Exclusive Interview : ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

ดร.วิรไท สันติประภพ
ผู้ว่าการ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ไทยต้องเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ
เน้น High Margin High Premium
ตลอดระยะเวลา
5 ปีที่ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558
ได้ดำเนินนโยบายเพื่อดูแลเสถียรภาพทางการเงินของประเทศจนก่อให้เกิดโครงการต่างๆ
ที่เป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจไทยทั้งในระดับมหภาค ธุรกิจ และประชาชน
การเงินธนาคารได้สัมภาษณ์พิเศษ
ดร.วิรไทสันติประภพในโอกาสที่จะครบวาระในวันที่ 30 กันยายน 2563
ถึงความท้าทายของเศรษฐกิจไทยวิถีใหม่ว่าต้องเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นHigh Margin High Premium ขณะที่ธปท.
เองต้องเป็นธนาคารกลางที่มีความคล่องตัว ทันการณ์เพื่อที่จะสามารถดูแลระบบการเงินในช่วงที่เกิดวิกฤติ
เศรษฐกิจไทยผ่านช่วง Panic
เข้าสู่การปรับโครงสร้าง
ดร.วิรไทกล่าวว่า วิกฤติ COVID-19
ไม่ใช่วิกฤติเศรษฐกิจธรรมดาแต่เป็นวิกฤติที่เกิดจากโรคติดต่อทางสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบไปสู่สังคมในทุกภาคส่วนในสังคม
เป็นวิกฤติที่แก้ไขยากกว่าวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมา
“วิกฤติ
COVID-19
เป็นวิกฤติที่ส่งผลกระทบกว้างมากและยากกว่าวิกฤติเศรษฐกิจครั้งก่อนๆ
เพราะไม่รู้ว่าจะจบอย่างไรและจะจบเมื่อไร
ที่ผ่านมาถ้าเราเห็นวิกฤติจากสถาบันการเงินเราก็จะเห็นลำดับขั้นของการแก้ปัญหา
หรือถ้าเป็นวิกฤติที่เกิดจากภัยธรรมชาติก็จะรู้ว่าจะจบเมื่อไร แต่วิกฤติ COVID-19
ทำให้เกิดความไม่แน่นอนสูงมากและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแต่ละภาคส่วนก็ไม่เหมือนกัน”
โดยการแพร่ระบาดของ COVID-19
ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่
ระยะแรก ช่วงที่คนตกใจเนื่องจากไม่สามารถคาดเดาความรุนแรงของการระบาดได้
ดังนั้นผลที่เกิดขึ้นคือประชาชนพยายามถือเงินสด จึงเป็นช่วงที่หุ้นตก
พันธบัตรมีปัญหา ทองคำราคาตก ทำให้ระบบการเงินมีปัญหา
กลไกการทำงานของตลาดการเงินไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามสภาวะปกติ
อย่างไรก็ตามวันนี้ประเทศไทยได้ผ่านจุดนั้นมาแล้ว
เนื่องจากธนาคารกลางทั่วโลกรวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการเพื่อไปดูแลกลไกการทำงานของตลาดการเงินและสร้างความมั่นใจให้กับตลาด
ทำให้กลไกการทำงานของตลาดการเงินกลับมาเป็นปกติมากขึ้น
นอกจากนี้ไทยยังสามารถควบคุมการระบาดของ COVID-19
แม้ว่าจำนวนคนติดเชื้อทั่วโลกจะเพิ่มมากขึ้นแต่อัตราการเสียชีวิตน้อยลง
แพทย์รู้วิธีการรักษาที่ดีขึ้น ประชาชนรู้จักโรคนี้มากขึ้น
ทำให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมในการดูแลตัวเองและมีความระมัดระวังในการใช้ชีวิตมากขึ้น
ดังนั้นคาดว่าจะไม่เกิดการตื่นตระหนกในตลาดการเงินเหมือนในช่วงที่มีการระบาดระยะแรก
ช่วงที่สองเริ่มมาตรการเยียวยาเป็นช่วงที่การระบาดของ
COVID-19
ส่งผลกระทบสู่ภาคเศรษฐกิจจริงเนื่องจากรัฐบาลใช้มาตรการ Lockdown เพื่อให้สามารถหยุดการระบาดได้อย่างรวดเร็ว
“การใช้มาตรการเพื่อหยุดยั้งการระบาดที่รุนแรงส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศหยุดชะงัก
เกิดเหตุการณ์ที่สนามบินไม่ทำงาน คนเดินทางไมได้
การส่งออกไม่ได้ทำให้สินค้าเน่าเสีย มีการ Work From Home ไม่สามารถทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้
ผลกระทบจึงรุนแรงมากในไตรมาสที่สอง
เห็นได้จากการที่แทบจะทุกประเทศที่คนตกงานและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบ”
ดังนั้นรัฐบาลจึงเร่งออกมาตรการด้านการเยียวยาเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดและมาตรการ
Lockdown เช่น
จ่ายเงินเยียวยาชดเชยค่าจ้าง การพักชำระหนี้เอสเอ็มอี ตลอดจน
การเลื่อนกำหนดการชำระหนี้ โดยเป็นมาตรการที่มีลักษณะเป็นการทั่วไปเพื่อให้ประชาชนตั้งตัวได้
แม้ว่าหลังจากการออกมาตรการเพื่อควบคุมการระบาดและมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก
COVID-19
ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจค่อยกลับมาคลี่คลายได้
อย่างไรก็ตามการที่จะให้เศรษฐกิจฟื้นตัวในระดับเดิมก่อนมีการแพร่ระบาดคาดว่ายังต้องใช้เวลา
โดยธปท.คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงปลายปี
2565 เนื่องจากทั่วโลกยังคงมีการแพร่ระบาดและไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจแบบเปิด
ซึ่งแม้ว่าจะควบคุมในประเทศได้ดีแต่หากประเทศคู่ค้ายังไม่สามารถควบคุมได้
ปริมาณสินค้าส่งออกจะยังได้รับผลกระทบกระทบรวมถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มีความสำคัญมากสำหรับเศรษฐกิจไทย
“สาเหตุที่มีการคาดการณ์ว่าจีดีพีของไทยจะติดลบมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน
เนื่องจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับสัดส่วนของจีดีพีของทุกประเทศ
และวิกฤติรอบนี้ก็เป็นวิกฤติที่ทำให้เดินทางไม่ได้ ซึ่งต้องใช้เวลาจนกว่าจะวัคซีน
มี Travel Bubble จึงจะช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวได้”
ทั้งนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าคาดว่าจะมีลักษณะการฟื้นตัวแบบ
W เนื่องจากต่อจากนี้อาจมีการระบาดขึ้นมาเป็นระลอก
เป็นการระบาดในบางพื้นที่ รัฐบาลไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้มาตรการ Lockdown อีกครั้งนอกจากจะเกิดการระบาดในวงกว้างอย่างรุนแรง
อย่างไรก็ตามวันนี้ไทยมีความสามารถที่จะหยุดการแพร่ระบาดมีกระบวนการที่ตรวจสอบคนหมู่มากได้ดีกว่าในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา
ช่วงที่สามปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยช่วงที่สามเป็นช่วงที่คนเริ่มเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ธุรกิจวิถีใหม่
หรือ New Normalซึ่งเป็นวิธีที่ทุกคนต้องเปลี่ยนมาใช้โครงสร้างการทำงานรูปแบบใหม่
ดังนั้นแรงงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดจะไม่ใช่แบบเดิม
โดยจะต้องเป็นคนที่มีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น
ขณะที่การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือSocial Distance ได้เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน
ของธุรกิจต่างๆมีการให้พนักงาน Work
From Home ลดการเช่าสำนักงานและหันมาทำ Automation มากขึ้น
สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้รูปแบบการจ้างงานเปลี่ยนไปจากเดิม
ดังนั้นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญนอกจากมาตรการด้านการจ้างงาน
คือมาตรการด้านการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ
โดยให้ความสำคัญกับกำลังการผลิตส่วนเกินจากแรงงานที่ไม่สามารถปรับตัวได้รวมถึงให้ความสำคัญกับนโยบายด้านอุปทานมากขึ้น
ขณะที่เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือการปฏิรูปกฎเกณฑ์กติกาของภาครัฐที่มีความล้าสมัยและเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กให้มีความคล่องตัวในการปรับตัวเข้ากับชีวิตวิถีใหม่
อย่างไรก็ตามในภาวะวิกฤติยังมีโอกาสเรื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจชนบทซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตรในช่วงที่มีการระบาดของ
COVID-19
มีแรงงานที่ทำงานในเมืองส่วนหนึ่งย้ายถิ่นฐานกลับไปที่ต่างจังหวัด
ดังนั้นหากทำให้แรงงานเหล่านี้อยู่ในต่างจังหวัดได้อย่างยั่งยืนจะเป็นการช่วยสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจในต่างจังหวัดได้
“ที่ผ่านมาเราเห็นความเหลื่อมล้ำมีความไม่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจเมืองกับเศรษฐกิจต่างจังหวัดซึ่งคนไทยพึ่งพิงเรื่องการเกษตรเยอะมาก
แต่ผลิตภาพในด้านการเกษตรของเราต่ำมาก
เรามีปัญหาแรงงานสูงอายุที่ไม่สามารถจะพัฒนาผลิตภาพภาคการเกษตรได้
มีปัญหาครอบครัวโหว่กลาง
วันนี้เป็นโอกาสที่จะทำให้สังคมต่างจังหวัดเป็นสังคมที่เข้มแข็งมากขึ้น
ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยต่อเนื่องในระยะยาว”
แนวทางเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ
เน้น High Margin High Premium
ดร.วิรไทกล่าวว่า
สำหรับทิศทางของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
เรื่องสำคัญที่กล่าวกันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนมีการระบาดของ COVID-19
คือจำนวนประชากรไทยที่มีเพิ่มขึ้นและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
ซึ่งหมายความว่าคนไทยในวัยทำงานต้องเลี้ยงดูผู้สูงอายุมากขึ้นไม่ว่าจะโดยตรงหรือผ่านระบบภาษี
ซึ่งอาจส่งผลให้คนไทยมีรายได้ในการใช้ชีวิตที่ลดลงไป
ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องมีการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อทำให้คนไทยมีรายได้มากขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
โดยเรื่องแรกประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับการผลิตที่เน้นเรื่องคุณภาพมากกว่าปริมาณ
หรือการผลิตที่เน้นHigh
Margin High Premium เช่น
การท่องเที่ยวที่ไม่ได้เน้นเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยวแต่ให้ความสำคัญกับคุณภาพ
ความปลอดภัย ความสะอาด เช่นMedical
Tourism
“High Margin
High Premium ไม่ใช่การอยากได้จำนวนมากที่สุดแต่เน้นที่คุณภาพ
ซึ่งทางเดียวที่จะทำให้คนไทยมีรายได้เพิ่มมากขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น
คือต้องทำงานที่ได้ Margin
สูงขึ้น และ Margin จะสูงขึ้นได้ต้องมีการพัฒนา Productivity ให้ดีขึ้น
โดยจะเป็นเรื่องที่ตอบโจทย์ประเทศไทยได้ในระยะยาว”
เรื่องที่สอง
การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในกระบวนการผลิตเพื่อทำให้ต้นทุนถูกลงและตอบโจทย์ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคได้ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญในทุกอุตสาหกรรม
ทั้งภาคการเกษตร การบริหารจัดการน้ำ การท่องเที่ยวและบริการอื่นๆ
เรื่องที่สาม
แนวคิดเรื่องความคล่องตัวเนื่องจากไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจเปิดขนาดเล็กถูกกระทบจากปัจจัยภายนอกได้ง่าย
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับทรัพยากร ปรับกลไกการทำงาน
ปรับยุทธศาสตร์การตลาดให้ได้รวดเร็ว
“ความคล่องตัวเป็นเรื่องสำคัญ
เห็นได้จากสถานการณ์ COVID-19
คนที่ปรับตัวได้เร็วจะได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างน้อยและมีโอกาสที่จะรอดได้มากกว่า
ซึ่งแปลว่าต้องมีตลาดหลายตลาด ไม่ไปพึ่งกับตลาดเดียว
และความคล่องตัวจะเกิดขึ้นได้เมื่อคนมีทักษะหลายแบบดังนั้นแรงงานจึงต้องมีการพัฒนาทักษะให้ดีขึ้นและหลากหลายมากขึ้น”
เรื่องที่สี่การสร้างภูมิคุ้มกัน
เนื่องจากปัจจุบันโลกมีความผันผวนและความไม่แน่นอนสูง
โดยเฉพาะภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดภัยธรรมชาติและโรคระบาดใหม่ๆ
ดังนั้นการสร้างภูมิคุ้มกันเป็นเรื่องที่สำคัญมากในทุกระดับ
ทั้งระดับเศรษฐกิจมหภาค ในเรื่องสัดส่วนการก่อหนี้ และทุนสำรองระหว่างประเทศ “การมีภูมิคุ้มกันที่ดีจะทำให้มีกันชนเพื่อรับแรงปะทะจากปัจจัยภายนอกได้
เห็นได้จากรอบนี้ประเทศที่กู้เงินต่างประเทศเยอะจะเจ็บหนัก ตอนนี้ IMF มีสมาชิกทั้งหมด
194 ประเทศ มีประเทศที่ไปขอความช่วยเหลือถึง 102 ประเทศ
แต่ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ไม่ได้ขอกู้แต่เรามี Credit Line ให้IMFกู้ได้มาระยะหนึ่งแล้วหากทางIMF ต้องการใช้เพิ่มก็สามารถ
Draw Downได้ซึ่งเป็นผลมากจากการมีกันชนที่ดีในระดับเศรษฐกิจมหภาค”
ดร.วิรไทกล่าวว่า
หากมองลงลึกถึงภูมคุ้มกันระดับครัวเรือนต้องดำเนินการในหลายรูปแบบไม่ใช่ประชาชนทุกคนต้องเพิ่มเงินออมอย่างเดียว
แต่ยังรวมไปถึงสวัสดิการจากรัฐ
การมีประกันสังคมที่ดีที่จะช่วยดูแลความมั่นคงของครัวเรือนของสังคม
สำหรับภูมิคุ้มกันในภาคการเงิน
มาจากทุนของธนาคารพาณิชย์ที่ต้องอยู่ในระดับสูง
ในขณะเดียวกันก็ต้องมีกลไกในการเข้าไปดูแลเมื่อมีปัญหาในระบบการเงินเพื่อไม่ให้ลุกลามออกไปจนเกิดปัญหาทั้งระบบ
โดยธปท.ให้ความสำคัญกับการบริหารเงินกองทุนและการบริหารสภาพคล่องของสถาบันการเงิน
ซึ่งปัจจุบันระบบสถาบันการเงินโดยรวมมีเงินกองทุนที่อยู่ในระดับที่ดีสามารถที่จะเป็นกันชนได้
อย่างไรก็ตาม
การบริหารจัดการเงินกองทุนยังเป็นเรื่องที่สำคัญเนื่องจากแม้ว่าสถานการณ์ COVID-19
คลี่คลายลงแต่อาจจะมีการระบาดอีกระลอกหรือการระบาดของประเทศทั่วโลกแล้วส่งผลกระทบมายังเศรษฐกิจไทยและกระทบกับลูกหนี้ของสถาบันการเงิน
เรื่องที่ห้าความยั่งยืน
โดยในการทำธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น
เนื่องจากทุกอย่างในสังคมมีความเชื่อมโยงกัน
ดังนั้นการทำธุรกิจที่ส่งผลกระทบกับสังคมและสิ่งแวดล้อมอาจส่งผลกลับมาเป็นความเสี่ยงของภาคธุรกิจได้
แบงก์ชาติวิถีใหม่
ต้องคล่องตัว-ทันการณ์
ดร.วิรไทกล่าวว่า
นอกจากภาคธุรกิจและประชาชนจะต้องเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจและการใช้ชีวิตวิถีใหม่แล้ว
ธปท.ต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สามารถดูแลเสถียรภาพระบบการเงินให้เท่าทันต่อโลกยุคใหม่ด้วยเช่นกัน
โดยเรื่องแรกคือ ธปท.ต้องมีความคล่องตัว
ซึ่งจะเห็นได้จากในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ธปท.เป็นธนาคารกลางแรกๆ
ที่ออกมาตรการอย่างครอบคลุมในหลายด้าน เช่น
การส่งเสริมให้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เชิงรุก
เรื่องที่สองคือต้องมองระบบการเงินในภาพใหญ่มากขึ้น
โดยไม่ได้มองแค่มุมของสถาบันการเงินเพียงอย่างเดียว
แต่ต้องทำงานร่วมกับหน่วยง่านอื่น เช่น
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
เพื่อที่จะสามารถดูแลระบบการเงินได้อย่างครอบคลุม
“แบงก์ชาติวิถีใหม่ต้องเป็นธนาคารกลางที่มีความคล่องตัว
ทันการณ์ ตอบสนองต่อสัญญาณทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว
รวมถึงมองระบบการเงินในภาพที่ใหญ่มากขึ้น สามารถทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น
เพื่อดูแลระบบการเงินในช่วงที่เกิดวิกฤติได้”
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ธปท.ได้มีการทำแผนการดำเนินงานระยะสามปี
(2563-2565) โดยเริ่มใช้ปี 2563 เป็นปีแรก
และในแผนงานได้มีการกำหนดความท้าทายของธนาคารกลางในโลกใหม่เช่น
ระบบการเงินเข้าสู่โลกการเงินดิจิทัลอย่างรวดเร็ว
กรอบและกลไกการกำกับดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ต้องเท่าทันกับความเสี่ยงและสภาพแวดล้อมใหม่นโยบายการเงินและนโยบายการคลังต้องคำนึงถึงขีดจำกัดโดยเฉพาะจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง
โดยหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19
ไม่ได้ทำให้แผนงานที่ธปท.วางไว้เปลี่ยนไป แต่ทำให้
ธปท.ต้องดำเนินการตามแผนให้เร็วขึ้น
แต่สิ่งที่ไม่ได้อยู่ในแผนงานคือเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ซึ่งต้องให้ความสำคัญมากขึ้นและทำให้เร็วขึ้น
“หนึ่งในภารกิจของธปท. คือการป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติและหากเห็นสัญญาณที่ไม่ดีต้องสามารถตอบสนองได้เร็ว ซึ่งวิกฤติ COVID-19 รอบนี้เป็นการทดสอบตัวเราเองว่าเราสามารถตอบสนองในหลายเรื่องได้อย่างรวดเร็ว”
ติดตามคอลัมน์ Exclusive Interview ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนสิงหาคม
2563 ฉบับที่ 460 บนแผงหนังสือชั้นนำทั้่วประเทศและในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi