตัน คิดเป็น 22% ของปริมาณสำรองทั่วโลกและการสั่งห้ามดังกล่าวทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายห่วงโซ่อุปทานของผู้ผลิตรถไฟฟ้าและผู้ผลิตเหล็กกล้าไร้สนิมครั้งใหญ่ ทั้งนี้ การส่งออกนิกเกิลแปรรูปของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นจาก 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2558 สู่ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2565

3.ห่วงโซ่อุปทานแบตเตอรี่รถไฟฟ้า การมีแร่นิกเกิลสำรองมหาศาลทำให้อินโดนีเซียมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรม EV โลก ซึ่งอินโดนีเซียเองก็ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลาง EV โลกด้วย และมุ่งที่จะเป็น 1 ใน 3 ผู้ผลิตแบตเตอรี่ EV ชั้นนำของโลกภายในปี 2570

นอกจากนี้ ในปี 2567 BYD ผู้ผลิต EV ของจีนวางแผนสร้างโรงงานในอินโดนีเซีย และคาดว่าการลงทุนของ BYD จะแตะ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยกำลังการผลิต 150,000 คันต่อปี ขณะที่ รัฐบาลอินโดนีเซียวางแผนที่จะนำเข้าแร่ลิเธียมจากออสเตรเลียประมาณ 60,000 ตัน ในปี 2567 เพื่อทำให้อุตสาหกรรมแบตเตอรี่รถไฟฟ้าสมบูรณ์

4.ถ่านหิน อินโดนีเซียเป็นผู้ส่งออกถ่านหินที่ขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก เป็นรองเพียงแค่จีนและอินเดีย และเป็นผู้ส่งออกถ่านหินชนิดเชื้อเพลิงให้ความร้อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยอินโดนีเซียผลิตถ่านหิน 687 ล้านตัน ในปี 2565 ซึ่งถูกส่งออกไป 494 ล้านตัน และส่วนที่เหลือมีไว้เพื่อใช้ภายในประเทศ ทั้งนี้ การส่งออกถ่านหินสร้างรายได้ให้อินโดนีเซียประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ซึ่งส่งออกไปยังจีน อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนราว 70% และตลาดส่งออกที่กำลังเติบโตสำหรับถ่านหินอินโดนีเซีย คือ เวียดนามและฟิลิปปินส์

5.โครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนับเป็นหลักสำคัญของรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีโจโควี ในตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ในระหว่างปี 2562 และปี 2567 อินโดนีเซียต้องการเงินทุนประมาณ 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน

ดังนั้น อินโดนีเซียจึงกำลังผลักดันให้เอกชนเข้ามามีส่วนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผ่านข้อริเริ่มการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership หรือ PPP) อีกทั้งยังมีโอกาสต่างๆ สำหรับโครงการพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็กและใหญ่ทางภาคตะวันออกของอินโดนีเซียด้วย

6.สุขภาพและยา ด้วยความเป็นตลาดที่ใหญ่ อุตสาหกรรมด้านสุขภาพคาดว่าจะให้ผลกำไรที่ดีสำหรับนักลงทุนต่างชาติ โดยการใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อปีเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากหลังนำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (BPJS) มาใช้ในปี 2557

ขณะที่ มีการนำเข้าเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีความซับซ้อนเป็นหลัก เช่น อุปกรณ์ ICU และเครื่องเพทซีทีสแกน และส่งออกอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นต่ำ เช่น ถุงมือ และกระบอกฉีดยา ส่วนอุตสาหกรรมยานั้นส่วนใหญ่จะเป็นยาสามัญประมาณ 70% ส่วนที่เหลือเป็นยาแบบจำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์ ซึ่งโครงการ BPJS กระตุ้นยอดขายยาสามัญในประเทศมากกว่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

7.การท่องเที่ยว กระทรวงท่องเที่ยวของอินโดนีเซียเปิดโอกาสให้สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อพัฒนาโครงการการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน, ปั้น 5 แหล่งท่องเที่ยวใหม่ และ 8 เขตเศรษฐกิจพิเศษที่จัดเตรียมไว้เพื่อการท่องเที่ยวซึ่งโอกาสต่างๆ เหล่านี้มีมูลค่าราว 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะสร้างงานได้ถึง 1.5 ล้านตำแหน่ง ทั้งนี้ อินโดนีเซียตั้งเป้าจะต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประมาณ 14 ล้านคน ในปี 2567 นี้ ขณะที่ ปีก่อนหน้าในช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน อินโดนีเซียต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 10.4 ล้านคน

อย่างไรก็ดี แม้ว่าอินโดนีเซียจะเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางการค้าและการลงทุน มีโอกาสที่จะส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตมากมาย แต่ก็ยังมีปัจจัยความท้าทายหลายประการที่นักลงทุนควรจะต้องพึงใช้ความระมัดระวัง เช่น การประท้วงบ่อยครั้งภายในประเทศที่อาจจะทำให้ธุรกิจหยุดชะงักชั่วคราว โครงสร้างพื้นฐานที่ยังต้องพัฒนาเพิ่มมากขึ้น ค่าเงินที่ค่อนข้างผันผวน และภัยธรรมชาติอย่าง แผ่นดินไหวและน้ำท่วม เป็นต้น

นอกจากนี้ อีกความท้าทายคือ มีความกังวลว่าประธานาธิบดีคนใหม่จะสานต่อการปฏิรูปต่างๆ ในปัจจุบันหรือไม่ ซึ่งหากประธานาธิบดีคนใหม่สามารถสืบทอดเจตนารมณ์ของนายโจโควีในการปฏิรูปด้านต่างๆ ที่ส่งเสริมเศรษฐกิจในระยะยาวได้ ก็มีแนวโน้มที่จะผลักดันให้อินโดนีเซียกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของโลกภายในปี 2593 หรือประมาณ 26 ปี


ติดตามอ่านคอลัมน์อื่น ๆ ได้ในวารสารการเงินธนาคารฉบับเดือนมีนาคม 2567 ฉบับที่ 503 ในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi

รวมช่องทางการสั่งซื้อวารสารการเงินธนาคาร ทั้งฉบับปัจจุบันและฉบับย้อนหลัง ครบจบที่นี้ที่เดียว : https://moneyandbanking.co.th/2023/18250/