CEO Talk : สมคิด จิรานันตรัตน์ ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

สมคิด จิรานันตรัตน์
ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่
ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
ปั้น Thailand Digital Platform
ขับเคลื่อนประเทศยุค 4.0
ในช่วงการระบาดของไวรัส
Covid-19
มาตรการจากภาครัฐถือเป็นความหวังของประชาชน
ที่จะได้ใช้เงินเยียวยาในการดำรงชีวิตในช่วงที่สถานการณ์ไม่ปกติ
ช่องทางดิจิทัลถูกนำมาใช้อย่างเร่งด่วนเพื่อรองรับโครงการต่างๆ ทั้ง เราไม่ทิ้งกัน
เราชนะ คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน
ถูกพัฒนาอย่างรวดเร็วเพื่อให้คนไทยสามารถใช้สิทธิได้อย่างทั่วถึง
แม้จะมีข้อจำกัดในเรื่องที่ประชาชนไม่มีสมาร์ตโฟน
ซึ่งก็เป็นปัญหาที่รัฐต้องเข้ามาช่วยโดยการเปิดให้ลงทะเบียนที่สาขาธนาคารกรุงไทย
แต่หากมองในภาพใหญ่ นี่คือการแก้ปัญหาที่รวดเร็วที่สุดครั้งหนึ่งของรัฐบาล
และเป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้อย่างตรงจุด
การเงินธนาคาร
ได้สัมภาษณ์พิเศษ สมคิด จิรานันตรัตน์ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย
จำกัด (มหาชน) ผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาช่องทางดิจิทัลของภาครัฐผ่านโมบายล์แอปพลิเคชั่น
“เป๋าตังค์” กับบทบาทของการเป็นที่ปรึกษาธนาคารกรุงไทย
ที่เข้ามาช่วยปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีให้สามารถรองรับธุรกรรมจำนวนมหาศาลในระบบ
ตลอดจนภารกิจสุดท้าทายในการสร้าง “Digital
Thailand Platform”เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทยในยุค 4.0
พลิกฟื้น Krungthai Next
สู่แอปฯ ยอดฮิตหมวดการเงิน
สมคิดเล่าให้การเงินธนาคารฟังว่า
ที่มาของการมานั่งตำแหน่งที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทยนั้น
เป็นเพราะก่อนหน้านี้โมบายล์แอปพลิเคชั่น Krungthai Next ประสบปัญหาด้านการให้บริการที่หยุดชะงักในช่วงสิ้นเดือนบ่อยครั้ง
ซึ่งก่อนหน้าที่จะมาร่วมงานกับธนาคารกรุงไทย
ได้มีประสบการณ์และอยู่เบื้องหลังการพัฒนาโครงการสำคัญมูลค่าระดับหมื่นล้านอย่างK-Transformationการก่อตั้งบริษัทด้านเทคโนโลยีอย่าง
KBTGไปจนถึงการพัฒนาโมบายล์แอปพลิเคชั่น
K PLUS ของธนาคารกสิกรไทย
การมาเป็นที่ปรึกษาให้กับธนาคารกรุงไทยในช่วงแรกจึงเป็นแก้ปัญหาการหยุดชะงักของการให้บริการ
Krungthai Next โดยใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น
และเริ่มปรับแต่งโครงสร้างของระบบภายในเพื่อแก้ปัญหาโดยใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน
ก็ทำให้ Krungthai Next สามารถรองรับการใช้งานจำนวนมากในทุกสิ้นเดือนได้โดยไม่ติดขัดและขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับ
Top 3
ของหมวดแอปพลิเคชั่นการเงินใน App
Store
“เราปรับแต่งระบบ Krungthai Next ใหม่
เพื่อให้เข้ากับวัตถุประสงค์ของการให้บริการที่เน้นลูกค้าเป็นหลัก
มีการตัดเอาสิ่งที่ยุ่งยากในการใช้งาน
หรือสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับลูกค้าทั้งหมดออกจากแอปพลิเคชั่นลดเวิร์กโหลดที่ไม่จำเป็น
เพื่อให้เป็นการออกแบบเพื่อลูกค้าจริงๆ จากนั้นก็ปรับทีมงานและส่วนต่างๆเพิ่มเติม
จนสิ้นเดือนแรก Krungthai
Next ให้บริการได้ไม่ล่ม
นั่นจึงชัดเจนว่าเรามาถูกทาง”
สมคิดเล่าต่อว่า
ปัญหาลักษณะนี้มักเกิดขึ้นกับการออกแบบแพลตฟอร์มบนสมาร์ตโฟน
ที่มักรวมหลายๆบริการมาไว้ในที่เดียว แม้ในช่วงแรกจะให้บริการได้
แต่เมื่อลูกค้าเข้ามาใช้งานมากขึ้น โดยเฉพาะต้องรองรับมาตรการต่างๆของรัฐบาลทำให้มีผู้ใช้ก้าวกระโดดกว่า
50 ล้านคน ระบบย่อมเกิดปัญหาอย่างในช่วงของมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ที่รัฐบาลออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
เพียงแค่เปิดลงทะเบียนวันแรกระบบก็เกิดปัญหา
ทำให้ได้เข้าไปช่วยในการพัฒนาระบบชิมช้อปใช้ ควบคู่ไปกับการพัฒนา Krungthai Next
หลังจากที่มีการผ่าตัดความคิดองค์กรครั้งสำคัญ
ก็ใช้แนวทางที่เน้นวัตถุประสงค์หลักเป็นที่ตั้งมาโดยตลอด
ปัจจุบันมีโครงการรัฐบาลออกมาใหม่ๆ เช่น โครงการ “คนละครึ่ง” ที่มีคนเข้ามาใช้งานนาทีละ 1
ล้านคนระบบก็สามารถรองรับได้ เนื่องจากมีการแยกออกจากระบบอื่นๆชัดเจน ต่อยอดไปสู่การพัฒนาแอปพลิเคชั่นกลางอย่าง
“เป๋าตัง” สำหรับผู้ใช้
และ “ถุงเงิน” สำหรับร้านค้า
Thailand
Digital Platform
หนุนประเทศไทย 4.0
Thailand Digital Platform
ไอเดียการพัฒนา Thailand Digital Platform
สมคิดกล่าวว่า
หลังจากที่ได้เข้าไปปรับแต่งโครงสร้างของแอปพลิเคชั่น Krungthai Next และมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบเพื่อรองรับมาตรการของรัฐบาล
ทำให้เกิดแนวคิดสนับสนุนโร้ดแมพ Thailand
4.0 ที่เป็นรูปธรรม
ซึ่งก่อนหน้านี้ประเทศไทยลงทุนไปกับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเป็นหลัก
ซึ่งต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังไม่มีต้นแบบชัดเจนว่าจะเดินหน้าหรือใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้นให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
หรือเอามารวมกันได้อย่างไร
การสร้างแพลตฟอร์มจึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์
โดยจะต้องมีองค์ประกอบของผู้ใช้จำนวนมาก และเอื้อประโยชน์ต่อโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ
ทำให้ธุรกิจสตาร์ตอัพ ธุรกิจบริการ และประชาชน เข้ามาใช้บริการได้
แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยล้วนพึ่งพาแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ
ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ โซเชียลมีเดีย ทั้งหมดล้วนมาจากต่างประเทศ
“การที่เราพึ่งพาแพลตฟอร์มต่างประเทศอย่างเดียว
เหมือนกับการที่ประเทศเสียเอกราช
เพราะเจ้าของแพลตฟอร์มจะได้ข้อมูลของคนในประเทศว่าเป็นอย่างไร
รู้พฤติกรรมของคนไทยรู้ว่าจะเอาอะไรมาขาย ต้องยอมรับว่าอาวุธยุคนี้คือข้อมูล
ใครถือข้อมูลก็เป็นผู้กุมความได้เปรียบ”
สมคิดเผยว่า
จากการตั้งคำถามเรื่องการใช้แพลตฟอร์มต่างชาติ ทำให้เกิดแนวคิดในการสร้าง Thailand Digital Platform ขึ้น
พร้อมวางโครงสร้าง การทำประโยชน์ โมเดลการวิเคราะห์ข้อมูลและผู้ใช้ข้อมูล
และพื้นฐานของการดึงดูดผู้ใช้ ซึ่งเวลานั้นมีโอกาสคือโครงการต่างๆของรัฐบาลที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง
จึงเริ่มมีการต่อยอดจากปริมาณผู้ใช้ในเวลานั้น
“ผมตั้งโจทย์ว่าการที่ประเทศจะก้าวไปเป็น Thailand 4.0 แบบเป็นรูปธรรมจะต้องมีอะไรบ้าง คำตอบคือต้องมีแพลตฟอร์มของประเทศที่ไม่ใช่ของต่างชาติ และในแพลตฟอร์มนี้จะประกอบด้วยอะไร ผมร่างความคิดนี้ลงใน iPad โดยThailand Digital Platform จะเน้นที่ความหลากหลาย ให้บริการทั้งเอกชน และรัฐบาล และจะเชื่อมโยงด้วยโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ 3 ด้านคือ Digital ID, Digital Currency, Digital Paper ซึ่งจะนำมาซึ่งข้อมูลขนาดใหญ่ ที่สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อสร้างนโยบายในการให้บริการผู้ใช้ได้มากขึ้นจากโครงสร้างพื้นฐาน 3 ด้าน ก็จะพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มที่แยกออกมา 5 ด้านคือ 1. Digital Bond 2. Digital Asset 3. Digital Commerce 4. Biz 5. Government โดยมี 3 แพลตฟอร์มที่เริ่มดำเนินการไปแล้ว คือ
1.
Digital Bond เป็นแพลตฟอร์ม
Digital Bond ที่ทำให้ผู้ใช้สามารถซื้อ-ขายพันธบัตรรัฐบาลได้แบบเรียลไทม์
โดยการถือพันธบัตรรัฐบาลจะได้ดอกเบี้ย 1.7-2.5% ซึ่งมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ
และหากไปขายในตลาดรองก็มีโอกาสได้ Capital
Gain Yield ที่เพิ่มขึ้น และเมื่อขายได้ เงินก็จะเข้า Wallet ทันที
โดยได้เปิดให้บริการไปแล้วคือ วอลเล็ต สบม. ภายในแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง”
2.
Digital Asset เป็นแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัล
ที่แปลงสภาพจากฟิสิคอลมาเป็นดิจิทัล สามารถซื้อ-ขาย
แลกเปลี่ยนสินทรัพย์ประเภทนี้ได้ใน Wallet เช่น
ผู้ใช้สามารถแปลงสินทรัพย์ประเภทบ้านเป็นดิจิทัลและสามารถขายสิทธิความเป็นเจ้าของ
หรือสิทธิในการลงทุนได้ โดยแพลตฟอร์มนี้กำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนา
3.
Digital Commerce เป็นแพลตฟอร์ม
Marketplace ที่เปิดให้ร้านค้าเข้ามาขายสินค้าได้
โดยมีจุดเด่นที่การนำเสนอสินค้าผ่านวิดีโอสั้นความยาว 1 นาที
มีอินเทอร์เฟสคล้ายกับโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์ม ให้ประสบการณ์ที่เป็นมิตรกับผู้ใช้
เพียงแค่เลื่อนขึ้น-ลง ก็สามารถดูสินค้าจากร้านต่าง
และหากต้องการซื้อสินค้าก็สามารถกดซื้อได้เลย
“ในอนาคตเราอยากให้แพลตฟอร์ม Digital Commerce เอื้อประโยชน์ให้คนตัวเล็ก ให้ผู้ประกอบการ SME สตาร์ตอัพ นำไปใช้มากขึ้น ขณะที่ประชาชนก็สามารถใช้สิทธิที่รัฐบาลให้ผ่านแพลตฟอร์มนี้ได้ ธนาคารก็สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมผู้ใช้ได้ หากทำธุรกิจและอยู่ในระบบ ทำได้ดีแต่ขาดเงินทุนเราก็ให้กู้ได้ เพราะธนาคารมีข้อมูลอยู่แล้วว่าขายอย่างไร”
สมคิดอธิบายต่อว่า
แพลตฟอร์ม Digital
Commerce จะแตกต่างจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซปกติที่เริ่มจากการสร้างแพลตฟอร์ม
มีร้านค้าเยอะๆ และดึงดูดผู้ใช้เข้ามา แต่ Digital Commerce จะเป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้จำนวนมากอยู่แล้ว
และให้ร้านค้าเข้ามา
เมื่อมีคนเยอะก็มีโอกาสขายได้เป็นโมเดลโซเชียลมาร์เก็ตที่มีฐานผู้ใช้ขนาดใหญ่และยังเป็นผู้ใช้ที่มีการทำธุรกรรมการเงินบนแพลตฟอร์มอยู่แล้ว
ธนาคารสามารถเห็นข้อมูลได้รอบด้าน ทั้งการใช้จ่าย การขายสินค้า การขนส่ง
และพฤติกรรมผู้ซื้อ
“เราจะเปิดตัวDigital Commerce ในเดือนเมษายนนี้
โดยให้บริการในระบบสมาชิกก่อน ผู้ใช้สามารถสมัครได้ผ่านแอปฯเป๋าตังโดยในช่วงแรกจะมีการคัดกรองคุณภาพสินค้า
พอระบบเข้าที่ก็จะเปิดให้ทุกคนสามารถเข้ามาเป็นผู้ขายได้ และจะมี AI ในการนำเสนอสินค้าไปยังคนที่สนใจ
แต่ตอนเริ่มต้นผู้ขายจะยังไม่สามารถเข้าถึงผู้ใช้ทั้งหมดได้ ต้องมี Feedback ที่ดี
มีคุณภาพสินค้าและบริการที่ดี ระบบก็จะขยายไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น”
สมคิดกล่าวว่า
อีกแนวคิดสำคัญภายใน Thailand
Digital Platform ก็คือภาพของระบบการเงินที่เป็นแบบ Open Financial ด้วยการมาของ
Digital Currency แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยว่าจะอนุญาตให้ดำเนินการหรือไม่
เพราะธนาคารกรุงไทยสามารถสร้างเน็ตเวิร์กให้กับ Digital Currency ได้ ซึ่งหมายความว่าเมื่อประเทศไทยมี Digital Currency ผู้ใช้จะสามารถใช้เงินนี้ได้ทุกกระเป๋า
ไม่จำเป็นต้องใช้ผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตังอย่างเดียว
โดยในทางเทคนิคแล้ว
ระบบสามารถเชื่อมต่อกันได้ผ่าน API
ทั้งหมด ทั้งการชำระเงิน การรับเงิน
ซึ่งหากธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ก็จะกลายเป็น Central Bank Digital Currency (CBDC) ซึ่งปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังเร่งศึกษาภายใต้โครงการอินทนนท์
โดยเน้นไปที่การใช้งานระหว่างภาคธุรกิจกับธุรกิจ และอยู่บนเทคโนโลยี Blockchain เป็นหลัก
“ส่วนตัวคิดว่าการใช้ Blockchain กับ ยูสเคส CBDC ในฝั่ง Retail จะทำให้เกิดข้อจำกัดในเรื่องของการขยาย ระบบควรออกแบบมาให้เป็นเงินสดที่มีแสตมป์ของรัฐและผ่านการ Tokenize เพื่อให้สามารถใช้งานแบบออฟไลน์ได้ เป็นโมเดลเดียวกับหยวนดิจิทัลของประเทศจีน”
ติดตามคอลัมน์ CEO Talk ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนมีนาคม 2564 ฉบับที่ 467 บนแผงหนังสือชั้นนำทั้่วประเทศและในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi