Exclusive Interview : กฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง

กฤษฎา จีนะวิจารณะ
ปลัดกระทรวงการคลัง
คลังเร่งมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
มั่นใจจีดีพีปี 64 ไม่ติดลบ
การระบาดของโควิด-19
ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ต้นปี 2563
โดยกระทรวงการคลังได้ออกมาตรการเพื่อดูแลระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องประกอบกับไทยสามารถควบคุมการระบาดได้ดีส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ตามได้มีการระบาดระลอก 2
ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาแต่ไม่ได้กระทบกับเศรษฐกิจไทยรุนแรงเท่าการระบาดในรอบแรก
กฤษฎา
จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์พิเศษ การเงินธนาคาร ว่า
เศรษฐกิจไทยในปี 2564 มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกขณะที่กระทรวงการคลังพร้อมออกมาตรการดูแลประชาชนอย่างครอบคลุมทั้งในทุกด้าน
ดังนั้นมั่นใจได้ว่าเศรษฐกิจไทยปีในปี 2564 จะเติบโตได้มากกว่าปี 2563 อย่างแน่นอน
“เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกความคืบหน้าของวัคซีนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศประกอบกับประเทศไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง
ขณะที่การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในภาพรวมยังไม่รุนแรงเท่ากับรอบแรก
ดังนั้นมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ดีกว่าปี 2563 แน่นอน”
เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้น
คาดจีดีพีปี 64 โต 2.8%
กฤษฎา กล่าวว่า ประเทศไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19
รอบแรกในช่วงต้นปี 2563
โดยการแพร่ระบาดทำให้เกิดการปิดเมืองหรือการล็อกดาวน์ประมาณ 3 เดือน
นอกจากนี้ประชาชนมีความตื่นตระหนกทำให้การบริโภคของประชาชนเกิดการหยุดชะงัก
ผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจจึงค่อนข้างมาก โดยจีดีพีไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 อยู่ที่
-12.2% อย่างไรก็ตามไทยมีการบริหารจัดการและควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ดี
ตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 3 ของปี 2563 จึงดีขึ้นจากไตรมาส 2 โดยอยู่ที่ -6%
ทั้งนี้ ในช่วงปลายปี
2563 ได้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่
นำไปสู่การประกาศพื้นที่ควบคุมในหลายจังหวัด
กิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ที่มีการระบาดจึงได้รับผลกระทบ เช่น
ภาคการผลิตอุตสาหกรรม ภาคบริการ และการลงทุนภาคเอกชน
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดของโควิด-19
ระลอกใหม่ในภาพรวมยังไม่รุนแรงเท่ากับสถานการณ์การระบาดในรอบแรก
โดยแม้ภาครัฐจะมีมาตรการคุมเข้ม แต่ก็ยังเปิดให้มีการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ
ได้เกือบเป็นปกติ ดังนั้น
การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักเมื่อเทียบกับการแพร่ระบาดของรอบที่ผ่านมา
ขณะที่ ปลายเดือนมกราคม
2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มดีขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี
โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจเร็ว (Rapid
Economic Indicator) ในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์
2564 ส่งสัญญาณฟื้นตัว สะท้อนจากดัชนี Google Mobility ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564
มีสัญญาณปรับตัวที่ดีขึ้นชัดเจนจากสัปดาห์ก่อนหน้า ในเกือบทุกหมวดเครื่องชี้ เช่น
ร้านค้าปลีกและที่หย่อนใจ สถานีขนส่ง และที่ทำงาน ยกเว้นหมวดที่พักอาศัย
“การระบาดของโควิด-19
ระลอกใหม่ส่งผลให้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจากช่วงปลายในปี
2563 อาจจะสะดุดไปเล็กน้อย แต่ก็มีความมั่นใจว่ามาตรการของภาครัฐจะช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อเนื่อง
บวกกับศักยภาพในการรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดของกระทรวงสาธารณสุข
และการร่วมมือของพี่น้องประชาชน จะทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น”
ดังนั้น ภายใต้การระบาดของโควิด-19
ระลอกใหม่กระทรวงการคลังประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2654 จะไม่ติดลบ
โดยคาดว่าเติบโตได้ที่ 2.8% ซึ่งหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็น
ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
มองไปในทิศทางเดียวกันโดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ประมาณ 2.5-3%
“หน่วยงานด้านเศรษฐกิจส่วนใหญ่ไม่ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะติดลบ
ดังนั้นปี 2564 เศรษฐกิจดีแน่นอนแต่ต้องมาดูว่าจะดีขึ้นได้แค่ไหน
ซึ่งมีปัจจัยที่ต้องจับตา เช่น ความคืบหน้าของวัคซีน
อย่างไรก็ตามไทยมีศักยภาพด้านสาธารณสุขที่ดี ดังนั้นคาดว่าทิศทางของเศรษฐกิจไทยจะเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป”
อย่างไรก็ดี
ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
เช่น การควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา
2019ความสำเร็จในการฉีดวัคซีนของประเทศต่างๆ สถานการณ์การจ้างงานและฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจนโยบายทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักความผันผวนของเงินลงทุนระหว่างประเทศและการเงินโลก
และ ความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง
ออกมาตรการครอบคลุม
การเงิน-การคลัง-ภาษี
กฤษฎากล่าวว่า กระทรวงการคลังได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
อย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นการระบาดในช่วงเดือนธันวาคม 2562
และได้เริ่มดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น
คือมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรน่าต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม
ระยะที่ 1 ถึงระยะที่ 3
ระยะที่ 1 (ครม.อนุมัติเมื่อ 10 มีนาคม 2563) การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่รุนแรงนักโดยมาตรการในระยะนี้จึงเป็นมาตรการ “ป้องกันความเสี่ยง” ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อผู้ประกอบการ ควบคู่ไปกับการบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนทั่วไป ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุน เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนและได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ได้แก่ มาตรการพักต้นเงินลดดอกเบี้ยและการขยายระยะเวลาชำระหนี้แก่ลูกหนี้ มาตรการลดอัตราภาษีและมาตรการเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการ รวมถึงมาตรการเพื่อภาระค่าครองชีพ เช่น มาตรการลดค่าน้ำค่าไฟ มาตรการลดและเลื่อนค่าธรรมเนียมการบริการของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น
ระยะที่ 2 (ครม.อนุมัติเมื่อ 24 มีนาคม 2563) การแพร่ระบาดเริ่มขยายตัวเป็นวงกว้าง ดังนั้นมาตรการในระยะนี้ จึงเป็นมาตรการ “เร่งด่วน” ที่มีเป้าหมายเพื่อดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติความยากลำบากไปได้ เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกันมีผู้ได้รับความช่วยเหลือทั้งสิ้น 15.3 ล้านคน โดยเงินช่วยเหลือประกอบด้วย เงินงบประมาณ 70,000 ล้านบาท และเงินกู้จากพระราชกำหนดเงินกู้ (พ.ร.ก. กู้เงินฯ) ของมาตรการระยะที่ 3 จำนวน 170,000 ล้านบาท
นอกจากนี้
มาตรการระยะนี้จะเน้นวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสภาพคล่องและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19
เช่น การให้สินเชื่อฉุกเฉิน สินเชื่อพิเศษเพิ่มเติม และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
ตลอดจนอำนวยความสะดวกและลดภาระให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องหยุดกิจการ เช่น
การเลื่อนเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล
เป็นต้น
ระยะที่
3 (ครม.อนุมัติเมื่อ 7 เมษายน
2563) กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวด้วยความยากลำบาก
เนื่องจากยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยวภายในประเทศและความต้องการของต่างประเทศยังคงอ่อนแอ
ดังนั้น มาตรการจึงเน้นการบรรเทา ฟื้นฟูเศรษฐกิจ
และป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
ตลอดจนรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและเศรษฐกิจ
โดยรัฐบาลได้ออก
พ.ร.ก.กู้เงินฯ วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย 3 แผนงาน ได้แก่ แผนงานที่
1 ด้านสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท แผนงานที่ 2
ด้านการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ วงเงิน 555,000 ล้านบาท และแผนงานที่
3 ด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 400,000 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 3 ส่วนยังคงมีการเบิกจ่ายอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ภายใต้
พ.ร.ก.กู้เงินฯ ข้างต้น กระทรวงการคลังได้มีการดำเนินมาตรการช่วยเหลือ เยียวยา
และชดเชยให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ แรงงาน ลูกจ้าง ผู้ประกอบอาชีพอิสระ
และผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
นอกจากนี้
กระทรวงการคลังได้ดำเนินมาตรการสนับสนุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
ไม่ว่าจะเป็นมาตรการเพื่อรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ ได้แก่
โครงการช้อปดีมีคืน โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 1 และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2
เพื่อกระตุ้นการบริโภคและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน รวมถึงโครงการของกระทรวงอื่นๆ
ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินฯ เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการกำลังใจ
โครงการสนับสนุนการจ้างงาน ฟื้นฟูเศรษฐกิจ และโครงการด้านสาธารณสุขต่างๆ
“จากการที่รัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่ระบาดและบริหารจัดการสถานการณ์ภายในประเทศได้เป็นอย่างดีและผลของมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรน่า
2019 ของรัฐบาล
ส่งผลให้สามารถดำเนินมาตรการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
และภาคเอกชนสามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ทำให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมเริ่มฟื้นตัวได้ตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2563 เป็นต้นมา”
กฤษฎากล่าวว่า
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่
ซึ่งนำไปสู่การประกาศพื้นที่ควบคุมในหลายจังหวัด รัฐบาล
โดยกระทรวงการคลังจึงได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพิ่มเติมในปี 2564
เพื่อบรรเทาผลกกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการและประชาชนจากสถานการณ์ที่ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้
ประกอบด้วย
มาตรการการเงิน
เมื่อวันที่ 12 มกราคม
2564 กระทรวงการคลังร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจดำเนินมาตรการเพิ่มเติมในส่วนของมาตรการการเงิน
เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้กับผู้ประกอบการและประชาชน ประกอบด้วย
1.
มาตรการเสริมสภาพคล่อง (สินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ) สำหรับผู้ประกอบการ เช่น
โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
(Soft Loan ท่องเที่ยว)
โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย (สินเชื่อ Extra Cash) เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการช่วยเหลือทางการเงินสำหรับประชาชน เช่น
โครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน
และโครงการสินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ
2. มาตรการบรรเทาภาระหนี้สิน (พักชำระหนี้) ผ่านการขยายเวลาการชำระหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการให้สินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง รวมถึงมีการติดต่อลูกค้าเพื่อช่วยเหลือในเชิงรุก สำหรับลูกค้าที่อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามประกาศของ ศบค.
มาตรการการคลังเมื่อวันที่
19 มกราคม 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการเราชนะ
ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือด้วยการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19
โดยสนับสนุนวงเงินช่วยเหลือให้แก่ประชาชน จำนวน 31.1 ล้านคน วงเงินไม่เกิน 3,500
บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 2564
โดยผู้ได้รับสิทธิ์สามารถใช้วงเงินได้ถึงเดือนพฤษภาคม 2564
มาตรการภาษีเมื่อวันที่
26 มกราคม 2564
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาด
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อภาคธุรกิจและภาคประชาชน เช่น
มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย
การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้
หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม
ในส่วนของการดำเนินมาตรการในระยะต่อไป
จะต้องประเมินดูสถานการณ์ของการแพร่ระบาดเป็นระยะๆ
โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับมาตรการด้านเศรษฐกิจควบคู่ไปกับด้านสาธารณสุข
โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด
และจะดูแลภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19 เช่น ภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการต่างๆ
ให้มีสภาพคล่องที่เพียงพอสำหรับการดำเนินกิจการต่อไปได้
จับตา 8 ความท้าทาย
ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
กฤษฎากล่าวว่า ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมีความท้าทายที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่
1.
การควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
รวมถึงความสำเร็จในพัฒนาและการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง ซึ่งวิกฤติโควิด-19
ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังรายได้ของประชาชน การจ้างงาน
และการประกอบกิจการของภาคเอกชน
โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและการค้าขาย
2.
การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เหมาะสมกับสังคมในฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา
กระทรวงการคลังก็ได้ส่งเสริมให้ประชาชนและผู้ประกอบการก้าวเข้าสู่ระบบสังคมไร้เงินสด
(Cashless Society) ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น
ดังจะเห็นได้จากมาตรการที่กระทรวงการคลังที่ได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา อาทิ
โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และโครงการเราชนะ
ตลอดจนการส่งเสริมให้มีการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีผ่านระบบอินเทอร์เน็ตมากขึ้น
ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ในระยะยาว
อีกทั้ง ได้มีกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ
(e-Services) ซึ่งจะช่วยสร้างความเท่าเทียมระหว่างผู้ให้บริการในไทยและผู้ให้บริการในต่างประเทศ
อีกทั้งยังมีส่วนในการเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐบาลอีกด้วย
3.
การปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่พึ่งพาการใช้จ่ายภายในประเทศมากขึ้น
หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2540-2541 เป็นต้นมา
เศรษฐกิจไทยถูกขับเคลื่อนโดยอุปสงค์จากต่างประเทศเป็นสำคัญ
สะท้อนได้จากสัดส่วนการส่งออกสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดอยู่ที่
71% ของ GDP ในปี
2562 ทำให้เศรษฐกิจมีความผันผวนไปตามสถานการณ์โลกอย่างมีนัยสำคัญ
รวมทั้งการบริหารจัดการและดูแลภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมาก
4.
การเร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพและปฏิรูปโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล
ขยายฐานภาษี และพัฒนาการบริหารจัดการทรัพย์สินของรัฐอย่างต่อเนื่อง
โดยปรับปรุงกฎหมาย นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้
“ที่ผ่านมาการจัดเก็บรายได้ต่อจีดีพีของไทยอยู่ที่ประมาณ
16-17%แต่ปัจจุบันการจัดเก็บรายได้ลดลงอยู่ที่ประมาณ 14%
ในอนาคตเมื่อเศรษฐกิจฟื้นเป้าหมายแรกของกระทรวงการคลังคือทำให้สัดส่วนการจัดเก็บรายได้ต่อจีดีพีกลับไปเท่าเดิม
แล้วค่อยๆขยับขึ้นสู่ระดับที่คิดว่าเหมาะสมคือ 20%”
5.
การกระจายความเจริญไปยังภูมิภาคให้มากขึ้น จากผลรวมของผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Product : GPP) ยังกระจุกตัวในกรุงเทพฯและปริมณฑล
และจังหวัดในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วยสัดส่วนสูงถึง 70% ของ GDP สะท้อนปัญหาความมั่นคงของเศรษฐกิจภูมิภาคจากความไม่สมดุลเชิงโครงสร้าง
ดังนั้น รัฐบาลจึงควรเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในระดับท้องถิ่นให้เข้มแข็ง
6.
การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้ไทยเผชิญกับปัญหากำลังแรงงานขาดแคลน
(Labor Shortage) ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตภาคการเกษตร
อุตสาหกรรม และบริการ และถ้าไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน (Labor Productivity) หรือหาปัจจัยทุน
เครื่องมือเครื่องจักร และหุ่นยนต์มาทดแทนได้ ย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขัน
7.
ช่องว่างของเทคโนโลยีที่นำไปสู่ความยากจนและความเหลื่อมล้ำ
เนื่องจากยังมีคนจำนวนมากที่ยังใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีไม่เต็มที่ ดังนั้น
ประเทศไทยจำเป็นต้องมุ่งการกระจายความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปยังเมืองรองให้มากขึ้น
ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อสร้างตำแหน่งงานในภูมิภาค
และช่วยสร้างจุดเด่นทางเศรษฐกิจของแต่ละภาค/กลุ่มจังหวัด เป็นต้น
รวมถึงการยกระดับภาคการเกษตรสู่เกษตรมูลค่าสูง
โดยสร้างแพลตฟอร์มการตลาดดิจิทัล พัฒนาระบบคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย
ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
เพื่อลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ
8.
เร่งผลักดันการลงทุนโครงการปรับปรุงโครงสร้างด้านสาธารณสุข
เร่งรัดโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) และการลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
(Eastern Economic
Corridor : EEC) เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศ
และสนับสนุนการเพิ่มผลิตภาพ(Productivity)ของระบบเศรษฐกิจ
ทั้งนี้
การลงทุนของภาครัฐดังกล่าวข้างต้น ต้องอาศัยเงินลงทุนจำนวนมาก ดังนั้น
ภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญในการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership: PPP) ซึ่งจะทำให้การใช้ทรัพยากรของภาครัฐและเอกชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและภาคเอกชนจะช่วยนำเทคโนโลยี
นวัตกรรมใหม่ตลอดจนความรู้ความเชี่ยวชาญ (Know-how) เข้ามาร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนาประเทศ
โดยที่สำคัญที่สุดคือจะช่วยให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการบริการที่มีประสิทธิภาพด้วยราคาที่เหมาะสม
นอกจากนี้ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ
และช่วยกระตุ้นการลงทุนของประเทศในภาพรวม
ตลอดจนทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น
“ในช่วงเวลาข้างหน้านี้ ถือเป็นความท้าทายอย่างมากของประเทศไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ผ่านพ้นสถานการณ์ COVID-19 โดยกระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด และจะพิจารณาการดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ดีการขับเคลื่อนหรือฟื้นฟูเศรษฐกิจจำเป็นจะต้องอาศัยและได้รับความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อร่วมเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปด้วยกัน”
ติดตามคอลัมน์ Exclusive Interview ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนมีนาคม 2564 ฉบับที่ 467 บนแผงหนังสือชั้นนำทั้่วประเทศและในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi