Cover Story : 2021 ธปท.ยันเศรษฐกิจฟื้นแน่ คลังปรับโครงสร้าง 3 Sector Digital - Green - Aging

2021
ธปท.ยันเศรษฐกิจฟื้นแน่
คลังปรับโครงสร้าง 3 Sector
Digital -
Green - Aging
ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยปี
64 ฟื้นตัวแน่คาดเติบโต
3.2% พร้อมบริหารสภาพคล่องและอัตราดอกเบี้ยช่วยการฟื้นตัวหนุนRecycle เงินที่เกินดุลในประเทศออกไปลงทุนต่างประเทศ
แก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่า คลังปรับโครงสร้างเศรษฐกิจพร้อมใช้มาตรการภาษีเอื้อ 3 Sector “Digital - Green - Aging” สร้างรายได้ประเทศ
เผยหนี้สาธารณะปี 64 แตะ 50% ของ GDP ตลาดหลักทรัพย์ฯ
ชู Theme ลงทุนหุ้นยั่งยืน
ผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ตลอดปี 2563 ที่ผ่านมา ได้ฉุดให้เศรษฐกิจไทยทรุดตัวลง
เพราะภาคเศรษฐกิจสำคัญทั้งการท่องเที่ยวและส่งอออกได้รับผลกระทบอย่างหนักมาในปี
2564 นี้ วารสารการเงินธนาคาร ได้สัมภาษณ์พิเศษแม่ทัพเศรษฐกิจ อาคม พิทยาไพสิฐ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมถึง 2 ขุนพลตลาดเงินและตลาดทุนไทย ดร.เศรษฐพุฒิ
สุทธิวาทนฤพุฒิผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และ ดร.ภากร ปีตธวัชชัย
กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเจาะลึกถึงภาพเศรษฐกิจไทยในปี
2564
รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจที่จะนำพาประเทศไทยให้ก้าวพ้นวิกฤติและเติบโตต่อไปได้อย่างแข็งแกร่ง
คลังคาดจีดีพีปี 64 โต4%
ยันหนี้สาธารณะไม่เกินเพดาน
นายอาคม
เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในปี 2563
เศรษฐกิจไทยมีการปรับตัวดีขึ้น
โดยเห็นได้จากดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเป็นลำดับ
ดังนั้นสำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะยังมีแรงกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตและฟื้นตัวได้
ซึ่งกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีความเห็นร่วมกันว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564
จะสามารถขยายตัวได้ 4%
โดยแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยปี
2564 ฟื้นตัวได้มาจากภาคการส่งออกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
และปัจจัยสำคัญคือการใช้จ่ายภาคเอกชน โดยรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ
เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการช้อปดีมีคืน
ตลอดจนการขยายเวลาชำระภาษีเพื่อให้ประชาชนมีสภาพคล่องในการใช้จ่าย
ขณะที่ ในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าประเทศไทยจะได้รับวัคซีนต้าน
COVID-19 ดังนั้น วัคซีนจะเป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจและมีความพร้อมมากขึ้นในการเปิดประเทศเพื่อดึงนักท่องเที่ยวกลับมาในประเทศ
“ในช่วงครึ่งหลังของปี
2564
คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้โดยมีแรงส่งที่สำคัญจากการใช้จ่ายภายในประเทศ
การส่งออก และการได้รับวัคซีนต้าน COVID-19
ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัว
โดยคาดว่าหากทุกประเทศสามารถเปิดประเทศได้จะทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาราว5
ล้านคนจากเดิม 40 ล้านคน”
ในด้านหนี้สาธารณะนายอาคมกล่าวว่า
ปัจจุบันไทยมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 49.5% และคาดว่าจากการเร่งการใช้จ่ายใช้จ่ายตามพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา
เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม
ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จำนวน 1 ล้านล้านบาทที่จะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2564 จะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีในปี 2564
ปรับขึ้นไปอยู่ที่ 50%
ขณะที่ กระทรวงการคลังได้มีการประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะจนถึงปี 2568
โดยคาดว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะจะไม่เกินเพดาน 60% ของจีดีพี โดยมีช่วงคาดการณ์ที่
56-58%
“ในช่วง
COVID-19
หนี้สาธารณะของหลายประเทศสูงกว่าเรามาก เนื่องจากต้องมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อให้นโยบายการคลังสามารถทำงานได้
คือมีช่องในการกู้เงินเพื่อใช้แก้ไขปัญหา
แต่ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือว่าสามารถบริหารวินัยทางการคลังได้เนื่องจากยังสามารถรักษาสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่ให้สูงจนเกินไป”
นายอาคม กล่าวว่า
นอกจากการกู้เงินเพื่อดูแลเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19
แล้วสาเหตุที่หนี้สาธารณะของไทยเพิ่มขึ้นมาจากรัฐบาลมีรายจ่ายมากกว่ารายได้เนื่องจากมีการกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน
ตลอดจนการจัดเก็บรายได้โดยเฉพาะด้านภาษีที่ลดลงไปเช่น มีการหักรายการลดหย่อน
และการยกเว้นภาษี รวมถึงรายได้จากภาษีนำเข้าที่หายไป
โดยแนวทางในการบริหารหนี้สาธารณะของประเทศจำเป็นต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้โดยปรับปรุงโครงสร้างทางภาษีเพื่อขยายฐานภาษีให้กว้างขึ้น
รวมถึงการมีฐานภาษีใหม่ ซึ่งปัจจุบันได้ออกพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร
(ฉบับที่..) พ.ศ. .... (การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม
กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ หรือ อี-เซอร์วิส (e-Service)เพื่อเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม
(VAT) กับผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศโดยจะมีผลบังคับใช้ในปี
2564
“เราทำงบประมาณขาดดุลตั้งแต่ปี
2548 มีแค่ปีเดียวที่ทำงบประมาณสมดุลได้ ดังนั้นเรามีรายจ่ายเยอะ
แต่ประสิทธิภาพของการจัดหารายได้จากภาษียังทำได้ไม่เต็มที่ดังนั้นในระยะข้างหน้าการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อจึงเป็นเรื่องท้าทายซึ่งในปีนี้ภาษีอี-เซอร์วิส
จะเป็นอีกหนึ่งแหล่งรายได้ที่เพิ่มเข้ามา”
นายอาคมกล่าวว่า
สำหรับปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยส่วนมากมาจากภาคเกษตรกรเป็นหลักซึ่งจำเป็นต้องมีการแก้ไขในลักษณะเดียวกับหนี้สาธารณะ
โดยการส่งเสริมการสร้างอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน
สนับสนุนให้มีการปรับปรุงธุรกิจ ตลอดจนต้อง Up-skill และ Re-skill แรงงานให้มีความสามารถมากยิ่งขึ้น
“ครอบครัวที่มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ก็ต้องมีการกู้มาเหมือนกับประเทศที่ใช้จ่ายไม่พอก็ต้องมีการกู้
ดังนั้นการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงจำเป็นต้องทำให้ครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการหารายได้
ตราบใดที่ไม่สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการหารายได้ก็จะทำให้เป็นหนี้ตลอดไป”
ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
เน้น Digital-Green-Aging
นายอาคมกล่าวว่า
ประเทศไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมาอย่างยาวนานและผลกระทบของ โดวิด-19
ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถปรับตัวได้ทันดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เท่าทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
โดยจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างที่สำคัญใน 3 Sector ได้แก่
ด้าน
Digitaln ที่ผ่านมาในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด
19 ธุรกิจที่ยังอยู่รอดได้คือธุรกิจที่มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในกระบวนการทำงาน
เช่น ธุรกิจส่งอาหาร ดังนั้นการปรับโครงสร้างด้านดิจิทัลภาคธุรกิจจึงจำเป็นต้องใช้
Internet of Things (IoT)
ในภาคอุตสาหกรรม และใช้ Automation เข้ามามีส่วนช่วยในการผลิตตลอดจน
Up-skill และ
Re-skill พนักงานให้มีทักษะด้านดิจิทัลมากขึ้น
โดยเฉพาะภาคภาคบริการและท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนกว่า
50% ของจีดีพี ต้องมีการปรับตัวนำเทคโนโลยีมาใช้
แต่สิ่งสำคัญคือต้องเป็นการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ เช่น
เน้นนักท่องเที่ยวที่อยู่ในประเทศเป็นเวลานาน (Long Stay) และมีการใช้จ่ายสูง (High Value) โดยกระทรวงการคลังจำเป็นต้องมีมาตรการทางภาษีเพื่อเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพเกิดขึ้นได้
“อย่าไปคิดว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นต้นทุน แต่ต้องถือว่าเป็นการลงทุนที่จะทำให้ธุรกิจได้ผลตอบแทนมากขึ้น”
ด้าน Green Business ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันมีความสำคัญมากขึ้น
ขณะที่ ผลผลิตของประเทศไทยยังมีคาร์บอนอยู่เป็นจำนวนมากทำให้เสียเปรียบประเทศอื่นที่ทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ดังนั้นกระบวนการผลิตและบริการของไทยจึงจำเป็นต้องมีการปรับตัวให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เช่น การลดใช้พลาสติก
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
(Climate Change) จะมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต
จึงจำเป็นต้องมีการใช้พลังงานสะอาด การลงทุนด้าน Green Business ของภาคเอกชน เช่น
รถพลังงานไฟฟ้าดังนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องพิจารณาด้านโครงสร้างภาษีให้เพียงพอสำหรับการลงทุนด้าน
Green Business ของภาคเอกชน
ซึ่งปัจจุบันกรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างการศึกษาเรื่องการเก็บภาษีคาร์บอนและการให้แรงจูงใจเรื่องรถพลังงานไฟฟ้า
อย่างไรก็ตามการใช้รถพลังงานไฟฟ้าต้องมีค่าใช้จ่ายด้านค่าไฟเพิ่มขึ้น
อาจทำให้ประชาชนไม่อยากซื้อ
ดังนั้นรัฐบาลอาจจำเป็นต้องมีมาตรการในการลดค่าไฟฟ้าเหมือนในหลายประเทศเพื่อเป็นแรงจูงใจให้กับประชาชน
ด้าน Aging Society ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
(Aging Society) จึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างโดยมีมาตรการในการดูแลด้านสุขภาพของผู้สูงอายุ
มีมาตรการเพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถทำงานได้หลังจากเกษียณ
รวมถึงส่งเสริมบริการด้าน Wellness
ซึ่งปัจจุบันกระทรวงการคลังได้มีโครงการ “รามาธนารักษ์” เป็นโครงการตัวอย่าง
โดยมีลักษณะเป็น Senior
Complex ประกอบด้วยคอนโดมิเนียมสำหรับผู้สูงอายุ
สิ่งอำนวยความสะดวก ศูนย์การแพทย์ และสันทนาการ
นายอาคมกล่าวย้ำว่า
ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในด้าน Digital, Green Business และ
Aging Society เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก
โดยรัฐบาลจะมีการออกแบบมาตรการทางภาษีเพื่อเป็นแรงจูงใจให้อุตสาหกรรมเหล่านี้อย่างเต็มที่
ซึ่งจะได้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2564
“หากสามารถปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจโดยทำให้เรื่อง
Digital, Green Business และ
บริการสำหรับรองรับ Aging
Society เกิดขึ้นได้ จะทำให้มีการลงทุนในประเทศ
การจัดเก็บรายได้ของประเทศก็จะเพิ่มมากขึ้น
ตลอดจนจะทำให้จีดีพีของประเทศขยายตัวซึ่งจะส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีลดลง”
ธปท.เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย
บนความไม่เท่าเทียมและใช้เวลา
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี
2564จะยังไม่ใช่ปีที่สวยหรูนัก โดยธปท.ประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ที่
3.2% ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะอยู่ภายใต้การฟื้นตัวด้วยความไม่เท่าเทียมกันและใช้เวลาฟื้นตัวได้ไม่เร็วนัก
ทั้งนี้หากดูจากตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจระดับก่อนเกิดโควิด-19
กับในช่วงปลายปี 2563 พบว่าการฟื้นตัวในภาพรวมเริ่มกลับมาแล้ว เช่น
ตัวเลขการส่งออกที่กลับมา 98% เมื่อเทียบกับก่อนเกิดโควิด-19
เช่นเดียวกับภาคเอกชนที่ฟื้นกลับมาตามที่เห็นได้จากดัชนีภาคอุตสาหกรรมที่ดีขึ้น
“อาจจะเห็นตัวเลขเศรษฐกิจของไทยกลับมาเป็นบวกเมื่อเทียบปีต่อปีได้ในไตรมาส
2 ของปี 2564 แต่แนวโน้มจนถึงสิ้นปี 2564
เศรษฐกิจไทยอาจจะยังไม่กลับมาได้ในระดับก่อนโควิด-19 ซึ่งคงต้องใช้เวลาไปจนถึงปี
2565 หรือจนครึ่งหลังของปี 2565”
อย่างไรก็ดี
การฟื้นตัวในเชิงตัวเลขระดับปัจจุบันหากถามคนทั่วไปจะไม่ได้รู้สึกเช่นเดียวกับตัวเลขชี้วัด
เพราะกลุ่มสำคัญเช่น ภาคการท่องเที่ยวยังไม่กลับมาฟื้นตัวได้มากนัก
ซึ่งภาคการท่องเที่ยวมีผลกระทบต่อคนส่วนมาก
เนื่องจากอัตราการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมในภาคท่องเที่ยวมีสัดส่วน 20%
ของภาคแรงงานรวมทั้งหมด ดังนั้นการท่องเที่ยวที่ยังไม่กลับมาจึงเป็นผลกระทบต่อคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ
“ในปี
2564 ภาคแรงงานยังเป็นตัวฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
แม้ว่าดูตัวเลขคนว่างงานของประเทศจะไม่ได้เยอะ
จำนวนคนว่างงานของประเทศไทยลดลงจากที่เคยมีราว 5 ล้านคนในอดีตมาเป็น 3.2 ล้านคน
แต่ปัญหาเรื่องแรงงานจริงๆไม่ใช่เรื่องว่างงาน แต่เป็นเรื่องกลุ่มเสมือนว่างงาน
หรือคนยังมีงานทำอยู่แต่ทำงานได้น้อยลง หรือทำงานไม่ถึง 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์”
ดร.เศรษฐพุฒิระบุว่า
หากดูตัวเลขคนว่างงานกับคนเสมือนว่างงานของไทยรวมกันจะมีจำนวนกว่า 2.2 ล้านคน
ทำให้เห็นได้ว่าแม้การบริโภคภาคเอกชนจะดีขึ้นแต่สภาพแวดล้อมโดยรวมยังไม่ฟื้น
และเป็นการฟื้นที่ไม่เท่าเทียมกัน
นอกจากนี้การระบาดระลอกใหม่ในประเทศก็จะเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบที่ไม่ใช่แค่กลุ่มท่องเที่ยวอย่างเดียว
แต่จะส่งผลกระทบมายังภาคการบริโภคด้วย
“เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้
93% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด 19ใกล้เคียงกับมาเลเซียที่ฟื้นได้ 94%
แต่หากเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคเช่น เกาหลีใต้ หรือ อินโดนีเซีย
ที่การฟื้นตัวกลับมาได้ 98-99%
เหตุที่ฟื้นตัวได้มากกว่าประเทศไทยเพราะมีการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวน้อย
เศรษฐกิจอินโดนีเซียพึ่งพาการท่องเที่ยว 2% ของจีดีพีเท่านั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นอย่างต่อเนื่อง
แต่ต้องใช้เวลาและไม่เท่าเทียมโดยจะเป็นการฟื้นตัวเป็นแบบค่อยไปค่อยไป”
ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า
การที่เศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคท่องเที่ยวมากเกินไปเป็นบทเรียนอย่างหนึ่งที่ได้รับจากวิกฤติในครั้งนี้
จากเดิมเศรษฐกิจไทยเคยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่มีผลต่อภาคส่งออกในช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ซึ่งตอนนั้นเศรษฐกิจไทยยังฟื้นกลับมาได้เร็วกว่าหากเทียบกับผลกระทบจากการท่องเที่ยวรอบบนี้ที่เรียกได้ว่าเศรษฐกิจไทยเจอหมัดหนักโดนเต็มๆ
ดังนั้น การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องจำเป็น
เพราะในระยะต่อไปยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูงมาก
“ไม่มีใครรู้ว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นได้จริงๆ เมื่อไหร่
แม้จะมีความคืบหน้าเรื่องวัคซีนแต่ก็ไม่แน่นอนว่านักท่องเที่ยวจะกลับมา
เราอาจไม่มีทางเห็นจำนวนนักท่องเที่ยว 40
ล้านคนเข้าประเทศไทยไปอีกนานและถึงแม้การท่องเที่ยวจะกลับมาได้ก็ไม่แน่นอนว่าจะกลับมาได้เหมือนเดิม
ภาพที่เคยเห็นนักท่องเที่ยวมาระยะสั้นๆและจำนวนมากๆคงเป็นเรื่องยาก”
ทั้งนี้มองว่าโควิด-19 ได้เข้ามาเป็นตัวเร่งกระแสเดิมให้เกิดเร็วขึ้น
(Turbo Charged) ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญในโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด
3 เรื่องคือ Automation ที่ภาคผลิตเริ่มจะไม่พึ่งพาแรงงานคนหันมาใช้เครื่องจักร
จากเดิมที่เคยมีกระแสเรื่องนี้มาบ้างแล้วและจากนี้จะเห็นการเปลี่ยนไปใช้ Automation มากกว่าก่อน
เรื่องที่สองคือกระแสดิจิทัลและออนไลน์ที่เห็นการเติบโตได้ชัดเจนในช่วงโควิด-19
และเรื่องที่สามคือภาคการท่องเที่ยวที่ต้องมีการปรับใหม่ให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่จะตามมา
อย่างไรก็ดีทั้งสามเรื่องที่มีโควิด-19 เป็น Turbo Charged กำลังส่งสัญญาณว่า
การจ้างงานจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
จะมีการใช้แรงงานคนน้อยลงเพราะมีเครื่องจักรมาแทนที่ เช่นเดียวกับการจ้างงานในภาคบริการและธุรกิจค้าปลีกก็ถูกออนไลน์มากระทบจนเกิดการใช้แรงงานน้อยลง
ซึ่งแรงงานในธุรกิจรายย่อยมีจำนวนค่อนข้างมาก
ซึ่งอาจเห็นการจ้างงานแผ่วลงหลังวิกฤติในภาครายย่อยและท่องเที่ยว
“ดิจิทัลเป็นเรื่องที่หนีไม่พ้น จากเดิมอาจจะใช้ดิจิทัลเพื่อเอาชนะคู่แข่ง แต่ตอนนี้ทุกธุรกิจต้องมีดิจิทัลเพื่อความอยู่รอดและต้องเป็นดิจิทัลทุกมิติใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการเพิ่มขีดความสามารถและเป็นการลดต้นทุนให้ภาคธุรกิจ นอกจากนี้เรื่องความใส่ใจสิ่งแวดล้อมและเรื่องการสร้างความยั่งยืนจะเป็นอีกกระแสที่ได้รับสนใจมากขึ้นในอนาคต”
เศรษฐกิจไทยไม่ตกเหว
ธปท.พร้อมหนุนการฟื้นตัว
ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า
ธปท.เตรียมพร้อมสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะการบริหารสภาพคล่องในระบบและอัตราดอกเบี้ยสำหรับการกู้ยืมไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัว
โดยรวมสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์มีเพียงพอที่จะรองรับการปล่อยสินเชื่อ
แต่ปัญหาคือการกระจายสินเชื่อยังไม่ไปในจุดที่ต้องการให้ไป
การกู้ยืมส่วนใหญ่ยังอยู่ในกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ และภาคครัวเรือน
แต่ไปไม่ถึงธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี)
ซึ่งธปท.พยายามดูแลเรื่องนี้
ทั้งนี้อุปสรรคที่ทำให้สินเชื่อไปไม่ถึงกลุ่มเอสเอ็มอี
ปัญหาไม่ได้อยู่ที่สภาพคล่อง แต่ปัญหาคือสถาบันการเงินมองว่า
กลุ่มเอสเอ็มอีมีความเสี่ยงทางด้านสินเชื่อ (Credit Risk) ดังนั้น การแก้ปัญหาจึงไม่ใช่เรื่องการอัดฉีกสภาพคล่อง
แต่ต้องจัดการเรื่องความเสี่ยง ช่วยหากลไกที่จะลดความเสี่ยงของกลุ่มเอสเอ็มอี เช่น
เรื่องการค้ำประกันผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
ซึ่งธปท.ทำงานร่วมกับกระทรวงการคลังอย่างต่อเนื่อง
เพื่อให้สินเชื่อเข้าถึงกลุ่มเอสเอ็มอีมากที่สุด
“เศรษฐกิจไทยฟื้นจากวิกฤติไม่ช้าก็เร็ว
ไม่ได้ตกเหวอย่างที่กลัว เพราะโดยรวมเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพพอสมควร
ระบบธนาคารมีฐานะเงินกองทุนที่เข้มแข็ง
ภาคการคลังมีเสถียรภาพช่วยไม่ให้เศรษฐกิจทรุดลงแรง แต่ที่เป็นห่วงคือ
ไม่รู้ว่าหลังจากที่เศรษฐกิจไทยฟื้นแล้วหน้าตาจะเป็นอย่างไร เพราะมีโอกาสไม่น้อยที่หลังการฟื้นตัวจะมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น
จากเดิมไทยมีปัญหาเหลื่อมล้ำอยู่แล้ว โควิด 19
ยิ่งเป็นตัวเร่งให้ปัญหานั้นเกิดขึ้นเร็วกว่าเดิม”
ปรับปรุงเกณฑ์ซอฟต์โลนให้ยืดหยุ่นเหมาะสมกับสถานการณ์
ธปท.ปรับปรุงเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19
(ซอฟต์โลน) ให้มีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับสถานการณ์ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ปรับนิยามคำว่า “กลุ่มธุรกิจ” ที่เป็นหนึ่งในเกณฑ์การพิจารณาให้สินเชื่อโดยแยกพิจารณาความสัมพันธ์ของบุคคลธรรมดาออกจากนิติบุคคล
พร้อมทั้งนับความสัมพันธ์ให้เหลือเพียงลำดับเดียว
ส่งผลให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อซอฟต์โลนได้ง่ายขึ้น
2.
เปลี่ยนวิธีปฏิบัติเรื่องจำนวนครั้งในการขอสินเชื่อ
โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอียื่นขอกู้ซอฟต์โลนได้ไม่เกิน 2 ครั้ง
จากเดิมที่กำหนดให้ยื่นขอกู้ได้เพียงครั้งเดียว
ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ยังมีวงเงินกู้ซอฟต์โลนเหลืออยู่
สามารถกลับมายื่นขอสินเชื่อได้อีกครั้ง
ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถยื่นขอสินเชื่อซอฟต์โลนจากสถาบันการเงินได้แล้ว
โดยสถาบันการเงินต้องยื่นขอสินเชื่อซอฟต์โลนให้ ธปท. อนุมัติก่อนวันที่ 18 เมษายน
2564
__________________________________
Recycle เงินเกินดุล
แก้ปัญหาค่าเงินบาท
ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวถึงประเด็นเรื่องค่าเงินบาทด้วยว่า
ธปท.เป็นห่วงเรื่องค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไปท่ามกลางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีความเปราะบางเงินบาทที่แข็งค่าเป็นการซ้ำเติมธุรกิจส่งออกและอาจจะทำให้การฟื้นตัวสะดุดลง
ทั้งนี้ผลกระทบจากค่าเงินบาทต่อภาคการส่งออกนั้นเป็นการกระทบต่อกำไรของผู้ประกอบการมากกว่ามูลค่าการส่งออกรวม
เพราะมูลค่าการส่งออกจะอิงกับทิศทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามากกว่าค่าเงิน
“ในสถานการณ์ปกติภาคส่งออกยังพอจะรองรับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าได้
แต่มาเจอโควิด19
และปัญหาเรื่องภาระหนี้ซ้ำเติมทำให้เมื่อเงินบาทแข็งค่าจึงกระทบต่อกำไร
ซึ่งเหตุที่ค่าเงินแข็งค่านั้น85% มาจากปัจจัยภายนอกมากกว่าปัจจัยในประเทศ”
ทั้งนี้ค่าเงินบาทเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องแก้ไขหากย้อนดูการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทพบว่า
เมื่อเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงทุกสกุลจะแข็งค่าขึ้นโดยค่าเงินบาทจะแข็งมากกว่าสกุลอื่น
และเมื่อค่าเงินสกุลอื่นอ่อนค่าเงินบาทจะอ่อนค่าน้อยกว่าสกุลอื่นสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากประเทศไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมานาน
และมีความเปราะบางในเรื่องหนี้ต่างประเทศต่ำกว่าประเทศอื่นจึงถูกมองว่าเป็นที่ปลอดภัย
อย่างไรก็ดีเมื่อดูประเทศที่มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงแบบเดียวกับไทยเช่นเกาหลีใต้
จะพบว่าแม้จะเกินดุลแต่เกาหลีใต้ก็สามารถผ่องถ่ายนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศได้ดีต่างกับประเทศไทยที่มีการลงทุนในต่างประเทศน้อยมากจึงต้องเร่งแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างนี้
เพราะส่วนใหญ่นักลงทุนไทยยังลงทุนในประเทศเป็นหลักมีความเป็น
Home Bias สูงทั้งการลงทุนทางด้าน
Portfolio ของนักลงทุนบุคคล
และการลงทุนตรงของกลุ่มธุรกิจ
ขณะที่ กฎระเบียบเองยังไม่เอื้อต่อการนำเงินออกไปภายนอกเพราะยังกลัวเหตุการณ์จากวิกฤตปี
2540 ส่งผลให้ปริมาณเงินไม่สมดุลจึงเป็นที่มาของการออกนโยบายสร้างระบบนิเวศน์ค่าเงินใหม่
(FX Ecosystem) เพื่อแก้ปัญหาค่าเงินบาทในเชิงโครงสร้าง
“ธปท.พยายามออกมาตรการต่างๆที่จะเอื้อให้เกิดการลงทุนนอกประเทศ
ทั้งการเปิดกว้างบัญชี FCD เพื่อที่จะให้มีการ Recycle เงินที่เกินดุลในประเทศ
ซึ่งการพยายามแก้ไขเรื่องนี้เรารู้ว่าไม่ได้เห็นผลในเร็ววัน
แต่การปรับสมดุลเสมือนลอกท่อรอไว้ก่อน เมื่อมีความพร้อมจะสามารถออกไปลงทุนได้สะดวกทั้งบุคคลหรือรายใหญ่ค่าเงินที่แข็งค่าจะซื้อของได้ถูก
ภาคเอกชนรายใหญ่ของไทยมีความเข้มแข็งมากพอจะลงทุนภายนอกได้อยู่แล้ว”
หนี้ครัวเรือนสูง
ไม่กระทบธนาคาร
ดร.เศรษฐพุฒิ ยังได้เผยถึงเรื่องปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงด้วยว่า
เรื่องหนี้ครัวเรือนธปท.พูดถึงมานานมาก และโควิด-19
เป็นการเข้ามาซ้ำเติมปัญหานี้มากกว่าเดิม
จากที่เห็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 80%
ต่อจีดีพีสะท้อนปัญหาว่าหนักขึ้นแต่คงไม่ถึงกับเห็นภาพระเบิดเป็นวงกว้างจนกระทบระบบธนาคารหรือระบบการเงินภาพรวม
โดยธปท.ได้ให้ธนาคารพาณิชย์ทำแบบจำลองในสถานการณ์วิกฤติ
(Stress Test) ในหลายมิติที่มีเรื่องปัญหาหนี้ครัวเรือนด้วยนั้นพบว่า
ปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนไม่ได้ส่งผลต่อระบบธนาคารแต่ลูกหนี้จะค่อนข้างลำบากเพราะเป็นปัญหาจากเศรษฐกิจมหภาคที่ทำให้คนมีรายได้ลดลงอย่างมีนัย
โดยเฉพาะคนที่อยู่ในภาคบริการที่รายได้หายไปแต่ภาระหนี้ยังสูง
“มาตรการที่ทำได้ตอนนี้คือการซื้อเวลา
ทั้งการยืดเวลาชำระหนี้ออกไป ลดดอกเบี้ยลง
ซึ่งธนาคารพยายามช่วยเหลือลูกหนี้เต็มที่ ในฝั่งธนาคารพาณิชย์ทำได้ค่อนข้างดีแล้ว
ส่วนสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะต้องเร่งทำให้มากขึ้น
ซึ่งอาจจะมีอุปสรรคเป็นความพร้อมเรื่องระบบทำให้ยังไม่ครอบคลุมลูกหนี้
ซึ่งทางออกที่ดีในการช่วยเหลือคือลูกหนี้กับเจ้าหนี้ต้องมาคุยกัน“
อย่างไรก็ดีธปท.พยายามหาทางไม่ให้คนติดกับดักหนี้ในระยะยาวจึงเป็นที่มาของการปรับวิธีการคำนวณผิดชำระหนี้
เพราะการคำนวณแบบเดิมทำให้คนหลุดจากวงจรหนี้ได้ยาก
ทั้งนี้การปรับเกณฑ์ใหม่จะเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของลูกหนี้
ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวอีกว่า
ส่วนปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบที่มีมานานมาก อาจจะแก้ไม่ได้ในเร็ววัน
เพราะถ้าจะแก้เรื่องหนี้นอกระบบอย่างจริงจังจะแก้แค่ฝั่งหนี้อย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องดูในเรื่องรายได้ของคนด้วยต้องยอมรับว่าสาเหตุที่คนเป็นหนี้นอกระบบมาจากรายได้ไม่พอใช้
คงไม่มีใครอยากกู้นอกระบบที่ต้องยอมจ่ายดอกเบี้ยแพงๆ หากไม่จำเป็น
“การแก้หนี้นอกระบบจะแก้ในฝั่งหนี้อย่างเดียวไม่ได้
เพราะต้องเพิ่มรายได้คนให้มากขึ้น การแก้หนี้รายได้เป็นโจทย์หลัก
ประเทศไทยมีอัตรารายได้คงที่มานานในทุกหมวด ทั้งบริการหรืออุตสาหกรรม
ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่แข็งแรงนัก
ส่วนหนึ่งที่เป็นแบบนั้นเพราะประสิทธิภาพแรงงานของไทยไม่เติบโตทำให้รายได้ของคนไม่เพิ่ม”
หลักเกณฑ์เรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้
ธปท.ได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่
1 เมษายน 2564 และการตัดชำระหนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564
เป็นต้นไป
ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติที่สำคัญในระบบการเงินของไทยใน
3 เรื่อง คือ
1. การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนฐานของ
"เงินต้นที่ผิดนัดจริง" เท่านั้น
ไม่ให้รวมส่วนของเงินต้นของค่างวดในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ
2. การกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่
"อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบวกไม่เกิน 3%" เช่น ถ้าอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาคือ
8% ผู้ให้บริการทางการเงินจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้ไม่เกิน 11%
โดยต้องคำนึงถึงประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาด้วย
3. การกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้โดยให้
"ตัดค่างวดที่ค้างชำระนานที่สุดเป็นลำดับแรก"
เพื่อให้ลูกหนี้ทราบลำดับการตัดชำระหนี้ที่ชัดเจน โดยเมื่อลูกหนี้ชำระหนี้
เงินที่จ่ายเข้ามาจะถูกนำไปจ่ายค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย
และเงินต้นของงวดหนี้ที่ค้างชำระนานที่สุดก่อน
______________________________
ต้นปี 2564 เดินหน้า
หนุนนวัตกรรมใหม่
สำหรับเรื่องเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆ นั้น
ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ธปท.กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาในหลายเรื่อง โดยในต้นปี 2564
จะมี Policy Paper ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการเงินออกมาเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในเรื่องต่างๆ
ซึ่งจะมีทั้งการศึกษาเรื่อง Digital
License,เรื่องเงินดิจิทัลที่อาจจะนำมาใช้ในวงกว้าง
ซึ่งเรื่องของเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆมีผลข้างเคียงมากธนาคารกลางในหลายประเทศมีแนวนโยบายในเรื่องนี้ที่แตกต่างกัน
มีทั้งเปิดกว้าง คุมเข้มหรือสงวนท่าที ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ
“แม้จะต้องมีนวัตกรรมแต่ต้องคำนึงถึงผลข้างเคียง
ต้องดูบริบทของประเทศตัวเองไม่ใช่แค่ทำตามประเทศอื่นๆ
ซึ่งธปท.มองเรื่องนี้เป็นโจทย์สำคัญ
และมุ่งเน้นในเรื่องเทคโนโลยีต่างๆที่จะเข้ามาตอบโจทย์โดยเฉพาะเรื่องการสร้างสินทรัพย์ที่จะต้องทำให้คนเข้าถึงเรื่องนี้ได้ง่ายมากขึ้น
ในประเทศไทยมีทั้งคนที่เข้าถึงระบบธนาคารไม่เท่ากัน บางกลุ่ม Over Bank บางกลุ่มเข้าถึงไม่ได้เลย
จึงต้องหาทางทีเหมาะสมต้องหาผู้เล่นใหม่ๆมาให้กลุ่มที่เข้าไม่ถึง
หาของใหม่ๆตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ให้มากขึ้น”
ตลาดฯ ระบุเศรษฐกิจไทย ปี 64
มีโอกาสฟื้นตัวแต่อย่าชะล่าใจ
ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปี 2563
ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯมองว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวขึ้น
หลายภาคธุรกิจกำลังเติบโตไปได้ดีแต่เมื่อมีสถานการณ์ของโรคระบาดไวรัสโควิด-19
ทำให้ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
“ประโยคที่ผมอยากใช้เป็นข้อความประจำตัวเลยคือ
ต่อไปนี้ไม่มีอะไรที่แน่นอน
ดังนั้นต้องมีแผนสำรองเสมอในทุกสถานการณ์และสิ่งที่ผมพูดกับพนักงานตลาดหลักทรัพย์ฯอยู่เสมอคือ
โลกในอนาคตจะไม่เหมือนเดิม เราต้องปรับตัวให้เข้ากับ New Normal และพร้อมที่จะรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2564
ดร.ภากรมองว่ามีโอกาสที่จะเข้าสู่การฟื้นตัว (Recover) แต่ต้องคอยระวัง อย่ามั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์
ต้องคอยดูความเสี่ยงด้วย และความเสี่ยงดังกล่าวไม่ได้มาจากปัจจัยภายในเพียงอย่างเดียว
แต่มาจากสิ่งแวดล้อม มาจากปัจจัยภายนอกด้วย ดังนั้นต้องเตรียมตัวไว้เสมอ
ชะล่าใจไม่ได้
ทั้งนี้ ประเทศไทยยังคงมีความผันผวนอยู่
จนกว่าจะมีความชัดเจนในเรื่องของวัคซีน
โดยผลกระทบจะค่อยๆหายไปในด้านใดบ้างคงต้องใช้เวลาในการรอดูสถานการณ์ อีกทั้งต้องดึงเศรษฐกิจของไทยให้กลับมาทั้งด้านการท่องเที่ยว
การขนส่ง การเดินทาง ที่จะกลับมาในระดับเดิมแต่เป็นการกลับมาในรูปแบบใหม่
ตลาดหลักทรัพย์ฯมองว่าส่งผลดีที่จะทำให้ประเทศมีการปรับตัวอย่างรวดเร็วจากเดิม
และเชื่อว่าประเทศไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น โดยการปรับตัวในไทยนั้นสามารถนำมาเป็นจุดแข็งได้เพราะไทยเป็นประเทศที่ปรับตัวเก่งที่สุด
“ประเทศไทยสามารถปรับตัวได้ดี
และเป็นประเทศที่ปรับตัวเก่งที่สุดในโลก และเมื่อดูจากสัญญาณตลาดหุ้น
โดยเฉพาะกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) สิ่งที่น่าสนใจคือ
ถึงแม้สถานการณ์โควิด-19 จะมีการระบาดระลอกใหม่แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
ของไทยถือว่าเบามาก เนื่องจากมีการควบคุมได้ค่อนข้างดี”
เงินนอกไหลเข้าตลาดหุ้น
ถือเป็นสัญญาณดี
ดร.ภากรมองว่า
จากฟันด์โฟลว์ที่ไหลเข้าหุ้นไทยในช่วงการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 นั้น
อาจเกิดจากนักลงทุนต่างชาติตีความว่าไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดปกติ
จึงมีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากวันที่ดัชนีปรับตัวลงถึง 80
จุด (21 ธ.ค.63) นักลงทุนต่างชาติได้ซื้อสุทธิ 3,795ล้านบาท
และวันถัดมาก็ซื้อต่อเนื่อง
ดังนั้นจึงต้องการให้นักลงทุนทั้งรายย่อยและสถาบันได้เห็นว่า
หากดูจากเหตุการณ์ทั่วโลกแล้ว ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเด็นที่รุนแรง
และยิ่งไปกว่านั้นประสิทธิภาพในการให้บริการด้านสาธารณสุขของไทย
ถือว่าเป็นประเทศอันดับแรกๆของโลกที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุด
อย่างไรก็ตามประเด็นเรื่องโควิด-19
จะมีข่าวออกมาอยู่เสมอ ดังนั้นจึงเป็นความไม่แน่นอน การลงทุนปี 2564
จะยังมีความผันผวนจนกว่าจะมีความชัดเจนเรื่องวัคซีนต้านโควิด-19
ทั้งเรื่องความพร้อมของคนที่จะได้รับวัคซีน และผลกระทบจะค่อยๆ ลดลงอย่างไรบ้างแต่คงต้องใช้เวลาที่จะค่อยๆ
ดึงเศรษฐกิจไทยที่ขึ้นอยู่กับการภาคการท่องเที่ยวการขนส่ง
ที่จะกลับขึ้นมาในระดับเดิม
“อยากจะฝากนักลงทุนว่ามีทั้งวิกฤติและโอกาส เพราะบางครั้งวิกฤติที่เกิดขึ้นอาจจะเกิดจากการตีความข้อมูลว่าครบถ้วนหรือยัง หากตลาดมีปฏิกิริยาตอบสนองกับเหตุการณ์มากเกินไป ก็จะเป็นโอกาสที่นักลงทุนสามารถลงทุนในระยะยาวได้ด้วยต้นทุนที่ดี”
ธุรกิจต้องสร้างจุดแข็งใหม่
ไม่หลงใหลกับความสำเร็จที่มี
สำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤติโควิด-19
นั้น ดร.ภากร มีมุมมองว่า จะกลับมาในรูปแบบใหม่
ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ประเทศไทยมีการปรับตัวได้เร็วขึ้นกว่าเดิม
จากแต่ก่อนที่คิดว่าไม่ต้องปรับตัวยังอยู่ได้
แต่วันนี้ทำให้ได้เห็นแล้วว่าถึงแม้จะเป็นธุรกิจแบบเดิม หารายได้แบบเดิมคงไม่มีแล้ว
แต่จะต้องเสริมเรื่องสุขภาพ เรื่องสาธารณสุข เสริมเรื่องการปรับวิธีการทำธุรกิจ
ให้เข้ากับความปกติใหม่ (New
Normal ) มีการใช้เทคโนโลยีการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับ New Normal และมีการใช้ดิจิทัลมากขึ้น
ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะมีเข้ามามากขึ้น และเชื่อว่าจะทำให้ประเทศไทยแข่งขันได้ดีขึ้น
มีความเข้มแข็งมากขึ้น
เช่นเดียวกับตลาดทุนไทยที่วิกฤติรอบนี้ถือเป็นตัวเร่งให้ตลาดหลักทรัพย์ฯได้รู้ว่ามีจุดอ่อนหรือขาดอะไรบ้าง
มิฉะนั้นจะทำให้หลงไหลไปกับความสำเร็จของตลาดทุนไทย ซึ่งดร.ภากร กล่าวว่า “ก็น่าหลงใหล” เพราะตลาดหุ้นไทยมีสภาพคล่องสูงที่สุดในอาเซียน
โดยมีมูลค่าการซื้อขายประมาณ 1.6 พันล้านดอลลาร์ต่อวัน
ใกล้เคียงกับตลาดขนาดใหญ่เอเชียและยุโรป
นอกจากนี้มีหลักทรัพย์ไอพีโอมากที่สุดในอาเซียนติดต่อกัน 5 ปี
จากความสำเร็จที่กล่าวมาข้างต้น
บางครั้งก็ทำให้คิดว่าเราอยู่ได้ ยกตัวอย่างโครงสร้างเศรษฐกิจไทยก่อนหน้านี้
(ก่อนโควิด-19) ที่รายได้ของประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากภาคท่องเที่ยว
แต่เมื่อมีการระบาดของโควิด-19 สิ่งที่ประเทศไทยต้องเผชิญ เช่น
เมื่อตลาดทุนไทยได้รับผลกระทบ ทำให้นักลงทุนไทยขาดผลิตภัณฑ์การลงทุน
ไม่มีผลิตภัณฑ์การลงทุนทั่วโลกให้กระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม
ดังนั้นสิ่งที่ขาดคือ ผลิตภัณฑ์การลงทุนระดับโลก
นิยามการลงทุนปี 64
ตลาดฯ ชูธีมหุ้นยั่งยืน
สำหรับนิยามการลงทุนปี 2564 ดร.ภากรมองเป็น 2
ด้านคือ “ความหวัง” กับ”ต้องระวังตัว” โดยให้เหตุผลว่าการระบาดของโควิด-19
ที่เหมือนจะผ่านจุดที่รุนแรงที่สุดมาแล้วในการระบาดรอบแรกช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน
ปี 2563 แต่ปัจจุบันพบว่ามีสิ่งที่จะทำให้เกิดความรุนแรงได้อีก
เพราะฉะนั้นต้องคอยระวังตัว ติดตามข้อมูล และพิจารณาสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา
ดร.ภากรกล่าวว่า การระบาดของโควิด-19
ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องปรับจุดขายสินค้าในตลาด จากการชูธีมดัชนี SET Well-being (SETWB) มาเป็นธีมหุ้นยั่งยืน(Sustainability ) ตามแนวโน้มใหญ่
หรือเมกะเทรนด์ของโลกที่การระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้นักลงทุนสถาบัน
ตลอดจนนักลงทุนประเภทบุคคลหันมาให้ความสำคัญกับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักบรรษัทภิบาล
คำนึงถึงประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (ESG) มากขึ้น
ในขณะเดียวกัน บริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.)
มีความโดดเด่นด้านความยั่งยืนในระดับโลกจากการประกาศล่าสุดของรายชื่อบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์
(Dow Jones
Sustainability Indices: DJSI) ประจำปี 2563 มีบจ.ไทย จำนวน
21 แห่งได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกของดัชนี DJSI ยิ่งไปกว่านั้นในจำนวนนี้ 7
บจ.ไทยมีคะแนนอันดับ 1 ของโลกใน 7 กลุ่มอุตสาหกรรม
โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่มี บจ.
ได้รับคัดเลือกสูงสุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นปีที่ 7
ตอกย้ำการยกระดับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของ บจ.
ไทยที่มีความโดดเด่นด้านคุณภาพในระดับสากลและส่งเสริมความเชื่อมั่นในสายตาผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
ดังนั้น การเข้าสู่ดัชนี DJSI จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจและความน่าเชื่อถือในสายตาของผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศและเชื่อว่าการลงทุนอย่างยั่งยืนหรือการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบจะกลายเป็นการลงทุนกระแสหลักของโลก
(Mainstream Investment) ในไม่ช้า
เนื่องจากปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน ผู้ลงทุนสถาบัน
บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างให้ความสำคัญและนำแนวคิดด้านความยั่งยืนไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการผ่านการให้ข้อมูล
การวัดมูลค่ารวมถึงวิธีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ครอบคลุมิติเศรษฐกิจ สังคม
และสิ่งแวดล้อม