Special Interview : จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR)

จิราพร ขาวสวัสดิ์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่
บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR)
“OR ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจเข้าจองหุ้นและเป็นส่วนสำคัญในการร่วมสร้างประวัติศาสตร์การ IPO ของ OR ซึ่งมีนักลงทุนรายย่อยให้ความสนใจจองหุ้น OR กว่า 530,000 รายการ มากกว่าที่คาดไว้ ซึ่งตรงกับความตั้งใจของ OR ที่ต้องการให้คนไทยได้เป็นเจ้าของหุ้น OR ได้มากที่สุด”
จิราพร
ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.
น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวถึงปรากฏการณ์
IPO ของหุ้น OR ที่มีจำนวนนักลงทุนรายย่อยมากที่สุดของ
ตลาดหุ้นไทย
หากย้อนไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2561 ปตท. ปรับโครงสร้างบริษัทด้วยการโอนกิจการ
ของหน่วยธุรกิจน้ำมัน ตลอดจนหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องให้แก่
บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)
หรือ OR
โดย OR ดำเนินธุรกิจน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกในฐานะเป็นบริษัท Flagship ของกลุ่ม ปตท. มุ่งแสวงหาโอกาสใหม่ในการดำเนินธุรกิจ
คิดค้นและพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการ
เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีและตรงใจให้แก่ผู้บริโภค
พร้อมทั้งช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการไทยรายย่อย (SMEs) และสร้างการเติบโตร่วมกัน
อีกทั้งยังมุ่งสู่เป้าหมายในการเป็นบริษัทไทยชั้นนำระดับสากลที่สร้างคุณค่าร่วมให้เกิดแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างสมดุลและยั่งยืน
โดยมี จิราพร
ขาวสวัสดิ์
เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ คนแรกของบริษัท
จิราพร
หญิงแกร่งแห่งอาณาจักรธุรกิจน้ำมันของประเทศไทยมายาวนาน เริ่มงานที่ ปตท. ตั้งแต่ปี
2530 ในตำแหน่งนักบัญชี
โดยระหว่างนั้นได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าหน่วยปรับปรุงระบบงาน
Enterprise
Resource Planning (ERP) ของ ปตท.
และได้ออกแบบระบบข้อมูลบัญชีเพื่อการบริหารธุรกิจ
ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่วางแผนหน่วยธุรกิจน้ำมัน
ซึ่งรับผิดชอบดูแลด้านกลยุทธ์และแผนธุรกิจ
ของหน่วยธุรกิจน้ำมัน
ปตท. ในปี 2555
และตำแหน่งกรรมการ
ผู้จัดการใหญ่
บริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด (PTTRM) ในปี 2559 อีกทั้งดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่
หน่วยธุรกิจน้ำมัน ปตท. ก่อนจะข้ามมาดูแลธุรกิจของ OR ในปัจจุบัน
Retailing Beyond Fuel
เป้าหมายที่ไกลกว่าน้ำมัน
จิราพร เผยว่า
การปรับโครงสร้างทางธุรกิจของกลุ่ม ปตท.
โดย OR ในฐานะเป็นบริษัท Flagship ธุรกิจน้ำมัน
และธุรกิจค้าปลีก
ทั้งในและต่างประเทศ
เป็นธุรกิจรูปแบบ B2C รายเดียวของกลุ่ม
ปตท. ดังนั้น การทำงานจะแตกต่างกับธุรกิจอื่นในเครือ โดย OR ให้ความสำคัญแก่ผู้บริโภคและลูกค้า จึงต้องมีการปรับ DNA
ของพนักงานให้สอดคล้องกับธุรกิจ
“โดย DNA ของ OR จะคำนึงถึงผู้อื่นเสมอ
ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า ชุมชนหรือเพื่อนร่วมงานก็ต้องคำนึงถึงซึ่งกันและกัน รวมทั้ง
ต้องเข้าถึงง่าย เปิดรับฟังทุกช่องทาง รวมทั้งต้องมี Empowered สร้างแรงผลักดันให้ทีมมีอิสระในการตัดสินใจเพื่อแก้ไขปัญหา
ได้ทันเหตุการณ์ มีความเป็นเจ้าของธุรกิจ และสุดท้ายคือ
ต้องสร้างความไว้ใจให้กับผู้บริโภค”
จิราพร กล่าวอีกว่า “รวมพลัง ร่วมสร้าง เพื่อทุกวันที่ดีขึ้น”
คือ
นิยามที่ธุรกิจของ OR จะเติบโตเคียงข้างไปกับสังคม
ชุมชน และสิ่งแวดล้อมพร้อมๆ กัน โดยกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของ OR ต้องได้รับสิ่งที่ดีขึ้นจากการเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว
OR ซึ่งกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจทั้ง 6 ข้อของ OR ที่จะทำให้
เห็นชัดเจนว่าจะสามารถมีทุกวันที่ดีขึ้นได้อย่างไร ประกอบด้วย
กลยุทธ์ที่ 1 “ครอบคลุมมากขึ้น” OR จะขยายธุรกิจและฐานลูกค้าเพื่อคงความเป็นผู้นำในประเทศไทยในตลาดค้าปลีกและตลาดพาณิชย์ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง
ก๊าซปิโตรเลียมเหลว
และผลิตภัณฑ์หล่อลื่นของ
OR ให้เข้าถึงมากขึ้น เพื่อรองรับ
ความต้องการของผู้บริโภค เป้าหมายคือมีสถานีบริการน้ำมัน
PTT Station ถึง 2,500 แห่งภายในปี 2568 ด้วยแนวคิดการเป็น “ศูนย์กลางชุมชน” หรือ “Living Community” เมื่อ OR เติบโต
สังคมและชุมชนก็ได้ประโยชน์
กลยุทธ์ที่ 2 “ตรงใจมากขึ้น” OR เดินหน้าขยายธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่นๆ (Non-Oil) ด้วยการเพิ่มจำนวน
สาขาและพัฒนาแบรนด์ให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่
ผ่านโมเดลธุรกิจแบบ Retailing Beyond Fuel โดยมีสถานีบริการน้ำมัน
PTT Station เป็น Platform ในการขยายธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มทำให้
OR “ใกล้” ลูกค้าให้มากขึ้น
กลยุทธ์ที่ 3 “ก้าวไกลมากขึ้น” ธุรกิจต่างประเทศจะเป็นอีก Growth Engine ของ OR ด้วยแผนผลักดันการเติบโตในระดับภูมิภาคและระดับโลกเพื่อการเป็น
Global Brand ด้วยเป้าหมายเพิ่มสถานีบริการน้ำมัน PTT Station เป็น 650 แห่ง และร้าน
Café Amazon เป็น 550 สาขา โดยเฉพาะในกลุ่ม
CLMV
ทั้งในกัมพูชา
ลาว เมียนมา และเวียดนาม โดย OR จะใช้กลยุทธ์ Good Citizen ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการท้องถิ่น
ร่วมลงทุนได้ โดย OR ยังคำนึงถึงผู้บริโภคเป็นหลักโดยจะมีการ
ปรับสินค้าให้เหมาะกับผู้บริโภคท้องถิ่น (Localize) มากขึ้น
กลยุทธ์ที่ 4 “ครบวงจรมากยิ่งขึ้น” OR เข้าใจ Mobility Ecosystem ที่เน้นบริการเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า และ Lifestyle Ecosystem ที่ความต้องการของผู้บริโภคปรับไปสู่โลกออนไลน์ มากขึ้น โดย OR จะเป็น The Best Neighborhood Lifestyle Destination ซึ่งไม่ว่ารูปแบบการใช้รถในอนาคตจะเป็นอย่างไร OR จะสร้าง แหล่งช้อปปิ้ง ร้านอาหารให้กับชุมชน เพราะคนจะ Work from Home และใช้บริการร้านใกล้บ้านด้วย นอกจากนี้ยังมีการสื่อสาร การตลาดที่เป็น Omni Channel
กลยุทธ์ที่ 5 “ประสิทธิภาพที่ดีมากยิ่งขึ้น” ด้วยการลงทุนด้านเทคโนโลยีและ Supply Chain เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
ในการบริหารต้นทุนและรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาดต
เช่น การก่อสร้างโรงงานเบเกอรี่ส่วนกลาง โรงงานผงผสมเครื่องดื่ม
และศูนย์กระจายสินค้าสำหรับธุรกิจ Café Amazon และต่อยอดศักยภาพการวิเคราะห์ข้อมูลจากฐานข้อมูลบัตร Blue Card ที่มีสมาชิกประมาณ 7 ล้านราย
เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า
กลยุทธ์ที่ 6 สร้าง “คุณค่าที่ดียิ่งขึ้น” ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย
ครอบคลุมทั้งประเทศ สังคม ชุมชน ผู้ถือหุ้น
ลูกค้า คู่ค้า และพนักงาน
เดินหน้าแผน 5 ปี
สร้างการเติบโตระยะยาว
สำหรับแผนลงทุนช่วง 5 ปี ระหว่างปี 2564-2568
จิราพร
เปิดเผยว่า OR มีงบประมาณทั้งสิ้น 74,600
ล้านบาทที่มีแผนการลงทุนในระยะกลางถึงระยะยาว โดยธุรกิจน้ำมัน OR คาดว่าปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงรวมจะเพิ่มขึ้นตามอัตราการเติบโต
ของตลาด และคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นของน้ำมันเชื้อเพลิงต่อลิตรจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต
ขณะที่การแข่งขันของตลาดอาจสูงขึ้นจากการขยายสาขาของผู้เล่นรายอื่นๆ แต่เชื่อว่าด้วยความโดดเด่นของโมเดลธุรกิจ
ของ OR ที่เป็น Integrated
Platform ระหว่าง Oil และ Non-Oil รวมถึงเครือข่ายของสถานีบริการน้ำมันที่มีมากกว่า
2,000 แห่ง
และเตรียมขยายให้ได้
2,500 แห่งในปี 2568 ด้วยแบรนด์
PTT Station ที่แข็งแกร่ง ที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคมายาวนาน
กว่า 40 ปี
จะทำให้ธุรกิจน้ำมันของ OR เดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน
ทางด้านธุรกิจค้าน้ำมันเชิงพาณิชย์ OR คือ Energy Solution Provider เพื่อนคู่คิดเคียงข้างธุรกิจครบวงจร เชื่อว่า OR มีศักยภาพจากความเป็นผู้นำในการจำหน่ายเชื้อเพลิงทุกประเภท
สำหรับธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่นๆ
(Non-Oil)
เช่น Café Amazon ที่เป็นแบรนด์กาแฟชั้นนำของประเทศ
และมีจำนวนสาขาเป็นอันดับที่ 6 ของโลก ตลาดกาแฟไทย
ยังสามารถเติบโตได้
เพราะคนไทยบริโภคกาแฟเพียง 1.2 กิโลกรัม
ต่อคนต่อปี ในขณะที่ประเทศอื่นๆ มีการบริโภคกาแฟที่
สูงกว่านี้มาก เช่น คนญี่ปุ่นที่บริโภคกาแฟ 3 กิโลกรัมต่อคน
ต่อปี
อีกทั้ง Café Amazon ยังสามารถมีลูกค้าเพิ่มเติมจาก
การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนจากการบริโภคกาแฟสำเร็จรูปมาบริโภคกาแฟสด
การเติบโตของ Café Amazon ผ่านการขยายสาขากว่า
3,300 สาขา ทั้งในและนอกสถานี
บริการน้ำมัน
การเพิ่มมูลค่าการซื้อต่อครั้ง (Ticket Size) และ
การเพิ่มเมนูเครื่องดื่ม
“ในช่วงการระบาดของโรค
COVID-19 ที่ผ่านมา Café Amazon ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพว่ายังสามารถเติบโตได้และยังมี
ยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากช่องทาง Delivery ซึ่ง OR มีแผนขยายจำนวนสาขาร้านกาแฟ
Café Amazon ให้ครอบคลุมกว่า 5,200 สาขา
ทั่วประเทศ ภายในปี 2568”
อย่างไรก็ดี ที่สำคัญมองหาและเปิดรับโอกาสใหม่และบริการอื่นๆ
ร่วมกับพันธมิตรมืออาชีพให้เติบโตได้เร็ว ล่าสุดได้ทำ Cloud Kitchen ร่วมกับ LINE MAN Wongnai และธุรกิจ Logistics
ร่วมกับ Flash Express ซึ่งปัจจุบันได้ศึกษาข้อมูลและความเป็นไปได้
ในการทำ M&A และ JV ต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ
ในการแข่งขันให้กับ OR อย่างต่อเนื่อง
สำหรับบางธุรกิจยังอยู่ในช่วงเริ่มลงทุน
เช่น Texas Chicken ที่อนาคตจะเดินหน้าตาม PTT Station และ Café Amazon โดยจะเปิดให้มีแฟรนไชส์ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุงคุณภาพให้พร้อม
และมีเป้าหมายในการขยาย 20 สาขาต่อปี
ในช่วงปี 2563-2568
บริษัทคาดว่าจะเห็นอัตรากำไรที่ดีขึ้นจากการประหยัดต่อขนาด (Economy of
Scale) จากธุรกิจ Non-Oil ที่ OR เพิ่งเริ่มลงทุนเหล่านี้
ส่วนธุรกิจต่างประเทศ OR คาดว่าปริมาณจำหน่ายน้ำมัน
เชื้อเพลิงทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นตามอัตราการเติบโตของตลาดใน
แต่ละประเทศ และ OR จะสรรหาผู้ประกอบการท้องถิ่น
(Local
Partnering) เพื่อร่วมลงทุนและขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง
“ตลาดต่างประเทศของธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจน้ำมัน
คาดว่า
จะขยายสาขาร้าน Café Amazon ใน CLMV เอเชียตะวันออก
และตะวันออกกลาง รุกตลาดทั้งในและนอกสถานีบริการ
น้ำมันด้วย”
สำหรับประเทศที่มีรากฐานอยู่แล้ว เช่น
ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และลาว OR วางแผนที่จะขยายสถานีบริการน้ำมัน
PTT Station เป็น 650 แห่ง Café Amazon ขยายสาขาเป็น 550 สาขา ภายในปี 2568 ขยายธุรกิจ LPG พร้อมคลังเก็บผลิตภัณฑ์
และขยายธุรกิจผลิตภัณฑ์หล่อลื่นเจาะฐานลูกค้าใหม่
สำหรับแผนรองรับยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV นั้น จิราพร MB
บอกว่า OR มีแผนติดตั้ง EV Station ในสถานีบริการน้ำมัน
PTT Station ซึ่งในปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว จำนวน 30 สาขา และ
มีแผนที่จะติดตั้งเพิ่มเติมให้ครอบคลุมในทุกเส้นทางหลักทั่วประเทศ
นอกจากนี้ มีแผนที่จะให้บริการการซ่อมบำรุงรถ EV ในอนาคต
และแผนการพัฒนา Application “EV Station” ที่จะช่วยอำนวย
ความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการ
อย่างไรก็ดี OR
ยังพร้อมแสวงหาโอกาสในการขยายจุดชาร์จในพื้นที่ต่างๆ
รวมถึงร่วมมือกับคู่ค้าอื่นๆ เพื่อสร้างระบบนิเวศการใช้ EV ในประเทศไทยให้สมบูรณ์ และตอบโจทย์ผู้ใช้รถ EV ให้ได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางมากที่สุด
“สถิติการใช้บริการในสถานีบริการน้ำมัน
พบว่า ลูกค้าจะ
ใช้เวลาในสถานีบริการน้ำมันของเราราว
25 นาที แต่เติมน้ำมันเพียง 4 นาที
เวลาที่เหลือจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ และเวลา 20-30
นาทีที่ใช้ชาร์จรถ EV ใกล้เคียงกับที่ลูกค้าอยู่ในสถานีบริการน้ำมันอยู่แล้ว
จึงไม่ได้มองว่า EV มากระทบธุรกิจ
แต่เป็นโอกาส เพราะในสถานีบริการน้ำมันมีพื้นที่ว่างพอจะลงทุนระบบรองรับ EV และปรับธุรกิจ
Non oil ให้เป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น”
ทั้งนี้ OR มองหาโอกาสในการลงทุนธุรกิจใหม่และธุรกิจ
ที่ต่อยอดจากเดิมที่มีอยู่แล้ว โดย OR จัดสรรงบลงทุน (CAPEX)
ส่วนหนึ่งในแผนลงทุนทุกปี
สำหรับธุรกิจใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อนจะลงทุนผ่านบริษัทลูก 100% ที่ตั้งขึ้นใหม่คือ Modulus Venture ในอนาคตพร้อมลงทุนเพิ่มในธุรกิจอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยว Health &
Wellness รวมไปถึง Digital
Lifestyle ต่างๆ ที่จะตอบสนอง
ต่อผู้บริโภคและกลุ่มลูกค้าหากการลงทุนให้ผลตอบแทนที่เหมาะสม
และตอบพันธกิจในการช่วยเหลือสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม
และประเทศชาติที่ OR ให้ความสำคัญมาโดยตลอด
“ในส่วนของขนาดการลงทุนไม่ได้มีข้อจำกัด
ขอให้เป็น
การลงทุนที่ดีและมีความเหมาะสม
ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน
ในหลักร้อยล้านไปจนถึงพันล้าน
โดยจะให้ Priority กับการลงทุน
ที่สามารถใช้ประโยชน์และจุดแข็งที่มีอยู่ เช่น Network ของ
PTT Station และร้าน Café Amazon เป็นต้น สำหรับโอกาส M&A นั้นมีเข้ามาเรื่อยๆ”
People Planet Profit
เดินหน้าด้วยกันอย่างยั่งยืน
“เป้าหมายของ OR คือการมุ่งสู่การเป็นแบรนด์ไทยระดับสากล
ที่สร้างคุณค่าให้แก่ชุมชนและสิ่งแวดล้อม
พร้อมเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกันหรือที่เรียกว่า Together For Betterment เพราะเชื่อว่า รวมพลัง ร่วมสร้าง เพื่อทุกวันที่ดีขึ้น” จิราพร กล่าว
ทั้งนี้
เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายผ่านการทำธุรกิจทั้งน้ำมัน ธุรกิจค้าปลีก
และธุรกิจต่างประเทศจะต้องให้ความสำคัญ 3 ด้าน
อย่างสมดุล ได้แก่ People การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
ชุมชน
และสังคม Planet การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
และ Profit การดำเนินธุรกิจที่สร้างผลกำไรอย่างเหมาะสม
โดยเฉพาะในด้านของ People สำหรับ OR นั้น ไม่ว่าจะ
ธุรกิจน้ำมันและธุรกิจค้าปลีก เป้าหมายของ OR คือการเป็นผู้สร้างแบรนด์
สร้างผลิตภัณฑ์และเปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วมจากภายนอกอย่างที่ได้เห็นจาก PTT Station ที่ปัจจุบันมีกว่า 2,000 แห่ง
จะเป็นของดีลเลอร์ 80% ส่วนที่เป็นของ OR เองมี 20% เช่นเดียวกับ Café Amazon ที่มีกว่า 3,300 สาขา
เป็นร้านของคู่ค้า
แฟรนไชส์ถึง 80%
ส่วนในแง่ของชุมชน OR จะให้ชุมชนเข้ามาอยู่ในกระบวนการทางธุรกิจขององค์กร ไม่เน้นการทำ
CSR หรือบริจาคเพียงครั้งเดียว
โดย OR จะสนับสนุนตลาดและช่องทางการจำหน่ายสินค้า
ให้กับชุมชน เช่น โครงการไทยเด็ด
ทั้งนี้ โครงการไทยเด็ด เริ่มช่วงปลายปี
2561
ช่วยส่งเสริมสินค้าวิสาหกิจชุมชนนำมาจำหน่ายในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station โดยได้รับผลตอบรับที่ดี เช่น
สินค้ากระเทียมดำจากจังหวัดลำพูนสามารถเพิ่มยอดขายเป็น 2 เท่า
หรือผัดไทยภูเขาไฟที่ใช้ดินภูเขาไฟในการปลูกข้าวที่บุรีรัมย์ก็มียอดขายเพิ่มขึ้น
จากกำลังการผลิตเดิมเริ่มไม่เพียงพอจึงได้จ้างคนในชุมชนทำให้มีการจ้างงานและมีรายได้
เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบัน โครงการไทยเด็ดมีวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า
200 ชุมชน นอกจากนี้ Café Amazon ก็รับสินค้าจากชุมชนโดยเข้าไปจำหน่ายในร้านด้วย
หรือแม้แต่เมล็ดกาแฟที่ใช้ใน Café Amazon กว่า 5,100 ตันต่อปี
ก็มาจากเกษตรกรไทย 100% ซึ่ง OR เข้าไปช่วยพัฒนาการปลูกกาแฟให้กับเกษตรกรไทย
“ESG (Environmental, Social, Governance) สิ่งสำคัญ
คือ
ต้องนำทุกภาคส่วนมาอยู่ในธุรกิจไม่ใช่เป็นแค่ Gimmick
โดย OR ได้เริ่มโครงการ Café Amazon for Chance ให้โอกาส
ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม
ได้แก่ ผู้พิการทางการได้ยิน ผู้พิการทางการเรียนรู้ ผู้สูงวัย และทหารผ่านศึก
มาเป็นบาริสต้าได้มีอาชีพที่ถาวรสร้างรายได้ เกิดความภาคภูมิใจ
รู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง ไม่เป็นภาระกับครอบครัว”
Café Amazon for Chance
มี 11 สาขา และภายใน 5 ปี
จะเพิ่มเป็น 200 สาขา โดยต้องลงทุนปรับอุปกรณ์
ปรับกระบวนการแต่ละขั้นตอนใหม่เพื่อให้ผู้พิการหรือผู้สูงวัยทำงานได้สะดวก
เช่น ใช้เครื่องชงอัตโนมัติ เพิ่มการสื่อสารระหว่างผู้บริโภคกับ
ผู้ให้บริการ เช่น อุปกรณ์กดสั่งเมนู หรือ ภาษามือง่ายๆ
เพื่อเกิด
การสื่อสารได้
พิจินต์ อภิวันทนาพร
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารการเงิน
บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR
“เมื่อพิจารณารายได้ขายและบริการ เทียบกับ EBITDA จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า รายได้ขายและบริการของ Non-Oil แม้จะมีสัดส่วนที่น้อยกว่า Oil แต่มีสัดส่วนใน EBITDA สูงกว่า ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลการดำเนินธุรกิจแบบ Retailing Beyond Fuel โดยมีเครือข่ายสถานีบริการน้ำมัน PTT Station เป็น Platform ในการสร้างเครือข่ายสาขาธุรกิจอาหารและ เครื่องดื่ม”
กางแผนลงทุน 5 ปี
พร้อมปันผลให้ผู้ถือหุ้น
พิจินต์ อภิวันทนาพร
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด
(มหาชน) หรือ OR เปิดเผยถึงแผนลงทุนช่วง
5 ปี ระหว่างปี 2564-2568 เป็นงบประมาณทั้งสิ้น 74,600 ล้านบาท
เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยแบ่งสัดส่วนเป็นดังนี้
กลุ่มธุรกิจน้ำมันสัดส่วนลงทุน 34.6% การขยายเครือข่ายสถานีบริการน้ำมัน PTT Station เพื่อรองรับความต้องการของ
ผู้บริโภคให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่มีศักยภาพประมาณ 100 แห่งต่อปี เพิ่มเป็น 2,500 แห่งทั่วประเทศ ภายในปี 2568
รวมทั้งการขยายธุรกิจสำหรับตลาดพาณิชย์
ทั้งสร้าง
ศูนย์บริการยานยนต์
FIT Auto แห่งใหม่ ลงทุนในถังก๊าซหุงต้ม
และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง
เพื่อขยายตลาดและทดแทนถังก๊าซหุงต้มที่เสื่อมสภาพ
สร้างโรงซ่อมถังก๊าซหุงต้มใหม่ทดแทนโรงซ่อมเดิมและขยายกำลังการซ่อมลงทุนในอุปกรณ์เพื่อสนับสนุนการขาย
และการให้บริการตลาดลูกค้าอุตสาหกรรม
การลงทุนในเครือข่ายคลังเก็บผลิตภัณฑ์
สร้างคลังเก็บผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมแห่งใหม่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สร้างศูนย์กระจายผลิตภัณฑ์หล่อลื่นอัตโนมัติ (Automated
Lubricants Distribution Center) ปรับปรุงคลังเก็บผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
ด้วยเทคโนโลยี Smart Terminal และลงทุนด้านการบำรุงรักษา
คลังต่างๆ
กลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น
ๆ (Non-Oil) สัดส่วนลงทุน 28.6%
การขยายเครือข่ายร้านค้าปลีก จะขยายสาขา
Café Amazon ประมาณปีละ 400 สาขาต่อปี
ให้ครอบคลุมกว่า 5,200 สาขาทั่วประเทศ
ภายในปี 2568 และขยายสาขา Texas Chicken ประมาณปีละ 20 สาขาต่อปี
รวมทั้งลงทุนเพื่อ
เพิ่มความหลากหลายของธุรกิจ
ซึ่งอาจรวมถึงการลงทุนในรูปแบบของการควบรวมกิจการ (Merger & Acquisition) หรือการจัดตั้งบริษัทร่วมค้า (Joint Venture)
ปัจจุบัน OR ได้ถือหุ้นของ บริษัท พีเบอรร์รี่ ไทย จำกัด
เพื่อให้ OR สามารถขยายขอบเขตและเสริมความแข็งแกร่งใน
การประกอบธุรกิจกาแฟอย่างครบวงจร รวมถึงเปิดโอกาสให้ OR เข้าสู่ตลาดกาแฟมาตรฐานพิเศษหรือ Specialty
Coffee ได้อีกด้วย
โรงงานผลิตและศูนย์กระจายสินค้า
โดยสร้างศูนย์กระจายสินค้า Café Amazon (สนับสนุน
การเติบโต
และลดค่าใช้จ่าย)
สร้างโรงงานผงผสมเครื่องดื่ม
(ควบคุมรสชาติและคุณภาพ)
นอกจากนี้ สร้างโรงงานเบเกอรี่ส่วนกลาง
เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และควบคุมมาตรฐานและคุณภาพ โดยจะยังคงมุ่นเน้นการให้ชุมชน
มีส่วนร่วม แม้จะตั้งโรงงานเบเกอรี่เองแต่ก็รับสินค้าจาก SME มาจำหน่ายสัดส่วน 70% ส่วนอีก 30% จะใช้สินค้าจากโรงงานของ OR ทั้งนี้
ยังมีแผนสร้างโรงงานผลิตน้ำบรรจุขวด ทั้งการผลิตภายใต้แบรนด์ของ
OR และรับจ้างผลิตด้วย
ล่าสุดได้เข้าลงทุนในบริษัท
ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด
ผู้ดำเนินกิจการร้านอาหารเพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ “โอ้กะจู๋” โดยตั้งเป้าขยายสาขาร้านโอ้กะจู๋เพิ่มเติมในสถานีบริการน้ำมัน
PTT Station
รวมถึงการจำหน่ายอาหารแบบ
Grab & Go ผ่านร้าน Café Amazon
ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล
และภาคเหนือ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มความหลากหลาย
และเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ซึ่งมีไลฟ์สไตล์ที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น
กลุ่มธุรกิจต่างประเทศสัดส่วนลงทุน 21.8% จะขยายจำนวนสาขา PTT Station ให้ครอบคลุมกว่า 650 แห่ง ภายในปี 2568 ขยายจำนวนสาขา Café Amazon ให้ครอบคลุมกว่า 550 สาขา ภายในปี 2568
เงินลงทุนในธุรกิจอื่นๆ สัดส่วน 15.0% ที่จะมีทั้งพัฒนา Cloud Computing Platform เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าผ่านหลากหลายช่องทาง
(Omni-channel) ซึ่งรวมถึง
การพัฒนาระบบสารสนเทศหลักเพื่อรองรับการเข้าถึงแบบเรียลไทม์
ที่จะทำให้ OR ใช้ประโยชน์จากข้อมูลธุรกิจที่มีปริมาณมาก
(Big Data) ได้ดียิ่งขึ้น
การลงทุนในธุรกิจใหม่ (New S-Curve) ภายใต้แนวทาง Mobility Ecosystem และ Lifestyle Ecosystem รองรับเทรนด์พลังงานแห่งอนาคตด้วยบริการเกี่ยวกับ EV ภายในสถานีบริการน้ำมัน ต่อยอดบริการแบบ Online-to-Offline
Experience ด้วย
ข้อได้เปรียบจากการมีข้อมูล Insight จากฐานข้อมูล Big Data
ของบัตร Blue Card ประมาณ 7 ล้านราย
และปัจจุบัน OR ได้ลงทุนในหุ้นเพิ่มทุนของ บริษัท แฟลช
อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด
ซึ่งเป็นผู้ให้บริการจัดส่งสินค้าในประเทศไทย
เพื่อที่จะผสานประโยชน์ร่วมกันในการสนับสนุนและขยายธุรกิจ
ให้รองรับธุรกิจ e-Commerce เพื่อให้
OR สามารถมอบประสบการณ์ Offline-to-Online ให้กับลูกค้าอย่างไร้รอยต่อ
“คาดว่าแผนการลงทุนดังกล่าว
จะส่งผลให้สัดส่วน EBITDA ในปี 2568 เปลี่ยนแปลงไปโดยมุ่งเน้นธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่นๆ
และธุรกิจต่างประเทศมากขึ้น เป็น Oil 55 : Non-Oil 33 : Inter 12 จากเดิมมีสัดส่วน Oil 68.9 : Non-Oil 25.5 : Inter 4.9”
ส่วนผลการดำเนินงานรวมปี 2563 มีรายได้ขายและบริการ 428,804
ล้านบาท (สัดส่วน Oil 90.9 : Non-Oil 3.9 : Inter 4.9 : Other 0.3 ) ปรับตัวลดลง 25.7% จากปีก่อน
เนื่องจากผลกระทบจากสงครามราคาน้ำมันของกลุ่ม OPEC และรัสเซีย
รวมถึง COVID-19 ที่ทำให้ปริมาณการขายของกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักอย่างน้ำมันอากาศยาน
ดีเซล และเบนซิน ลง เนื่องจากการจำกัดการเดินทาง
ทั้งนี้ EBITDA ในปี 2563 อยู่ที่ 17,619 ล้านบาท (สัดส่วน Oil 68.9 : Non-Oil 25.5 : Inter 4.9 : Other 0.7) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.6% จากปีก่อน
เนื่องจาก TFRS 16 และ Cost Saving ต่างๆ ขณะที่กำไรสุทธิ 8,791 ล้านบาท
ปรับตัวลดลง 19.3% จากปีก่อน
เนื่องจาก ค่าเสื่อมและค่าจำหน่ายที่สูงขึ้นจากการขยายธุรกิจ
และผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ทางการเงิน ตาม TFRS 9
เมื่อพิจารณารายได้ขายและบริการ
เทียบกับ EBITDA จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า
รายได้ขายและบริการของ Non-Oil แม้จะมีสัดส่วนที่น้อยกว่า
Oil แต่มีสัดส่วนใน EBITDA สูงกว่า
ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลการดำเนินธุรกิจแบบ Retailing Beyond Fuel โดยมีเครือข่ายสถานีบริการน้ำมัน PTT Station เป็น Platform ในการสร้างเครือข่ายสาขาธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม
“OR มีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 30.0% ของกำไรสุทธิหลังหักสำรองต่างๆ ทุกประเภทตามที่กฎหมายและบริษัทกำหนดไว้ในแต่ละปี โดยล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2564 ในวันที่ 17 ก.พ. 64 ได้มีมติเห็นชอบให้เสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ปี 2563 ในอัตรา 0.10 บาทต่อหุ้น”
ติดตามคอลัมน์ Special Interview ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนเมษายน 2564 ฉบับที่ 468 บนแผงหนังสือชั้นนำทั้่วประเทศและในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi