CEO Talk : มาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์

มาณพ เสงี่ยมบุตร
รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการเงิน
ธนาคารไทยพาณิชย์
หน้าที่เข็มทิศเร่งฟื้น ROE
นำทางไทยพาณิชย์มุ่งสู่ดิจิทัล
เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 มาณพ เสงี่ยมบุตร ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง
รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
กลุ่มงานการเงินถอยหลังไปปีก่อนหน้า มาณพได้เข้ารับตำแหน่ง รองผู้จัดการใหญ่
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการเงิน ในปี 2663
นับว่าเป็นผู้บริหารดาวรุ่งของธนาคารไทยพาณิชย์
โดยก่อนหน้านี้ มาณพ
เคยรับผิดชอบงานในตำแหน่งผู้บริหารสายงาน China Business ตั้งแต่ปี 2557
มีประสบการณ์กว่า 20 ปี
ในด้านการเงิน การธนาคาร และการลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดจีน
ถือเป็นการกระโดดข้ามจากสายงานจากที่เคยทำงานด่านหน้ามาเป็นงานหลังบ้านที่ดูแลเรื่องการเงินให้องค์กร
เปลี่ยนภาพงานหลังบ้าน
มีบทบาทเสมือนส่วนหน้า
"ในชีวิตการทำงานพยายามผลักดันให้ตัวเองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนเสมอซึ่งมักจะเลือกก้าวออกจาก
Comfort Zone ทุกๆ
5-6ปีเพื่อเป็นการผลักดันตัวเองให้เพิ่มศักยภาพ
เพราะเชื่อว่าเราต้องทำงานเกินตัวไว้นิดนึงจะได้เกิดการพัฒนาตัวเองต่อไปได้"
มาณพ ร่วมงานกับธนาคารไทยพาณิชย์เมื่อปี
2555
ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ International
Banking Business กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งเขาเคยดำรงตำแหน่ง Head of China A-Share Research ที่บริษัทหลักทรัพย์
CLSA เซี่ยงไฮ้และฮ่องกง
โดยเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งและบริหารทีมงานวิเคราะห์การลงทุนในตลาดหุ้นจีน
รวมถึงเคยรับราชการในตำแหน่งนักวิชาการคลัง
ที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง
นอกจากนี้เขาเคยเป็นอาจารย์พิเศษที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่มหาวิทยาลัย Fudan นครเซี่ยงไฮ้
มาณพ
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการเงินและบัญชี สาขาสารสนเทศทางการบัญชี
จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโทด้าน MBA สาขาการเงินจากมหาวิทยาลัย
Carnegie Mellon ประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยทุนรัฐบาลไทย
และเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตของประเทศไทย
และยังได้รับรางวัลนักเรียนทุนรัฐบาลไทยดาวรุ่ง ประจำปีพ.ศ.2561
สาขาการบริหารการเงิน
"ไทยพาณิชย์เป็นองค์กรที่เปิดโอกาสให้พนักงานได้หมุนเวียนหน้าที่อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้มีความตื่นตัวเพราะหากทำงานในจุดเดิมซ้ำๆพนักงานจะไม่มีความตื่นตัว
การเปลี่ยนสายงานทำให้ได้มุมมองใหม่ๆจะเห็นอะไรที่มากขึ้น
เมื่อองค์กรอยากให้เปลี่ยนและส่วนตัวก็ชอบเปลี่ยนด้วยก็เลยเป็นความต้องการที่ตรงกัน"
มาณพ เล่าอีกว่า
การเปลี่ยนสายงานจำเป็นต้องมีทักษะที่เป็นจุดร่วมที่เกี่ยวเนื่องกัน
โดยการข้ามจากงานด้านธุรกิจต่างประเทศมาสู่งานการเงินในตำแหน่ง CFO เขามีทักษะร่วมที่ทำให้สามารถต่องานได้ติดคือความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเงินระดับภูมิภาค
เพราะเดิมต้องทำงานกับลูกค้าจีนจึงต้องเข้าใจตลาดเงินตลาดทุนของจีนด้วยอยู่แล้ว
นั่นจึงเป็นทักษะที่ช่วยให้การผันตัวออกมาทำงานด้านการเงินครั้งนี้ของเขาราบรื่น
"ด้วยการที่เศรษฐกิจจีนก้าวขึ้นมาอยู่ในอันดับสองของโลกและอาจจะก้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลกได้เร็วกว่าที่คาดไว้
ดังนั้นเศรษฐกิจของจีนจึงจะมีผลไม่ทางตรงก็ทางอ้อมต่อประเทศไทย
ธุรกิจในไทยจึงมีความจำเป็นต้องเข้าใจตลาดเงินตลาดทุนของจีน
แต่แน่นอนว่าในบทบาทใหม่ก็ต้องเสริมความรู้เพิ่มเติมต่อไปอยู่เสมอ"
ทั้งนี้ทีมงานด้านการเงินของธนาคารไทยพาณิชย์มีความรู้ความสามารถที่ดีเยี่ยมอยู่แล้ว
บางอย่างก็ต้องเรียนรู้จากทีมงานเหล่านี้ แต่ในบทบาทของ CFO สำหรับเขางานด้านการเงินไม่ใช่แค่เป็นเข็มทิศเพียงเท่านั้นแต่ต้องมีส่วนช่วยผลักดันองค์กรให้เคลื่อนไปในทิศทางเป้าหมายด้วย
สายงานด้านการเงินจะไม่ใช่เป็นแค่งานสนับสนุนแต่ต้องทำเสมือนเป็นงานหน้าบ้านแบบสายงานธุรกิจอื่นได้ด้วย
"โจทย์คือต้องเปลี่ยนให้สายงานสนับสนุนทำหน้าที่เสมือนเป็นงานหน้าบ้านได้
โดยอย่างแรกคนในทีมต้องกระตือรือร้นอยากเรียนรู้กล้าลองถูกลองผิด
เปลี่ยนมุมมองว่างานของนักบัญชีไม่ใช่คอยห้ามสายงานธุรกิจอื่นๆแต่ต้องหาวิธีช่วยแก้ปัญหา
นักบัญชีต้องทำบัญชีในหน้าที่เดิมแต่ก็ต้องทำตัวเองให้เป็นนักวางแผนทางการเงินเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้แก่สายงานธุรกิจอื่นๆในองค์กรได้ด้วย"
ขณะที่ฝ่ายงานนักลงทุนสัมพันธ์
จะต้องไม่ใช่แค่นักวิเคราะห์ทางการเงินแต่ต้องเสมือนเป็นนักการตลาดที่สามารถทำให้นักลงทุนนักวิเคราะห์เห็นทิศทางที่ธนาคารกำลังมุ่งไปได้ชัดเจนเพื่อให้นักวิเคราะห์สะท้อนราคาที่ถูกต้องแก่นักลงทุนได้
อย่างไรก็ดีจุดแข็งคือทีมงานมีความสามารถมากจากนี้จะต้องเปลี่ยนให้เดินหน้าไปด้วยกัน
ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องเป็นเข็มทิศและทำงานเสมือนเป็นหน้าบ้านไปด้วย
เป็นเข็มทิศนำทาง
เป้าหมายคือ ROE
มาณพบอกด้วยว่า ภายใต้วิกฤติโรคระบาดCovid-19
ภาคธนาคารรวมทั้งธนาคารไทยพาณิชย์ต้องรักษางบดุลของตัวเองให้แข็งแรงเพื่อช่วยเหลือลูกค้าได้
โดยธนาคารจะสร้างการเติบโตในระดับความเสี่ยงที่ต่ำไว้ก่อนแม้สถานะกองทุนของธนาคารจะมีความเข้มแข็งอยู่มากธนาคารมีอัตราเงินทุนสำรองต่อสินทรัพย์เสี่ยงสูง
18%
แต่ก็ต้องจัดการคุณภาพของสินเชื่อให้อยู่ในระดับที่รับได้
ซึ่งถือว่าทำได้ในระดับที่น่าพอใจจากเดิมมีลูกค้าขอเข้ามาตรการช่วยเหลือกับธนาคาร 39%
ของลูกหนี้ทั้งหมดแต่ได้ออกจากมาตรการช่วยเหลือไปแล้วจนปัจจุบันเหลือลูกค้าที่เข้ามาตรการช่วยเหลือเพียง
18%
ซึ่งทั้งหมดนับว่าอยู่ภายในความเสี่ยงที่น่าพอใจ
อย่างไรก็ดีด้วยงานของ CFO มีบทบาทที่กว้าง
ทั้งเรื่องบัญชี การบริหารจัดการทางการเงิน
นักลงทุนสัมพันธ์การบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset and Liability Management Committee : ALCO) ที่เป็นหัวใจของงานธนาคารเพราะต้องบริหารแหล่งเงินทุนของตัวเองให้สอดคล้องกันระหว่างฝั่งสินทรัพย์กับหนี้สิน
ทั้งนี้ยังมีบทบาทเพิ่มขึ้นมาอีกเรื่องคือการลงทุน
เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจธนาคารมีสภาพคล่องล้น หน้าที่ของ CFO ต้องสามารถหาโอกาสลงทุนจากสภาพคล่องส่วนเกินที่เพิ่มขึ้นภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ด้วย
"ความท้าท้ายในบทบาท CFO คงเป็นการเข้ามารับตำแหน่งช่วง
Covid-19
พอดี แต่มองว่าหน้าที่ของ CFO
ต้องทำตัวเป็นเข็มทิศขององค์กร
เราไม่ใช่กัปตันเองแต่เป็นเข็มทิศให้กัปตันเรือที่จะนำทิศทางไปสู่เป้าหมายคือการนำมูลค่าขององค์กรกลับไปจุดที่ควรจะเป็น"
มาณพเล่าว่า
เป้าหมายของธนาคารคือทำให้มูลค่าขององค์กรอยู่ในระดับที่ควรจะเป็นคือการเพิ่มอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น
(ROE)ให้กลับไปสู่ช่วงที่ดีที่สุดของธนาคารหากย้อนไปช่วงปี
2553-2562
ธนาคารไทยพาณิชย์เคยมี ROEเฉลี่ยที่
16%
และเคยทำได้ดีถึง 20%
จนกระทั่งผลประกอบการมาถูกกระทบโดย Covid-19 ทำให้ ROE ลดลงมาเหลือ 6-7% ในปี 2563 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้เมื่อสถานการณ์ของCovid-19
เริ่มคลี่คลายก็เป็นเป้าหมายของธนาคารที่จะทำอย่างไรให้ดึงมูลค่าขององค์กรกลับไปสู่ROE ในระดับเดิมได้ทั้งนี้ในอดีตช่วงที่
ROE ดีที่สุดของธนาคารมูลค่าของหุ้น
SCB เคยอยู่ที่ 2
เท่าของ Book Value แต่ตอนนี้มีมูลค่า
Book Value อยู่ที่
1
เท่า
"จากที่คำนวณคร่าวๆ
หากผ่านภาวะวิกฤติแล้วธนาคารทำธุรกิจแบบเดิมต่อไปการตั้งสำรองที่เคยสูงถึง 47,000
ล้านบาท หรือ 2.14%
ของสินเชื่อ รวมทั้ง ธนาคารในปี 2563
ที่เป็นระดับสูงสุดจะค่อยๆลดลงมาอยู่ในเกณฑ์สำรองระดับปกติใน 2
ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ ROE
ของธนาคารจะกลับมาที่ระดับ 10%
แม้ว่า ROE ของธนาคารจะกลับมาดีขึ้นหลังวิกฤติแต่ก็ยังไม่เพียงพอ
เพราะจะต้องหาทางเพิ่มมูลค่าให้องค์กรต่อไป"
มาณพ กล่าวว่า หน้าที่ของ CFO จึงต้องเป็นเข็มทิศให้องค์กรว่าควรจะเดินไปทางไหน
ซึ่งธนาคารต้องทำมากกว่าที่เคยทำมา ด้วยเหตุผลนี้จึงเป็นที่มาของธนาคารที่พยายามเดินหน้าเรื่องดิจิทัลเต็มที่
ทั้งการตั้ง SCB10X เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ทางดิจิทัลใหม่ๆขึ้นมา (Digital Ecosystem) รวมทั้งการทำ RobinHood แพลตฟอร์มส่งอาหารและอีกหลายๆ แพลตฟอร์ม เพราะหวังจะสร้าง Digital Ecosystem ขนาดใหญ่เพื่อจะสนับสนุนเป้าหมายของธนาคารที่จะมุ่งสู่
Digital Banking ในอนาคต
ทั้งนี้ Robinhood เป็นต้นแบบในการทำสิ่งใหม่ๆ ของธนาคาร เพราะทีมงานทำงานแบบ Startup และทำได้ดีพอสมควร Robinhood ตั้งขึ้นมาเมื่อเดือนตุลาคม 2563 ปัจจุบันมีออร์เดอร์ 12,000 รายการต่อวัน ถือว่าเริ่มต้นได้ดีเติบโตได้ค่อนข้างเร็ว ซึ่งใน 3-5 ปีข้างหน้า จะใช้ข้อมูลในเชิงพฤติกรรมที่ได้จาก Robinhood มาต่อยอดในระบบนิเวศทางดิจิทัลของธนาคาร ทั้งนี้ Robinhood อาจจะไม่ได้เป็นคำตอบสุดท้ายของการมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นธนาคารดิจิทัลแต่จะเป็นตัวช่วยเติมเต็ม
มาณพบอกว่า
หากความพยายามในครั้งนี้ของธนาคารสำเร็จก็มีโอกาสที่ ROE ของธนาคารไทยพาณิชย์จะกลับไปสู่ระดับดีที่เคยเป็นมาด้วยรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากวิธีการอนุมัติสินเชื่อแบบใหม่ที่เป็นข้อมูลเชิงพฤติกรรมไม่ใช่แค่ข้อมูลทางการเงินที่ได้มาจาก DigitalEcosystem และอาศัยการวิเคราะห์ในเชิงข้อมูลนำไปสู่การอนุมัติสินเชื่อได้แม่นยำ ตอบโจทย์ลูกค้าได้ตรงจุด
ทั้งนี้ Digital Ecosystem ทำให้ธนาคารสามารถจับกลุ่มลูกค้าที่ไม่เคยจับมาก่อนได้
ในอดีตธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยส่วนใหญ่มีลูกค้าราว 10
ล้านคนจากประชากรที่มีกว่า 60
ล้านคน เพราะการทำธุรกิจแบบเดิม
มีข้อมูลแบบเดิมจะอนุมัติสินเชื่อจากข้อมูลที่มีเท่านั้นจึงมีลูกค้ากลุ่มเดียว
หากใช้ Digital Ecosystem จะทำให้ได้ฐานลูกค้าใหม่ๆที่เป็นคนรุ่นใหม่
"ปี 2563
ธนาคารไทยพาณิชย์มีฐานลูกค้าช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น 30%
มาเป็น 13.7
ล้านคนจากเดิมที่มี 12
ล้านคน ฐานลูกค้าในช่องทางดิจิทัลที่มีกว่า 13 ล้านคน มีมูลค่ามากหากเป็นธุรกิจใหม่ๆ
แต่สำหรับองค์กรใหญ่อย่างธนาคารอาจจะดูมีธุรกิจอื่นที่ใหญ่กว่ามาเจือจางไปซึ่งโจทย์ใหญ่คือจะทำอย่างไรให้การเติบโตที่ซ่อนอยู่นั้นขยายได้มากพอที่จะเห็นออกมาได้ชัดเจน"
อย่างไรก็ดีผลิตภัณฑ์และบริการด้านไหนที่ธนาคารสามารถผลักดันไปสู่ช่องทางดิจิทัลได้จะพยายามผลักดันทั้งหมด
ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับลูกค้าบุคคลเป็นหลักมีกลุ่มเอสเอ็มอีบ้าง แต่จะเน้นเรื่อง
สินเชื่อ ประกัน ลงทุน
ที่เสนอผ่านช่องทางดิจิทัลที่แม้จะทำได้ดีแล้วแต่ยังมีสัดส่วนไม่มาก ซึ่งช่องทางดิจิทัลต้องมีสัดส่วนที่เห็นอย่างเป็นนัยสำคัญถึงจะเริ่มเห็นผลต่อภาพรวมของธนาคารชัดเจน
มาณพบอกอีกว่า
นอกจากระบบนิเวศทางดิจิทัลที่ธนาคารสร้างขึ้นมาจะทำให้ได้ฐานลูกค้าใหม่แล้วยังมีส่วนช่วยเรื่องต้นทุนให้ลดลงด้วย
โดยในปี 2563
ต้นทุนต่อรายได้ของธนาคารลดลงมาอยู่ที่ 44% จากเดิมอยู่ในระดับ 50%
ซึ่งในปี 2564
จะเป็นปีที่เริ่มเห็นผลที่ได้จากการเดินหน้าเรื่องดิจิทัลอย่างจริงจังของธนาคารว่ามีส่วนทำให้แนวโน้มต้นทุนของธนาคารดีขึ้นชัดเจน
ดังนั้น การเดินหน้าสร้างระบบนิเวศสำหรับดิจิทัลจะทำให้ต้นทุนต่อรายได้ของธนาคารลดลงได้อีก
โดยภาย 3-5
ปีข้างหน้าอาจจะเห็นต้นทุนต่อรายได้ลดลงต่ำกว่า 40%
"การก้าวสู่ดิจิทัลแบงก์กิ้งในอนาคตธนาคารจะสามารถเพิ่มรายได้จากการที่ได้ฐานลูกค้าใหม่ๆเข้ามา
ช่วยให้มีรายได้ดอกเบี้ยที่ดีขึ้นจากการปล่อยสินเชื่อประเภทไม่มีหลักประกันภายใต้การอนุมัติแบบใหม่
รวมทั้งเสนอบริการที่แม่นยำมากกว่าเดิมมีต้นทุนต่ำลง ก็มีโอกาสที่จะเห็น ROE สามารถกลับไปสู่ค่าเฉลี่ยที่เคยเป็นมาคือ
15-16%
ภายใน 3-5 ปี"
ขณะเดียวกัน
เมื่อสามารถผ่านวิกฤติไปได้วันข้างหน้าธนาคารจะเน้นธุรกิจที่ทำให้ผลตอบแทนดีขึ้นโดยมีเป้าหมายดิจิทัลแบงกิ้งเป็นโจทย์หลัก
แต่ก็ยังไม่ทิ้งโอกาสมองหาการเติบโตจากภายนอก
ซึ่งการเติบโตจากภายนอกขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยเป็นสิ่งที่มีความไม่แน่นอนสูง
หากมีโอกาสที่ดีเกิดขึ้นก็ถือเป็นจุดหนึ่งที่ช่วยเพิ่มผลตอบแทนของธนาคารให้เร่งตัวขึ้น
"การเติบโตโดยซื้อกิจการธนาคารจะมองในที่ๆ มี
Footprint อยู่แล้ว
การซื้อกิจการจากภายนอกสิ่งที่ยากคือเมื่อเข้าไปซื้อจะต้องเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ธุรกิจและเพิ่มมูลค่าให้องค์กร
และต้องเป็นธุรกิจที่เสริมความแข็งแกร่งให้องค์กร แต่ต้องทำด้วยความระมัดระวังสูง"
สำหรับกลยุทธ์ต่างประเทศของธนาคารนั้นขอเลือกเข้มแข็งในตลาดของตัวเองก่อนจะขยายไปที่อื่น มาณพย้ำว่า หากจะไปนอกประเทศต้องมีความชัดเจนว่าแข่งขันได้ โดยเน้นในกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีโอกาสสูงและมองข้ามไปที่ตลาดจีนเป็นหลัก ทั้งนี้ เป้าหมายทางด้านต่างประเทศของจะไม่ไปตลาดที่แข่งขันยากและขาดความคุ้นเคยเพราะมองว่าธุรกิจธนาคารที่ออกไปเติบโตในต่างประเทศโดยขาดความเชี่ยวชาญอาจจะทำให้ ROE ของธุรกิจในประเทศลดลงได้
ติดตามคอลัมน์ CEO Talk ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนเมษายน 2564 ฉบับที่ 468 บนแผงหนังสือชั้นนำทั้่วประเทศและในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi