ศาลยุติธรรมขึ้นแท่น Digital Court ลุยระบบ e-Filing เต็มรูปแบบ

สำนักงานศาลยุติธรรมผนึก
ธนาคารกรุงไทย พัฒนาระบบ e-Filing
V.3 เปิดให้ยื่นคำร้องออนไลน์ 100%
ตั้งเป้าสู่การเป็น Digital
Court ยกระดับการทำงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเข้มข้น
เดินหน้าสู่การเป็นแพลตฟอร์มกลาง พร้อมขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี Blockchain
สำนักงานศาลยุติธรรม ถือเป็น 1 ในองค์กรรัฐที่มีการปรับตัวให้ทันกับยุคดิจิทัลอย่างเข้มข้น หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก เพราะมีการปรับปรุงพัฒนาระบบงานด้วยการนำไอทีเข้ามาช่วยหลายด้าน เพื่อให้สามารถบริการประชาชนได้รวดเร็วมากขึ้น ช่วยลดขั้นตอนการทำงานให้น้อยลง รองรับปริมาณคดีความที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยิ่งน่าสนใจมากขึ้น เมื่อสำนักงานศาลยุติธรรมตั้งเป้าก้าวสู่การเป็น Digital Court พัฒนาระบบ e–Filing เพื่อใช้ในกระบวนการยุติธรรม ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแถวหน้าที่ใช้ระบบนี้อย่างเต็มรูปแบบ
การเงินธนาคาร
ได้สัมภาษณ์พิเศษ นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการ สำนักงานศาลยุติธรรม ถึงการพัฒนาระบบ e-Filling V.3
เวอร์ชั่นล่าสุด เป้าหมายของสำนักงานศาลยุติธรรม และมุมมองเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยี
Blockchainมาปรับใช้กับกระบวนการยุติธรรม
ศาลยุติธรรมพัฒนาระบบ e-Filing
ผนึกกรุงไทยเสริมแกร่งช่องทางดิจิทัล
นายสราวุธ กล่าวว่า
ศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีเขตอำนาจทั่วไป เช่น คดีแพ่ง คดีอาญา คดีภาษี คดีแรงงาน
คดีทรัพย์สินทางปัญญา คดีการค้าระหว่างประเทศ คดีล้มละลาย คดีเยาวชนและครอบครัว
คดีอาญาทุจริตประพฤติมิชอบ ซึ่งคดีเหล่านี้อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรมทั้งหมด โดยคดีความที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมแต่ละปีนั้นสูงถึงปีละ
2,000,000 คดี และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
ขณะที่การจัดเก็บเอกสารก็ต้องมีการลงทุนสร้างห้องจัดเก็บ
และซื้อตู้คอนเทนเนอร์มาใช้จัดเก็บเอกสาร คิดเป็นเงินจำนวนมหาศาล
ที่ผ่านมาสำนักงานศาลยุติธรรมมีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้หลายด้าน
โดยเฉพาะการบริหารจัดการคดี
มีการนำระบบไกล่เกลี่ยเพื่อให้คู่ความได้ตกลงกันมาใช้ในคดีแพ่ง ที่มีจำนวนราว 1.5
ล้านคดีต่อปี เป็นคดีผู้บริโภคราว 700,000 คดี
ซึ่งกฎหมายกำหนดว่าคดีผู้บริโภคต้องมีการไกล่เกลี่ยให้คู่ความตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันก่อนหากคู่ความไม่อาจตกลงกันได้จึงให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบหมายจับหมายค้น ที่สามารถส่งผ่านระบบอีเมล
รวมถึงการผัดฟ้องฝากขัง ที่ใช้ระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์
สิ่งที่กำลังพัฒนาต่อคือระบบหมาย ที่ในอนาคตจะใช้เทคโนโลยี Biometric เช่น
ระบบจดจำใบหน้า ลายนิ้วมือ เพื่อความแม่นยำในการระบุตัวตน
สำหรับระบบ
e-Filing ของสำนักงานศาลยุติธรรมนั้น
มีการพัฒนาเวอร์ชั่นแรกตั้งแต่ปี 2560 คดีความที่ใช้ระบบนี้เพียงแค่หลักพันคดี
สำนักงานศาลยุติธรรมจึงดำเนินการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวอร์ชั่น 2 ในปี 2561
และเวอร์ชั่น 3 ในปี 2562
จนถึงปัจจุบันถือได้ว่าประเทศไทยนับเป็นประเทศแนวหน้าของโลกที่มีการใช้เทคโนโลยีกับกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะระบบ
e-Filing อย่างเต็มรูปแบบ
นายสราวุธ กล่าวว่า
ยอดผู้ใช้ระบบ e-Filing ทยอยเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
จนในช่วงที่ไวรัส Covid-19
ระบาด ผู้คนต้องลดการเดินทาง ทำให้มีคดีที่ยื่นผ่านระบบ e-Filing มากถึง
160,000 คดี โดยมีทนายความที่ลงทะเบียนในระบบจำนวน 9,500 คน
“เราคิดแล้วว่าถึงเวลาที่ศาลยุติธรรมต้องพัฒนาระบบจัดเก็บสำนวนคดีแบบอิเล็กทรอนิกส์ นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว ลดค่าใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชน และผู้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีมีความสะดวกมากที่สุด”
นายสราวุธ อธิบายว่า
ระบบ e-Filing Version 3 เป็นการร่วมมือกันระหว่างสำนักงานศาลยุติธรรมกับธนาคารกรุงไทย
เพื่อให้ประชาชนสามารถยื่น-ส่งและรับคำคู่ความผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับเอกสารแบบกระดาษเพียงอย่างเดียว ปัจจุบัน e-Filing v.3
เปิดให้บริการประชาชนครอบคลุมทุกพื้นที่ รวม 164 ศาล และจะเปิดใช้ในคดีอาญาต่อไป
(ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำร่องที่ศาลต้นแบบ)
หากประสบความสำเร็จจะเกิดประโยชน์กับระบบการทำงานในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด
เพราะสามารถตรวจหาลำดับของกระบวนการได้ตั้งแต่แรกเริ่ม
และในระยะต่อไปจะเป็นการขยายไปใช้งานในศาลชำนาญพิเศษทั้งหมดภายในเดือนกันยายน 2563
โดยเริ่มจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก่อน
สาเหตุที่ศาลยุติธรรมทำงานร่วมกับธนาคารกรุงไทยในการพัฒนาระบบ
e–Filing เพราะเป็นธนาคารที่ดูแลเรื่องธุรกรรมของสำนักงานศาลยุติธรรม
และในการยื่นเอกสารต่อศาลนั้นต้องมีขั้นตอนการชำระเงินอยู่แล้ว เช่น ค่าธรรมเนียม
ค่าปรับต่างๆ
ซึ่งธนาคารก็มีช่องทางชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน
และยังช่วยลดภาระของศาลในการจ่ายเงินคืนให้ประชาชนด้วย
โดยระบบจะรองรับการทำธุรกรรมจากทุกธนาคาร ทั้งบัตรเครดิต เดบิต
หรือการชำระเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ โดยธนาคารกรุงไทยได้เข้ามาช่วยพัฒนาในส่วนของ Front-end ที่ติดต่อกับประชาชน
นายสราวุธ อธิบายต่อว่า
ส่วนระบบ Back-end ยังเป็นความดูแลของสำนักงานศาลยุติธรรม
โดยมีระบบรักษาความปลอดภัยขั้นสูง
พร้อมทีมงานที่ดูแลด้านความปลอดภัยไซเบอร์โดยเฉพาะ
มีการตั้งอนุกรรมการด้านเทคโนโลยีและบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งหมดประจำอยู่ที่สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ
โดยสำนักงานศาลยุติธรรมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก
เพราะตระหนักดีว่าข้อมูลที่จัดเก็บนั้นมีความละเอียดอ่อนสูง
จึงต้องดูแลอย่างเข้มงวดเพื่อให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัยของข้อมูล
“ในระบบe–Filing นั้น
ทุกอย่างทำบนระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ขณะเดียวกันสำนักงานศาลยุติธรรมก็ยังมีระบบควบคู่คือระบบ
Case Information Online
System (CIOS) ซึ่งเป็นระบบติดตามสำนวนคดีเป็นระบบคู่ขนานที่ช่วยให้การยื่นคำร้องหรือคำขอคัดถ่ายคำพิพากษาได้อย่างสะดวกมากขึ้น
โดยตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมาสำนักงานศาลยุติธรรมได้เก็บคำพิพากษาเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์
ทำให้ประชาชนสามารถยื่นคำขอแบบออนไลน์ได้เลย”
ทั้งนี้ ระบบ
e-Filing Version 3
เป็นทางเลือกให้ทนายความสามารถยื่นคำฟ้องคำร้องขอได้โดยไม่ต้องเดินทางมาที่ศาลผ่านช่องทางhttps://efiling3.coj.go.th/eFiling/ หรือ application COJ ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทาง
app store หรือ
google play ทั้งจำเลยยังสามารถยื่นคำให้การขอคัดถ่ายและดูเอกสารสำนวนคดีต่างๆได้ส่วนเจ้าหน้าที่ศาลก็สามารถตรวจสอบเอกสารยื่นคำฟ้องคำร้องพร้อมให้ความเห็นในระบบรวมถึงผู้พิพากษาก็สามารถพิจารณาสั่งคำฟ้องคำร้องผ่านระบบได้เช่นเดียวกันนอกจากนี้คู่ความยังสามารถติดตามคดีได้ตลอด
24
ชั่วโมงสนับสนุนให้ระบบยุติธรรมของประเทศมีความทันสมัยและเป็นสากลสอดคล้องกับวิถีชีวิตและพฤติกรรมของประชาชนในปัจจุบัน
เดินหน้าสู่การเป็นแพลตฟอร์ม
เล็งใช้ Blockchainเพิ่มความโปร่งใส
นายสราวุธ กล่าวว่า
สำนักงานศาลยุติธรรมจะขับเคลื่อนตัวเองด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างต่อเนื่อง
เพื่อเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยให้ทันสมัย
มีกระบวนการที่รวดเร็ว ลดความผิดพลาดที่เกิดจากคน ให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก
รวดเร็ว อันเป็นเป้าหมายสำคัญของการก้าวไปสู่ D-Court
สำนักงานศาลยุติธรรมกำลังทำงานอย่างเข้มข้น
เพื่อผลักดันให้ตัวเองกลายเป็นแพลตฟอร์มกลาง
ที่เชื่อมต่อกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และใช้เทคโนโลยี Blockchainเข้ามาช่วยขับเคลื่อน
เพิ่มความโปร่งใส
ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการหารือกับหลายหน่วยงานเพื่อทำให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบโดย
“เรามองว่าทุกอย่างต้องมีการเรียนรู้ ต้องมีการนับ 1 หากไม่ลองแต่รอให้พร้อมจะเริ่มต้นได้ยาก การที่เราพัฒนาระบบ e-Filing มาถึงเวอร์ชั่น 3 เพราะเราทำและพัฒนาต่อเนื่อง ถ้าผิดพลาดก็ต้องรู้ตัวให้เร็วและเริ่มใหม่ทันที เพราะโลกวันนี้ก้าวไปเร็วมาก เราต้องตามให้ทัน แม้วันนี้หลายอย่างจะยังอยู่ในขั้นของการพัฒนา แต่เชื่อว่าในอนาคตเทคโนโลยีอย่าง Blockchainจะเข้ามามีบทบาทในกระบวนการยุติธรรม เพื่อยืนยันกระบวนการในแต่ละฝ่าย และทุกอย่างสามารถตรวจสอบได้ มีความโปร่งใส ลดข้อผิดพลาด ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมก็จะมุ่งไปในทางนี้เช่นกัน”