เจาะกลยุทธ์แนวลึก Retail Custumer 2024 “ทีทีบี”

476
ทีทีบี

เปิดแผนกลยุทธ์ลูกค้าบุคคลปี 2024 “ทีเอ็มบีธนชาต” หรือ ทีทีบี ขาลง “สงครามเงินฝาก” เน้นขยายบัญชีเงินฝากสกุลต่างประเทศ ลงทุน Wellness รักษาเงินต้น-ปิดความเสี่ยง มั่นใจ NPL ยังจัดการได้ไม่ตึงมือ

นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยว่า ช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2023 มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดในเรื่องของเงินฝากเห็นได้จากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือแคมเปญต่างๆ ในส่วนของ “ทีทีบี” มีฐานเงินฝากราวๆ9.9 แสนล้านบาท โดยเฉพาะบัญชี All free ที่มีการเติบโตสูงสุดถึง 4%

และแม้ว่าบริการสินเชื่อจะ “ไม่มี” การเติบโตทั้งสินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถยนต์ แต่ในแง่ของ “บัตรเครดิต” หรือ “สินเชื่อส่วนบุคคล” มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเติบโตได้ดีถึง21% และมียอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิต 37,000 ล้านบาทโต 18%

ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลมีการปล่อยสินเชื่อใหม่ 30,000 กว่าล้านบาทเติบโตกว่า 50% ทำให้ตอนนี้สินเชื่อคงค้างของสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ประมาณ 40,000 ล้านบาท

ในส่วนของพอร์ตการลงทุน “ทีทีบี” นำเสนอตราสารการลงทุนรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะ เทอมฟันด์ในตราสารพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น 6-12 เดือนทำให้ลูกค้ามีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น เนื่องจากตลาดหุ้นทั้งในไทยและต่างประเทศค่อนข้างสวิง เช่นเดียวกับพอร์ตประกันซึ่งประกันภัยยังเติบโตประมาณ 5%

ส่วนประกันชีวิตค่อนข้างที่จะซบเซาเพราะตลาดภาพรวมของแบงค์อินชัวรันเติบโตประมาณ 1% เท่านั้น นอกจากนี้ ttb touch ซึ่งปัจจุบันมีฐานลูกค้าเกือบ 5 ล้านราย โดยเป็นลูกค้า Active money กว่า80% นับว่ามีการปรับตัวได้ดีขึ้น โดยมีฐานลูกค้าใหม่ประมาณ 800,000บัญชี

ซูมอิน ปี 2024 เน้นหนัก “ควบคุมต้นทุนทางการเงิน”

ผู้บริหารกล่าวต่อไปว่าสถานการณ์ภาพรวมปีนี้อาจจะ Slow Down ในเรื่องของ “สงครามเงินฝาก” ซึ่งที่ผ่านมา “ทีทีบี” ไม่ได้บู๊มากในเรื่องของการระดมเงินฝากหรือสู้ในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยเนื่องจากพยายามควบคุม “ต้นทุนทางการเงิน” เพราะ ทีทีบี มีทั้งสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ขนาดใหญ่ หากต้นทุนทางการเงินขึ้นสูงเร็วเกินไป จะทำให้สูญเสียการแข่งขันเรื่อง Portfolio ทางด้านสินเชื่อจึงเน้นเงินฝากระยะสั้น ttb Quick 12 เดือน หรือตราสารทางด้านอื่นๆที่เป็นระยะสั้นมากขึ้น

และในปี 2024 นี้ก็ยังเป็นอีกหนึ่งปีที่ “ทีทีบี” ยังจำเป็นต้องพยายามควบคุมต้นทุนทางการเงิน แต่ หากมีการปรับเปลี่ยน “ดอกเบี้ยนโยบาย” ก็อาจจะกลับมาพิจราณาตราสารหรือวิธีการระดมเงินฝากรูปแบบอื่น เช่นเดียวกันเมื่อดอกเบี้ยมีความสวิงก็จะส่งผลต่อธุรกิจประกันทำให้ภาพรวมปีนี้น่าจะเติบโตเพียงเล็กน้อย

“ปีนี้เรามองว่า GDP น่าจะเติบโต 2-3% และหวังว่าถ้ามีงบประมาณภาครัฐออกมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นในครึ่งปีหลังน่าจะเห็นสัญญาณบวกมากขึ้นและเราก็ยังหวังว่าจะเห็นการฟื้นตัวของตลาดหุ้นในเรื่องของโมเมนตัมในการลงทุน เพราะหากดอกเบี้ยไม่มีการปรับขึ้นหรือเป็นขาลงก็อาจจะสนับสนุนเรื่องของการลงทุนตลาดหุ้นมากขึ้น”

Key Highlight “4 พิลลาร์” ลูกค้า Retail

“ฐากร” เปิดเผยเพิ่มเติมถึงกลยุทธิ์การเติบโตธุรกิจฝั่งลูกค้ารีเทลว่า ปีนี้ “ทีทีบี” จะเน้นการเติบโตของแต่ละผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืนหรือผลิตภัณฑ์ที่นำออกมาเสนอต้องตอบโจทย์ในเรื่องของ Sustainability ซึ่งในส่วนของลูกค้า retail จะยึดแกนหลัก 4 แกนคือการเล่นกับ Eco System Play ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Home Eco System, Car Eco System อีกกลุ่มคือกลุ่มมนุษย์เงินเดือนและท้ายสุดเป็นกลุ่มเรื่องของ Wealth

โดยผลิตภัณฑ์ทางด้านเงินฝาก ยังคงเน้น 4 ผลิตภัณฑ์หลักคือ “บัญชี ttb all free” เน้นความปลอดภัย ยืดหยุ่น ถอนได้ ฟรีประกันอุบัติเหตุ “บัญชีttb ME save” เน้นความยืดหยุ่นและอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า “บัญชี ttb Quick” ดอกเบี้ยทันใจฝาก 7 วันก็ได้ดอกเบี้ยไป

และน้องใหม่ที่กำลังมาแรงก็คือ “บัญชีเงินฝากสกุลต่างประเทศ” ให้ดอกเบี้ยสูง 5.25% เจาะกลุ่มคนที่กำลังจะเดินทางไปต่างประเทศหรือต้องการสะสมเงินเพื่อใช้ในต่างประเทศ

ในส่วนของการลงทุนแม้ว่า “ตลาดหุ้น” จะยังมีความผันผวน อัตราดอกเบี้ยยังไม่แน่ชัดว่าจะไปในทิศทางไหน และยังมีความกังวลในหลายๆส่วน ดังนั้นปีนี้ “ทีทีบี” จะเน้นตราสารลงทุนใน wellness เพื่อมุ่งรักษาเงินต้น-ปิดความเสี่ยงเพื่อป้องกันความเสี่ยงของลูกค้า

ซึ่งในปีนี้จะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเกิดขึ้นเยอะมากไม่ว่าจะเป็น Multi access Index Linked Note ซึ่งเน้นการลงทุนต่างประเทศ และการันตีฟันด์ซึ่งให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูง และทุกๆ 6 เดือนจะมีเทอมฟันด์ออกมาเป็นซีรีย์อย่างต่อเนื่อง

“ปีนี้ไฮไลท์คือเงินฝากเราเน้น 4 ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาในปีที่แล้ว และเน้นมากขึ้นในปีนี้ในเรื่องการลงทุนเพราะมั่นใจว่าดอกเบี้ยในลักษณะที่นิ่งและเป็นขาลง ตลาดการลงทุนน่าจะกลับมาเพราะฉะนั้นเราจะมีตราสารใหม่เกิดขึ้นมากมาย รวมทั้งออกผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนที่มีความหลากหลาย ไม่ได้โฟกัสเฉพาะในประเทศแต่โฟกัสในต่างประเทศด้วยโดยเฉพาะเรื่องของ wellness เพื่อลดความเสี่ยง”

ทั้งนี้ “ttb” คาดการณ์การเติบโตของปี 2024 ทางด้านเงินฝากโดยเพิ่มการเติบโตของบัญชี ttb all free 14% และเติบโตในส่วนของ ttb ME save มากขึ้น ขณะที่สินเชื่อบ้านจะเติบโตประมาณ 1-2 %

โดยจะเน้นสินเชื่อบ้านแลกเงินเติบโต 10% สินเชื่อรถยนต์เติบโตเท่ากับอุตสาหกรรมประมาณ 1 แต่เน้นหนักในเรื่องของสินเชื่อรถแลกเงินตั้งเป้าบุ๊กกิ้งใหม่ ประมาณ 85,000 คัน และในส่วนของบัตรเครดิตเชื่อว่าค่าใช้จ่ายผ่านบัตรยังสามารถเติบโตได้ค่อนข้างสูงประมาณ 20% และสินเชื่อน่าจะเติบโตที่ประมาณ 10-15%

นอกจากนี้ในฐานประกันภัยน่าจะเติบโตค่อนข้างเยอะโดยเฉพาะในฝั่งของรถยนต์ และสุดท้ายตั้งเป้าให้ลูกค้ามูฟขึ้นมาอยู่บนDigital format โดยหมายมั่นปั้นมือว่าลูกค้าจะมีการใช้ Active Money User ของ ttb touch ถึง 80% และมีลูกค้าใหม่ที่จะมาใช้ ttb touch ประมาณ 1 ล้านคนในปีนี้

NPL ไม่น่าห่วง – Personal Loan ยังเอาอยู่

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ NPL ซึ่งผู้บริหารเปิดเผยว่า ในส่วนของ “บ้าน” ttb มี NPL ประมาณ 2.9% น่าจะทรงตัวเนื่องจากมีการปรับโครงสร้างไปพร้อมๆกันและในปีนี้จะเน้นบุกตลาดสินเชื่อบ้านในกลุ่มมั่งคั่งหรือกลุ่มบนมากขึ้นซึ่งจะให้พอร์ตใหม่ที่เข้ามามีความเสี่ยงต่ำ

ส่วนของรถยนต์เอง NPL ของ ttb ค่อนข้างต่ำประมาณ 1% เนื่องจาก ttb เป็นพอร์ตใหญ่ของรถยนต์ใหม่ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำในตัวเอง แต่สิ่งที่จะทำมากขึ้นในปีนี้คือการช่วยในเรื่องปรับโครงสร้างใหม่ จากปัจจุบันประมาณ 6,000 กว่าราย เป็น 7,000 รายขึ้นไป

“นี่เป็นอีกจุดที่เราพยายามประคอง เพราะฉะนั้น NPL ในส่วนของบ้านและรถยนต์เราคิดว่า “ทรงตัวได้ เอาอยู่” ส่วนบัตรเครดิตไม่ค่อยมีประเด็นมากสำหรับพอร์ตของทีทีบี เพราะเป็นฐานลูกค้าของธนาคารที่เน้นการ Cross-selling ฐานลูกค้าเดิมของธนาคาร เพราะฉะนั้นบัตรเครดิตของเราค่อนข้างต่ำมากในเรื่องของ NPL ส่วนเรื่องของ Personal Loan ความเสี่ยงของเราก็ยังจัดการได้ดี”

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม :