CEO Talk : คมสันต์ ลี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด

คมสันต์ ลี
ประธานกรรมการบริหาร
บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด
ตั้งเป้าขึ้นเบอร์ 1 ปี 2021
ก้าวสู่ยูนิคอร์นสัญชาติไทย
ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
หรือ ETDA ระบุว่า
อุตสาหกรรมe-Commerce ประเทศไทยในปี
2019 มีมูลค่า 4.02 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้น 6.91% จากปี 2018 และในปี
2020 จะเป็นปีที่มูลค่าในอุตสาหกรรม e-Commerce จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยตัวเร่งสำคัญคือวิถีชีวิตแบบ New Normal ที่คนไทยหันมาใช้ช่องทางออนไลน์ในการซื้อ-ขายสินค้ามากขึ้นสภาพการณ์นี้ทำให้ธุรกิจขนส่งพัสดุ
ได้รับผลเชิงบวกอย่างมาก เพราะถือเป็นกลไกสำคัญในระบบ e-Commerce เกิดผู้เล่นหน้าใหม่ขึ้นมาในตลาดมากมายที่พร้อมแข่งขันโดยใช้จุดแข็งต่างๆเข้าสู้
การเงินธนาคาร
ได้สัมภาษณ์พิเศษ คมสันต์ ลี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด 1
ในผู้เล่นที่ได้รับการจับตามอง จากแนวคิดที่พร้อม Disrupt อุตสาหกรรมหลังเข้ามาในตลาดเมื่อปี
2018และเติบโตก้าวกระโดดมากกว่า 1,000% ในปี 2021 นี้ แฟลช กรุ๊ป
มีเป้าหมายชัดเจนที่จะขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในอุตสาหกรรม
ด้วยวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้ให้บริการสำหรับธุรกิจ e-Commerce ครบวงจร
พร้อมก้าวสู่การเป็นสตาร์ตอัพยูนิคอร์นรายแรกของประเทศไทย
2018 กำเนิด Flash Express
ใช้ 3 กลยุทธ์ สู่ผู้ให้บริการครบวงจร
คมสันต์เล่าย้อนว่า
จุดเริ่มต้นของ แฟลช เอ็กซ์เพรส ในประเทศไทยนั้น เกิดขึ้นในช่วงปี 2017
ซึ่งเป็นยุคทองของบริษัทสตาร์ตอัพที่สามารถระดมทุนจนเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
ด้านบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติทั้ง Alibaba
และ Tencent ต่างเข้ามาลงทุนในธุรกิจ e-Commerce ไทย
ทำให้เกิดความมั่นใจว่าธุรกิจ e-Commerce
จะเติบโตอย่างรวดเร็ว
จากเดิมที่แนวโน้มก็เริ่มมีทิศทางบวกบ้างแล้ว แต่ยังขาดผู้เล่นรายใหญ่มาสนับสนุน
ซึ่งการมาของ Alibaba และ
Tencent ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ เนื่องจากยักษ์ใหญ่ทั้ง
2 รายสามารถบ่มเพาะและเสริมความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยีให้กับอุตสาหกรรม e-Commerce ไทย
ส่งให้เกิดต้นทุนการให้บริการที่ดีและเพิ่มประสบการณ์น่าประทับใจให้กับลูกค้า
แต่การที่
e-Commerce ไทยจะประสบความสำเร็จเหมือนในหลายๆประเทศ
ยังต้องมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่ดีด้วย ตัวเขาในขณะนั้นมองเห็นโอกาส ประกอบกับก่อนหน้านั้นเคยมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อนทั้งในและต่างประเทศ
จึงเริ่มวางแผนก่อตั้งแฟลช เอ็กซ์เพรสขึ้นในช่วงปลายปี 2017
ก่อนจะเปิดตัวพร้อมให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือน พ.ค. 2018
“ในช่วงเริ่มต้นมีบริษัทสตาร์ตอัพที่เป็นบริษัทขนส่งเริ่มต้นพร้อมเราเกือบ
100 ราย แต่สิ่งที่เรามองเห็นและคิดว่าเป็น Pain Point สำคัญคือผู้ให้บริการขนส่งส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ให้บริการแบบดั้งเดิม
ซึ่งการบริการลักษณะนี้ไม่ได้ตอบโจทย์ e-Commerce ในยุคปัจจุบันได้อย่างเต็มตัว”
คมสันต์เปรียบเทียบอย่างน่าสนใจว่า
เมื่อ 4 ปีที่แล้วค่าขนส่งพัสดุในประเทศไทยมีราคาแพงกว่าประเทศที่ประสบความสำเร็จด้าน
e-Commerce อย่างประเทศจีนถึง
4 เท่า การซื้อของ 1 ชิ้นจะต้องเสียค่าบริการประมาณ 60 บาท
แต่ในประเทศจีนเสียค่าบริการแค่ 15 บาท และถ้ามองถึงเป้าหมายว่าอุตสาหกรรม e-Commerce ไทยจะประสบความสำเร็จ
ค่าบริการจะต้องถูกลงและที่สำคัญจะต้องง่ายและดีขึ้นด้วย
ไม่เช่นนั้นคนก็จะไม่ย้ายมาใช้บริการบนแพลตฟอร์ม e-Commerce อย่างรวดเร็ว
สิ่งที่ทำให้แฟลช
เอ็กซ์เพรส โดดเด่นอย่างมากเมื่อเทียบกับผู้เล่นรายอื่นๆคือ การใช้ 3
กลยุทธ์ที่มีความแตกต่างจากผู้ให้บริการแบบดั้งเดิมคือ
1. จ้างพนักงานเองทั้งหมดแฟลช
เอ็กซ์เพรส เลือกที่จะไม่ใช้บริการเอาธ์ซอร์ส หรือโมเดลแฟรนไชส์
แม้ว่าการจ้างพนักงานเองทั้งหมดจะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก
แต่ก็ทำให้ได้มาซึ่งการบริหารงานที่สามารถควบคุมคุณภาพงานทั้งหมดได้
โดยปัจจุบันแฟลช เอ็กซ์เพรสมีพนักงานมากถึง 27,000 คน
2.
ให้บริการ365 วัน
ไม่มีวันหยุดเนื่องจากผู้ให้บริการส่วนใหญ่ยังคงให้บริการเพียงแค่ 5-6
วันต่อสัปดาห์ แต่แฟลช เอ็กซ์เพรสมองว่า การจะขึ้นไปเป็นเบอร์ 1
จะต้องให้บริการทั้ง 7 วัน เพราะการจับจ่ายบนแพลตฟอร์ม e-Commerce ไม่เคยมีวันหยุด
“ผู้ให้บริการส่วนมากทำงานแค่
5 วัน บางรายก็ 6 วัน แต่สำหรับเรายังไงต้อง 7 วันเท่านั้นไม่มีวันหยุดเพราะ e-Commerce ไม่มีวันหยุด
ถ้าเราหยุดลูกค้าก็ต้องรอนานขึ้น ถ้าคิดถึงใจลูกค้า เขาซื้อของ
เขาย่อมต้องอยากได้ของเร็วที่สุด”
3.
Door to Door Serviceเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้แฟลช
เอ็กซ์เพรสแตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่น
โดยยกบริการทั้งหมดของสาขามาอยู่บนโมบายล์แอปพลิเคชั่น
หากลูกค้าต้องการส่งพัสดุก็สามารถเรียกพนักงานมารับถึงหน้าบ้านได้เลย
ไม่ต้องเสียเวลาไปที่สาขา
“วันที่แฟลช เอ็กซ์เพรสเข้ามาในธุรกิจนี้เราตัดสินใจว่าเราจะไม่ใช่แค่ผู้ให้บริการขนส่งแต่จะต้องเป็นผู้ให้บริการสำหรับธุรกิจ e-Commerceครบวงจร นั่นหมายความว่าจะต้องมีไอทีและเทคโนโลยีที่ให้บริการลูกค้า ดังนั้นเราจึงมีการลงทุนด้านไอทีสูงมากมีพนักงานด้านไอทีมากกว่า 200 คนจากบริษัทชั้นนำทั่วโลก คิดเป็นรายจ่ายต่อเดือนมากกว่า 60 ล้านบาท”
คมสันต์กล่าวว่า ทั้ง 3 กลยุทธ์ และการมุ่งเน้นลงทุนในด้านไอที คือสิ่งที่ทำให้แฟลช เอ็กซ์เพรส ก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 สามารถขึ้นสู่ Top 3 ของธุรกิจขนส่งในประเทศไทยได้สำเร็จ โดยในช่วงเทศกาล 11.11และ 12.12 แฟลช เอ็กซ์เพรส มียอดจัดส่งสินค้ามากกว่าวันละ 1,300,000 ชิ้น ซึ่งถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย
ตั้งเป้าเป็นเบอร์ 1 ธุรกิจส่งพัสดุ
ขึ้นแท่นยูนิคอร์นสายเลือดไทย
คมสันต์กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจหลักของแฟลช กรุ๊ป จะมี 4 แกนหลัก ได้แก่
1. แฟลช เอ็กซ์เพรส (Flash Express) ให้บริการส่งพัสดุ
2. แฟลช โลจิสติกส์ (Flash Logistics) ให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับผู้ประกอบการขนส่งสินค้ารายชิ้น
3. แฟลช ฟูลฟิลล์เม้นท์ (Flash
Fulfillment) ให้บริการพื้นที่จัดเก็บสินค้าสำหรับe-Commerce แบบครบวงจร
4. แฟลช มันนี่ (Flashmoney) ให้บริการสินเชื่อกับลูกค้า
SME นอกจากนี้ จะมีบริษัทในเครืออีกราว 10
บริษัท เริ่มทยอยเปิดตัวออกมา เช่น Flash Pay, Flash Loan และ Flash Exchange ซึ่งหากดูภาพจากด้านบนลงมาด้านล่างจะชัดเจนว่าแฟลช
เอ็กซ์เพรส ต้องการเป็นผู้ให้บริการสำหรับ e-Commerce ครบวงจร
ด้วยการพยายามสร้างเครื่องมือสนับสนุนพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ให้สามารถขายของได้ดีขึ้น
ลดต้นทุนได้มากขึ้นและสร้างโอกาสในการหารายได้รวมถึงเข้าถึงบริการทางการเงินได้ดีขึ้น
“90%
ของลูกค้าเป็นกลุ่มธุรกิจ SME
ที่ขายของสินค้าบนแพลตฟอร์มต่างๆ
ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 2.7 ล้านราย
แม้ในช่วงเริ่มต้นจะสามารถบริหารจัดการได้ด้วยตัวเอง
แต่เมื่อต้องการขยายก็จำเป็นจะต้องหามืออาชีพมาช่วยแพ็กสินค้า
ต้องการที่ปรึกษาว่าสินค้าตัวไหนขายดีขายไม่ดี หมดอายุหรือยัง
ต้องดูแลรักษาอย่างไรเพื่อไม่ทำให้เงินจมอยู่กับสินค้ามากเกินไปหรือแม้แต่โอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
ซึ่งหากมองอย่างละเอียดจะพบว่ายังมีช่องว่างอีกมาก
และเราพร้อมเติมเต็มช่องว่างนั้น”
คมสันต์กล่าวว่าตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แฟลช เอ็กซ์เพรส ลงทุนไปมากกว่า 10,000 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุนทั้งจากเงินส่วนตัวและการระดมทุนจากนักลงทุนทั้งในประเทศอเมริกา จีน โดยประเทศไทยถือเป็นกลุ่มนักลงทุนหลักด้วยการลงทุนของ 3 บริษัท คือ
1. บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTT OR
2. บริษัท เดอเบลจำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจัดจำหน่ายในกลุ่มกระทิงแดง
3. KrungsriFinnovate บริษัทที่ลงทุนในสตาร์ตอัพจากเครือธนาคารกรุงศรีฯ
และภายในปี 2021 คาดว่าจะมีการระดมทุนอีกประมาณ 4,500 ล้านบาท
พร้อมตั้งเป้าจะขึ้นเป็นอันดับ 1 ให้ได้
“วิสัยทัศน์ของเราคือการเป็นผู้ให้บริการสำหรับธุรกิจ e-Commerce ครบวงจร ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือเราต้องมีความเป็นกลาง ไม่ว่านักลงทุนจากประเทศใดจะเข้ามาร่วมลงทุน เราก็ต้องพร้อมให้บริการกับทุกคนไม่ว่าจะเป็น Alibaba, Shoppee, Lazadaเราไม่ใช่นอมินีของต่างชาติ เราคือสตาร์ตอัพสายเลือดไทย และเรามุ่งมั่นที่จะเป็นสตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์นให้ได้ในปี 2021”
คมสันต์กล่าวต่อว่าการจะวัดว่าแฟลช
เอ็กซ์เพรส เป็นสตาร์ตอัพยูนิคอร์นจะต้องดูจากบริการที่จะต้องเป็นที่ยอมรับของสังคม
มีความแพร่หลาย มีความยั่งยืน สามารถดำเนินธุรกิจได้ด้วยตัวเอง
และมูลค่าของบริษัทที่จะต้องเพิ่มสูงขึ้น โดยปัจจัยที่จะสนับสนุนคือการที่แฟลช
เอ็กซ์เพรส
สามารถให้ต้นทุนที่ต่ำกว่ากับผู้ขายในการจัดส่งสินค้าซึ่งปัจจุบันผู้ขายส่วนมากจะเป็นผู้เลือกบริการการขนส่งเอง
และจากสถิติแล้วสินค้าที่ส่งฟรีจะขายได้ง่ายกว่า ซึ่งแฟลช เอ็กซ์เพรส
สามารถให้ต้นทุนที่ถูกกว่าคู่แข่งถึง 20% ดังนั้นหากเทียบกับบริมาณสินค้าในหลัก
100-1,000 ชิ้นจะสามารถลดต้นทุนให้พ่อค้าแม่ค้าได้จริง
ในด้านความรวดเร็วนั้นแฟลช
เอ็กซ์เพรส จะเปิดบริการใหม่ที่เรียกว่า 211 โดยหากลูกค้าสั่งสินค้าก่อนเวลา 11.00
จะได้รับสินค้าภายในช่วงค่ำของวัน และหากสั่งสินค้าก่อน 23.00
จะได้รับสินค้าสินค้าในช่วงเช้าของวันถัดไป
ซึ่งบริการนี้จะสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ซื้ออย่างมาก
“ในวันแรกที่เราก่อตั้งแฟลช
เอ็กซ์เพรส เราตั้งเป้าเป็นติด Top3
มีหลายคนบอกว่าผมบ้า แต่วันนี้เราสามารถทำจนสำเร็จ
และวันนี้เราตั้งเป้าอีกครั้งว่าแฟลช เอ็กซ์เพรสจะเป็นที่ 1
และเป็นยูนิคอร์นรายแรกของไทย บางคนอาจคิดว่าผมบ้าอีก แต่ผมเชื่อว่าเราทำได้แน่
ตลอด 2 ปีทีมงานทุกคนทุ่มเททำงานเกิน100% หากดูตัวเลขช่วงปี 2018-2019
เราโตถึง 7,000% และปี 2019-2020 โต 4,400% ในแง่ของปริมาณสินค้า
มูลค่าธุรกิจของเรามากกว่า 20,000 ล้านบาท ผมเชื่อว่านี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
แต่เป็นผลลัพธ์จากความทุ่มเท”
ปี 2021 พร้อมลงทุน 10,000 ล้าน
เตรียมขยายบริการทั่วอาเซียน
คมสันต์กล่าวว่า
ในปี 2021 แฟลช เอ็กซ์เพรส จะเดินหน้าลงทุนเพิ่มอีก 10,000 ล้านบาท
โดยจะเน้นการขยายพื้นที่บริการให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น
เพราะยังมีหลายพื้นที่ในประเทศที่ยังมีช่องว่างอยู่
ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานของบริการด้านขนส่งยังไม่เป็นธรรมเท่าที่ควร
โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลยังไม่ได้รับการพัฒนาที่ดีพอ
โดยตั้งเป้าหมายว่าทุกหมู่บ้านในประเทศไทยจะต้องมีบริการของแฟลช เอ็กซ์เพรส
นอกจากนี้ จะเริ่มเข้าสู่ตลาด
B2B โดยเน้นลูกค้าที่ขนาดใหญ่มากขึ้น
เช่น การส่งสินค้าระหว่างห้างสรรพสินค้ารวมถึงการขยายศูนย์กระจายสินค้า สาขา
และเพิ่มจำนวนพนักงานให้มากขึ้น พร้อมเดินหน้าลงทุนด้านไอทีต่อเนื่อง
โดยคิดเป็นสัดส่วนถึง 20% ของงบลงทุน หรือราว 2,000 ล้านบาท และจะเพิ่มทีมไอทีจาก
200 คนเป็น 400 คน โดยจะมีส่วนที่ดูแลเรื่องการทำเครดิตสกอร์ การพัฒนาเทคโนโลยี
รวมถึงการสร้างเครื่องมือใหม่ๆที่อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า
คมสันต์กล่าวต่อว่า
ในปี 2021 จะเป็นปีที่น่าตื่นเต้น เนื่องจาก แฟลช กรุ๊ป
มีแผนที่จะเปิดตัวบริการในอีก 4 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วย
โดยได้วางแผนงานมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2020 แต่ต้องถูกชะลอออกไปเนื่องจากสถานการณ์ Covid-19
ซึ่งในต่างประเทศมีการระบาดที่รุนแรงมาก ส่งผลให้ยังไม่สามารถเข้าไปทำตลาดได้
แต่ก็มีการเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว ทั้งการจ้างงานและการวิจัยและศึกษาตลาด
“ปัจจุบันแฟลช
เอ็กซ์เพรส เข้าไปทำตลาดที่ประเทศลาวแล้ว และมีเป้าหมายขยายธุรกิจออกไปในประเทศ
อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา โดยมั่นใจว่าภายใน 3-4
ปีจะสามารถขยายธุรกิจได้ครบทั้ง 10 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน
โดยการเข้าไปทำตลาดจะมีการประยุกต์กลยุทธ์ การตลาด แผนงาน
เพราะแต่ละประเทศมีความแตกต่างด้านข้อกฎหมาย เจ้าหน้าที่
ช่องทางการขายที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการให้บริการไปบ้างแต่ไม่ได้มาก
แต่โดยรวมจะยังใช้โมเดลธุรกิจเดียวกับในประเทศไทย”
ติดตามคอลัมน์ CEO Talk ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนมกราคม 2564
ฉบับที่ 465 บนแผงหนังสือชั้นนำทั้่วประเทศและในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi