สรุปสาระสำคัญจากงาน Bangkok FinTech Fair 2021 ก้าวสู่ทศวรรษใหม่ กับโลกการเงินไทยแห่งอนาคต SHAPING DIGITAL FINANCE IN THE NEW DECADE

The Power of Data for Inclusive and Resilient Finance
ใช้ข้อมูลอย่างไรให้ทรงพลังและยั่งยืน
ภาพรวม
หน่วยงานและธุรกิจต่าง ๆ
ในปัจจุบันได้พัฒนาการเก็บและการใช้ข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ลูกค้าและเสริมสร้างธุรกิจของตนเองให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
โดยหลาย ๆ บริษัทเริ่มให้บริการทางการเงินอย่างการปล่อยกู้ให้กับลูกค้า
อย่างแพร่หลาย
บริการเหล่านี้จะช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับประชาชนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินโดยสถาบันการเงิน
ขณะเดียวกันก็จะช่วยขยายธุรกิจให้กับบริษัทผู้ให้บริการ
สรุปสาระสำคัญ
1. แนวทางการใช้ข้อมูลของแต่ละองค์กร
- National Credit Bureau (NCB) NCB มีหน้าที่เก็บข้อมูลของลูกหนี้ในประเทศไทย โดยแบ่งข้อมูลระหว่างลูกหนี้ทั่วไปและลูกหนี้นิติบุคคลเพื่อให้สามารถแยกวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายได้อย่างชัดเจน รวมถึงแยกถังข้อมูลของลูกหนี้ SMEs เพื่อช่วยให้วิเคราะห์ได้ตรงประเด็นยิ่งขึ้น จากข้อมูลจำนวนมากที่มี NCB สามารถวิเคราะห์และระบุกลุ่มบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 เพื่อช่วยให้ภาครัฐสามารถออกนโยบายได้อย่างตรงจุดยิ่งขึ้น
- Grab บริษัทมองเห็นปัญหาว่า ปัจจุบันมีประชาชนจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินที่เหมาะสมเนื่องจากขาดเอกสารทางการเงิน บริษัทจึงได้มีการเก็บข้อมูลพฤติกรรมของกลุ่มผู้ประกอบการและกลุ่มผู้ให้บริการในแพลตฟอร์ม และนำมาสร้างระบบ credit scoring ซึ่งจะนำไปสู่การให้บริการทางการเงินกับทั้งสองกลุ่มอย่างเหมาะสม
- Sea Thailand บริษัทได้เสริมสร้างความสะดวกสบายให้กับทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องใน Shopee มาโดยตลอด นอกจากการช่วยเหลือผู้ขายในเรื่องการบริหารจัดการ inventory และการให้ความรู้ในการวางขายสินค้า ในปัจจุบัน Shopee ได้ช่วยผู้ขายรายย่อยให้สามารถขยายกิจการได้ผ่านการใช้ข้อมูลทางเลือกเพื่อสร้างระบบ credit scoring ให้กับผู้ขายในแพลตฟอร์ม ขณะเดียวกัน Shopee ก็พยายามช่วยเหลือผู้ซื้อในช่วงวิกฤติด้วยการปล่อยสินเชื่อระยะสั้นบนแพลตฟอร์ม
- Money Table บริษัทสร้างระบบที่ต่อยอดจากการเป็นบริษัทจัดการด้านทรัพยากรบุคคลที่มีข้อมูลจำนวนมากมาช่วยในการให้บริการ day cash หรือบริการเบิกเงินเดือนล่วงหน้า จนสามารถช่วยเหลือพนักงานให้สามารถเสริมสภาพคล่องของตนเองในยามลำบากได้
2. การเสริมสร้างการเข้าถึงบริการทางการเงินของคนไทยผ่านการใช้ข้อมูลในหลายแง่มุม
ในปัจจุบันการเข้าถึงบริการทางการเงินยังมีข้อจำกัดหลายด้าน ประเทศไทยจึงควรผลักดันการเชื่อมข้อมูลจากระบบ credit scoring ของหน่วยงานหลักอย่าง NCB และบริษัทต่าง ๆ เข้าด้วยกันซึ่งจะช่วยให้สถาบันการเงินพิจารณาความสามารถในการกู้ของลูกหนี้ได้ถูกต้องยิ่งขึ้น และทำให้ระบบการปล่อยกู้มีความยั่งยืน นอกจากนี้ การนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ ต้องเหมาะสมกับลักษณะผู้กู้ด้วย โดยมีการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยให้ผู้ปล่อยกู้สามารถวิเคราะห์ผู้กู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และให้วงเงินที่เหมาะสมกับพฤติกรรมการจ่ายหนี้ของผู้กู้
อย่างไรก็ดี การเก็บข้อมูลจำเป็นต้องเน้นถึงประเด็นความปลอดภัยของข้อมูลให้รัดกุมเพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลทั้งภายในและภายนอกองค์กรด้วย
Cross-Border Payment
Connectivity
ปลดล็อกการชำระเงินข้ามประเทศเพื่อการพัฒนาของภูมิภาค
ภาพรวม
ทุกวันนี้บริการชำระเงินและโอนเงินระหว่างประเทศยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ทั้งเรื่องของความรวดเร็ว ต้นทุนที่สูง ความสะดวก และความโปร่งใส ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อระบบโดยรวมทั้งในส่วนของลูกค้า ร้านค้า และผู้ให้บริการชำระเงิน ดังนั้น ภายใต้โครงการ ASEAN Payment Connectivity ธนาคารกลางในกลุ่มประเทศอาเซียนจึงได้ร่วมมือกันผลักดันและสนับสนุนการบูรณาการทางการเงิน โดยการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินของกลุ่มประเทศในภูมิภาค ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคประชาชนไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว แรงงานต่างชาติ ตลอดจนธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ในการใช้บริการโอนเงินและชำระเงินระหว่างประเทศ
สรุปสาระสำคัญ
การเชื่อมโยงบริการโอนเงินระหว่างประเทศ เช่น บริการ “พร้อมเพย์-เพย์นาว” ช่วยให้การโอนเงินระหว่างประเทศทำได้ง่าย ต้นทุนต่ำ และมีความปลอดภัย โดยโครงสร้างพื้นฐานของระบบนี้ยังเอื้อให้ non-bank และบริษัท FinTech สามารถใช้ประโยชน์และต่อยอดการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิผลเพื่อให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด
บริการชำระเงินระหว่างประเทศด้วย QR code เป็นบริการที่ผู้ใช้บริการทั้งประชาชนและธุรกิจมีความคุ้นเคยกับวิธีการใช้งาน บวกกับความสะดวก ความปลอดภัย ความรวดเร็ว และต้นทุนที่ต่ำ ทำให้บริการดังกล่าวเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ใช้บริการ ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะก่อให้เกิดความร่วมมือต่อไปในการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในอนาคต
หากมองผ่านประสบการณ์ความสำเร็จในการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินที่ผ่านมา ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญคือการวางนโยบายหลักให้สอดคล้องกันภายใต้ความแตกต่างของแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างในด้านกระบวนการ ด้านการปฏิบัติการ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน และด้านการออกแบบบริการในแต่ละประเทศ โดยความท้าทายสำคัญจะอยู่ที่การกำหนดกฎเกณฑ์กลางที่จะใช้ในการทำงานร่วมกัน หากทำได้ตามที่กล่าวมาแล้ว กระบวนการในการพัฒนาและนำไปปฏิบัติก็จะมีประสิทธิผลและทำได้เร็วอีกด้วย นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแล ผู้ให้บริการระบบการชำระเงิน และผู้ให้บริการทางการเงินทั้งธนาคารและ non-bank เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งในทุกแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นด้านธุรกิจ ด้านเทคนิคและด้านกฎหมาย
ในอนาคตอันใกล้นี้ คาดว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ จะเข้ามามีบทบาทในบริการชำระเงินระหว่างประเทศมากขึ้น เช่น Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางที่คาดหวังว่าจะช่วยลดเวลาการทำธุรกรรม เนื่องจากไม่จำเป็นต้องมีการเปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคารต่างประเทศ (nostro accounts) หน่วยงานที่เป็นผู้รับผลประโยชน์ และลดพิธีปฏิบัติระหว่างธนาคารอีกโครงการหนึ่ง คือ โครงการ “Nexus” ที่กำลังพัฒนาโดย BIS Innovation Hub โดยกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงระบบการชำระเงิน (fast payment) แบบหลายประเทศ (multilateral connections) ที่มีความยุ่งยากซับซ้อน โดยจะสร้างมาตรฐานกลางในการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินภายในประเทศเข้าด้วยกัน
The Rise of Central Bank Digital Currency – Progress So Far
and Way Forward
ก้าวสู่ยุคสกุลเงินดิจิทัลโดยธนาคารกลาง (CBDC)
– พัฒนาการที่ผ่านมาและภาพอนาคต
ภาพรวม
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภูมิทัศน์ของระบบการเงินได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญด้วยเทคโนโลยี การเกิดขึ้นของคริปโทเคอร์เรนซี สเตเบิลคอยน์ และโครงการต่าง ๆ ที่ริเริ่มโดยภาคเอกชนช่วยเพิ่มโอกาสให้ภาคการเงินอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันก็นำมาซึ่งความเสี่ยงที่ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะที่ว่า ควรมีสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency หรือ CBDC) หรือไม่ และ CDBC ควรได้รับการออกแบบและนำออกมาใช้จริงอย่างไร
สรุปสาระสำคัญ
ความสนใจใน CBDC ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากหลายปัจจัย
ได้แก่
- ด้านอุปสงค์ (demand) เช่น ความต้องการของผู้บริโภคในด้านดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น ความต้องการให้มีการชำระเงินระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชน
- ด้านอุปทาน
(supply) เช่น การยอมรับเทคโนโลยีบล็อกเชน
การเข้ามาของผู้ให้บริการที่เป็น BigTech และการเพิ่มขึ้นของสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยภาคเอกชน
CBDC เป็นพัฒนาการขั้นต่อไปเพื่อทำให้เงินเป็นดิจิทัล แต่ CBDC อาจไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกเรื่อง เนื่องจากแต่ละประเทศมีเป้าหมายเชิงนโยบายและทางเลือกในการดำเนินการมากมายที่ต้องพิจารณา ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ
การออกแบบ CBDC อย่างเหมาะสมจะช่วยทำให้เกิดประสิทธิภาพและเสถียรภาพสำหรับการนำ
CBDC ไปใช้ในลักษณะต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาในมิติ
เช่น
- การออกแบบให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึง CBDC ได้ ซึ่งรวมถึงประชาชนในพื้นที่ชนบทที่อาจไม่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต
- การออกแบบ CBDC เพื่อให้ช่วยตอบโจทย์เรื่องการโอนเงินระหว่างประเทศ ทั้งการโอนเงินระหว่างภาคธุรกิจต่าง ๆ และการโอนเงินระหว่างบุคคลที่มีวงเงินต่อรายการต่ำ (small-value P2P remittance) เพื่อช่วยลดต้นทุน
- การดูแลความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ CBDC ได้แก่ การลดบทบาทของธนาคารพาณิชย์ ภัยไซเบอร์และการรั่วไหลของข้อมูล ซึ่งการศึกษาและหารือกับผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ อย่างละเอียดรอบคอบจะช่วยให้สามารถลดข้อกังวลเหล่านี้ได้ เช่น การใช้โครงสร้างการกระจาย CBDC แบบ 2 ชั้น (two-tier distribution model) น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า เนื่องจากตัวกลางทางการเงินมีทรัพยากรและความเชี่ยวชาญในการเป็นด่านหน้าที่จะให้บริการกับลูกค้า นอกจากนี้ การรักษาส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่าง CBDC และเงินฝากก็จะช่วยลดโอกาสที่ธนาคารจะถูกลดบทบาทลงได้
CBDC สามารถเป็นสะพานที่เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินและนวัตกรรมต่าง ๆ ในอนาคตเพื่อสร้างความเป็นไปได้อย่างไม่มีขีดจำกัดนอกเหนือจากเรื่องการชำระเงิน โดยยังสามารถอยู่ร่วมกับสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยภาคเอกชน ทั้งนี้ ธนาคารกลางจะต้องมีความคล่องตัว (agile) ยิ่งขึ้น เพื่อให้เท่าทันกับความรวดเร็วของพัฒนาการทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ CBDC ควรจะต้องทำงานร่วมกับระบบการชำระเงินต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วได้ ธนาคารกลางจึงควรวางแนวทางในการพัฒนาอย่างชัดเจนและกำหนดมาตรฐานในการมีส่วนร่วมของสถาบันการเงิน ภาคธุรกิจ และร้านค้าต่าง ๆ รวมทั้งให้ความรู้กับผู้บริโภคเรื่องการใช้งาน CBDC เพื่อเตรียมความพร้อมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านได้อย่างราบรื่น
Will Cryptocurrency and DeFi Really Be Game Changers for
Financial Services?
Cryptocurrency & DeFi: โลกการเงินรูปแบบใหม่...ไร้ตัวกลาง
ภาพรวม
ในปัจจุบัน การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลค่อนข้างเป็นที่นิยม โดยสิ่งที่สำคัญคือผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลและความเสี่ยงให้ดีก่อนลงทุน สำหรับ DeFi นั้น จุดเด่นคือความเป็นไปได้ในการพัฒนา application แบบต่อยอดคล้ายการต่อตัวต่อ (“Lego of finance”) โดยการให้บริการหลัก ๆ ใน DeFi ได้แก่ การให้กู้และการกู้ยืม การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล และประกัน ทั้งนี้ จุดเด่นของ DeFi คือการไร้ตัวกลาง โดยทุกอย่างถูกกำหนดโดย computer code ที่ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบได้ ทำให้มีความโปร่งใสมีประสิทธิภาพ และช่วยลดขั้นตอนเมื่อเทียบกับบริการทางการเงินรูปแบบเดิม
สรุปสาระสำคัญ
โครงสร้างของ DeFi แบ่งได้เป็น 4 ชั้น ได้แก่ (1) ชั้น Blockchain ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เก็บประวัติธุรกรรมบน chain (2) ชั้น native asset ซึ่งทำหน้าที่คล้ายระบบปฏิบัติการของ chain (3) ชั้น protocol ซึ่งเก็บ code ที่เป็น smart contract ซึ่งจะกำหนดวิธีการทำงานสำหรับบริการนั้น ๆ และ (4) ชั้น application ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถใช้บริการได้โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้าน coding ทั้งนี้ ชั้น protocol และชั้น application จะมีผลอย่างมากต่อความนิยมและปริมาณการใช้งาน จึงควรทำให้สามารถเข้าใจง่ายควบคู่ไปกับการพัฒนาบริการที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการได้อย่างแท้จริง
การเปลี่ยนผ่านไปยังโลกอนาคตที่ DeFi จะมีบทบาทสำคัญนั้น จะเป็นการเปลี่ยนผ่านที่รวดเร็วภาคธุรกิจและประชาชนจึงต้องเตรียมความพร้อมโดยการปรับตัวให้คุ้นชินกับโลกการเงินที่ไม่มีตัวกลางทำให้จำเป็นต้องเพิ่มความรู้และต้องดูแลประเด็นความปลอดภัยต่าง ๆ ด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ดี แม้ DeFi จะมีบทบาทมากขึ้น แต่ตัวกลางบางประเภทก็จะยังคงอยู่ ความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการ DeFi และผู้ให้บริการทางการเงินที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันจึงน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทั้ง 2 ฝ่าย โดยการใช้ DeFi protocol จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้บริการทางการเงินได้ ขณะเดียวกัน ฐานลูกค้าและความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีให้กับผู้ให้บริการทางการเงินในปัจจุบันก็จะช่วยให้ DeFi เป็นที่ยอมรับในวงกว้างได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ตัวกลางในปัจจุบันอาจมีบทบาทในการช่วยตรวจสอบความถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมายหรือด้าน coding เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจยิ่งขึ้นให้กับผู้ใช้บริการ ซึ่งจะเป็นผลดีกับ DeFi ecosystem โดยรวม
การปรับตัวเข้าสู่โลก DeFi เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วน
ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ ต้องดำเนินการร่วมกัน โดยภาครัฐควรเปิดรับและทำความเข้าใจกับพัฒนาการของเทคโนโลยี
เนื่องจากการสนับสนุนของภาครัฐจะช่วยสร้าง DeFi ecosystem ที่แข็งแรงได้
เช่น การให้ความรู้ในภาพรวม การให้คำแนะนำเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ
และประเด็นภัยไซเบอร์ เป็นต้น
FinTech Talk the Finale:
Financing in the New Decade – Possibilities, Opportunities
and Challenges:
บทสรุป โลกการเงินในทศวรรษใหม่ – ความเป็นไปได้
โอกาส และความท้าทาย
ภาพรวม
“คุณรู้สึกถึงฝนที่กำลังโปรยปรายหรือไม่ และเกรงกลัวต่อพายุที่โหมกระหน่ำหรือไม่?”- คำถามที่ผู้จัดการกองทุนร่วมลงทุนในสหรัฐอเมริกาเคยตั้งไว้โดยเมื่อ 5 ปีก่อนยังคงอธิบายโลกการเงินในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี แต่ทิศทางในอนาคตของโลกการเงินกำลังเปลี่ยนจากความเกรงกลัวต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่การสร้างความร่วมมือระหว่างคู่แข่งผ่านการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่สร้างคุณค่าใหม่ให้กับลูกค้าภายใต้การมีกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ชัดเจนและหลากหลาย รวมถึงการมีเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและลดความซับซ้อน
สรุปสาระสำคัญ
วัฏจักรแห่งการเปลี่ยนแปลงโดยผู้ประกอบการ FinTech
เรากำลังอยู่ในจุดสำคัญของวัฏจักรแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ผู้ประกอบการ FinTech และ neobank เติบโตอย่างมากเมื่อไม่นานนี้ อีกทั้งภาคการเงินก็กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนอย่างมาก อย่างไรก็ดี แม้ว่าภูมิทัศน์ทางการเงิน (financial landscape) จะเปลี่ยนแปลงไป แต่รายได้ของกลุ่มผู้ประกอบการ FinTech กลับยังจำกัดอยู่เพียงไม่เกินร้อยละ 4.5 ของรายได้ทั้งภาคการเงิน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ FinTech และ neobank ยังเผชิญกับความท้าทายจากธนาคารรูปแบบเดิมที่พยายามรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น neobank ชื่อ “86 400” ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการธนาคารที่ดีกว่าเดิม แต่กลับขายกิจการให้ธนาคารใหญ่ของออสเตรเลีย
ทิศทางอนาคตที่เป็นยุคใหม่แห่งการสร้างความร่วมมือระหว่างคู่แข่ง
ทิศทางอนาคตของภาคธนาคารจะเข้าสู่ยุคใหม่ที่เน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างคู่แข่ง ซึ่งรูปแบบธุรกิจจะเป็นการผสมผสานระหว่าง neobank และธนาคารแบบเดิมโดยมุ่งเน้นดิจิทัลเป็นหลัก รวมถึงมีการสร้างบริการที่เฉพาะตัวให้กับลูกค้า และการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างต้นทุนและกำไรภายใต้การบริหารจัดการที่ยืดหยุ่นมากขึ้น นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยสร้างคุณค่าใหม่ให้กับลูกค้าผ่านการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ (rebundle) ตัวอย่างเช่น neobank ชื่อ “N26” ในยุโรปที่ให้บริการธนาคารและประกันโดยรวมเอาบริการต่าง ๆ จากพันธมิตร ทำให้สามารถบริการลูกค้าได้แบบ end-to-end โดยไม่ต้องลงทุนมากอย่างธนาคารแบบเดิม อย่างไรก็ดี สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้การปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ คือ ผู้ประกอบการ FinTech จะต้องทำกระบวนการ onboard ที่ไม่ซับซ้อน เนื่องจากกระบวนการแบบเดิมจะไม่เอื้อให้ธนาคารสามารถใช้โอกาสจากผู้ประกอบการ FinTech ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ข้อคิดสำคัญสำหรับโลกการเงินที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
(1) ผู้ชนะจะต้องเป็นผู้ที่สามารถจัดการและปรับใช้รูปแบบธุรกิจได้หลากหลายในเวลาเดียวกัน
(2) ธนาคารแบบดั้งเดิมจะมีบทบาทน้อยลง แต่จะยังคงอยู่หากมีการให้บริการที่มีการรวมศูนย์และมีประสิทธิภาพโดยให้ความสำคัญกับพันธกิจเป้าหมาย
(3) สิ่งสำคัญสำหรับลูกค้าจะกลับมาอยู่ที่ผลิตภัณฑ์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์เดิมเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่
(4) ในการกำหนดโครงสร้างธุรกิจใหม่ ผู้ประกอบการจะต้องตัดสินใจเชิงกลยุทธ์โดยเลือกระหว่างการเป็นแพลตฟอร์มหรือการรักษารูปแบบเดิมโดยรวมธุรกิจหลายรูปแบบเข้าด้วยกัน
(5) แม้ว่าเทคโนโลยีที่ดีจะมีความสำคัญ
แต่ก็จะต้องตอบโจทย์ในการช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้วย