จับตา 5 ประเด็นชี้ทิศทางปี 64

เพื่อให้ท่านผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทาย
และไม่พลาดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น บทความฉบับนี้จึงขอนำเสนอ 5
ประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจที่ควรติดตามและคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2564
ปี 2563 ที่ผ่านมา นับเป็นปีหนูดุที่สร้างความเสียหายครั้งประวัติศาสตร์จากการแพร่ระบาดของ COVID-19
ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อบรรยากาศการค้าการลงทุนทั่วโลก
และฉุดรั้งเศรษฐกิจและการค้าโลกให้ตกต่ำที่สุดในรอบศตวรรษ สำหรับในปี 2564
แม้สถานการณ์ COVID-19
มีสัญญาณคลี่คลายลงจากการพัฒนาวัคซีนใกล้เสร็จสมบูรณ์และมีหลายประเทศจะเริ่มใช้
แต่คาดว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก COVID-19
จะมีต่อเนื่อง
ยิ่งไปกว่านั้น
ยังมีปัจจัยและบริบททางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ
ดังนั้น เพื่อให้ท่านผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทาย
และไม่พลาดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น บทความฉบับนี้จึงขอนำเสนอ 5 ประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจที่ควรติดตามและคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในปี
2564 สรุปได้ดังนี้
1. New Economic Recovery : จับตาปัจจัยที่จะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกรอบใหม่
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะชี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
คือ ประสิทธิผลของวัคซีนป้องกัน COVID-19
เนื่องจากเป็นตัวกำหนดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลกจะกลับมาเป็นปกติได้เมื่อใด
ซึ่งปัจจุบันการพัฒนาวัคซีนมีความคืบหน้าและมีบางประเทศเริ่มนำมาใช้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามประสิทธิผลของวัคซีนเมื่อนำมาใช้ในวงกว้าง
รวมถึงความเพียงพอและการเข้าถึงวัคซีนของประชากรทั่วโลก จึงยังมีความเป็นไปได้ว่า
ในปี 2564 กิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเดินทางระหว่างประเทศ
ตลอดจนการใช้ชีวิตประจำวันอาจยังไม่กลับมาเป็นปกติ
นอกจากนี้
อีกหนึ่งปัจจัยที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก คือ
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ หลังจากในปี 2563
รัฐบาลแต่ละประเทศใช้มาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบ COVID-19 อย่างเต็มที่จนเกือบถึงขีดจำกัด
สะท้อนจากข้อมูลของ IMF (ณ
เดือนกันยายน 2563) พบว่า หลายประเทศใช้มาตรการทางการคลังในระดับสูง เช่น เยอรมนี
39% ของ GDP ญี่ปุ่น
35% สหราชอาณาจักร 26% ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางของหลายประเทศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงแตะระดับ
0% หรือใกล้เคียง
ดังนั้น ในปี 2564
อาจได้เห็นหลายประเทศใช้เครื่องมือทางการเงินการคลังใหม่ๆ (Unconventional Measures) ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
เช่น Yield Curve Control
(การตรึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลให้อยู่ในระดับที่ต้องการ)
Funding-for-lending
Schemes (ธนาคารกลางเสริมสภาพคล่องระยะยาวให้แก่ธนาคารพาณิชย์เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อแบบเจาะจงเป้าหมาย)
ซึ่งต้องติดตามว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินทั่วโลกเช่นไร
2. New Chapter of US Economy : ทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
ภายใต้ประธานาธิบดีคนใหม่
หลังจาก นายโจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้ง
และจะเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐฯ ในเดือนมกราคม 2564
ภายใต้วิสัยทัศน์หลักคือ Made
in All of America by All of America’s Workers โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมภาคการผลิตและการลงทุนในประเทศเป็นหลัก
ควบคู่ไปกับการลดการพึ่งพาการผลิตจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน
ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบริบทของโลกในหลายมิติ ได้แก่
มิติด้านการค้า
เป็นที่คาดว่านโยบายปกป้องการค้าของสหรัฐฯ จะเดินหน้าต่อ
โดยเฉพาะสงครามการค้ากับจีน ล่าสุด นายไบเดนประกาศว่า ยังไม่มีแผนยกเลิกกำแพงภาษีใดๆ
รวมถึงอาจมีการดำเนินมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีเพิ่มเติม
ตลอดจนมีแผนจะดำเนินการผ่านกรอบความร่วมมือพหุภาคีต่างๆ กับชาติพันธมิตร
เพื่อสร้างแรงกดดันจีนต่อไป
ขณะเดียวกัน
ต้องติดตามมาตรการหรือข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศอื่นๆ อย่างใกล้ชิด
เช่น EU ประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ
มูลค่ารวม 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ
ที่เรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจาก EU
จากกรณีที่ EU ให้เงินอุดหนุนบริษัทแอร์บัส
เช่นเดียวกับอินเดียที่ตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ 28
รายการ หลังถูกสหรัฐฯตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP)
มิติด้านการลงทุน เน้นดึงดูดการลงทุนในประเทศ
โดยเฉพาะการลงทุนด้านเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน
สะท้อนได้จากหนึ่งในนโยบายหาเสียงของนายไบเดนที่ชูประเด็นการคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา
10% สำหรับบริษัทที่สร้างการจ้างงานในสหรัฐฯ ขณะที่เรียกเก็บค่าปรับ “Offshoring Tax Penalty” สำหรับบริษัทสหรัฐฯ
ที่มีฐานการผลิตในต่างประเทศและส่งสินค้ากลับมาขายในสหรัฐฯ ซึ่งต้องจับตาดูว่า
นโยบายดังกล่าวจะถูกนำมาใช้จริงหรือไม่
มิติด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เน้นฟื้นฟูความสัมพันธ์กับนานาชาติ
และกลับมาเข้าร่วมโต๊ะเจรจาต่างๆ บนเวทีโลกอีกครั้ง เช่น
ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)
มิติด้านสิ่งแวดล้อม
ให้ความสำคัญกับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) รวมถึงมุ่งสนับสนุนธุรกิจสีเขียวและพลังงานสะอาดอย่างจริงจัง
โดยนายไบเดนมีแผนจะนำสหรัฐฯ กลับเข้าร่วมข้อตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris Agreement) อีกด้วย
3. New China Economic Model : แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับใหม่ภายใต้ Dual Circulation
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
ถือเป็นหัวใจสำคัญในการกำหนดทิศทางนโยบายของจีนมาโดยตลอด
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 (ปี 2564-2568)
จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม 2564 ทั้งนี้ แผนพัฒนาฯ
ฉบับใหม่จะมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสมดุล โดยให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างมีคุณภาพแทนการเติบโตเชิงปริมาณ
ตลอดจนการลดความเหลื่อมล้ำในประเทศ ทั้งนี้ แผนพัฒนาฯ
ดังกล่าวได้ชูโมเดลเศรษฐกิจสำคัญอย่าง Dual Circulation หรือการหมุนเวียนเศรษฐกิจคู่ขนาน
ซึ่งให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจในประเทศควบคู่ไปกับเศรษฐกิจระหว่างประเทศอย่างสมดุล
โดยในส่วนของ การหมุนเวียนเศรษฐกิจในประเทศ (Internal Circulation) จะเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากตลาดในประเทศและเพิ่มบทบาทการบริโภคในประเทศให้มากขึ้น
ควบคู่กับการสร้างความแข็งแกร่งให้กับ Supply Chain ในประเทศด้วยการปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมและปฏิวัติภาคการผลิต
ตลอดจนยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยี
เพื่อลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
ขณะที่ในส่วนของ
การหมุนเวียนเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (External Circulation) จะเน้นไปที่การเชื่อมโยงเศรษฐกิจจีนเข้ากับเศรษฐกิจโลก
ทั้งการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและขยายการค้ากับต่างชาติด้วยการเปิดเสรีทางการค้ามากขึ้น
ไม่เพียงแค่การส่งออกเท่านั้น
แต่จีนจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการต่างชาตินำสินค้าเข้ามาขายในจีนได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้
จีนเตรียมเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์กับนานาประเทศ โดยเฉพาะพันธมิตรในเส้นทาง Belt Road Initiative (BRI) ซึ่งรวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศพันธมิตรในเส้นทาง
BRI ยิ่งไปกว่านั้น
คาดว่าจีนจะขยายขอบเขตความร่วมมือภายใต้โครงการ BRI ออกไป ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขแก่ประเทศพันธมิตร
หรือ Health Silk Road รวมถึงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมและดิจิทัล
หรือ Digital Silk Road เพื่อถ่วงดุลอำนาจกับสหรัฐฯ
ในการแข่งขันด้านเทคโนโลยี
4. New Movement of Trade Agreement: ย่างก้าวใหม่ของข้อตกลงการค้าบนเวทีโลก
ปี 2564
จะเริ่มเห็นสัญญาณการกลับมาเดินหน้าของข้อตกลงทางการค้าที่เคยหยุดชะงักไป
นับตั้งแต่การลงนามในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ระหว่างชาติสมาชิก
15 ประเทศ (รวมไทย) ซึ่งถือเป็นกรอบการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดของโลกในปัจจุบัน ครอบคลุมประชากรมากกว่า
2.2 พันล้านคน และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ราว 30% ของ GDP โลก
โดยคาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564
ทั้งนี้ RCEP จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงตลาดผู้บริโภคใหม่ๆ
จากการลดอัตราภาษีนำเข้าระหว่างกัน ตลอดจนเป็นแรงหนุนให้ประเทศไทยยังคงเป็นฐานการผลิตใหญ่ของภูมิภาคในอุตสาหกรรมสำคัญที่ไทยมีความได้เปรียบ
เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
สำหรับอินเดียที่เคยเข้าร่วมเจรจา RCEP
แต่ถอนตัวไปแล้วได้หันไปเดินหน้าเจรจาการค้าเสรี
(FTA) กับสหรัฐฯ
และ EU แทน
นอกจากนี้
ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ปัจจุบันมีสมาชิก
11 ประเทศ คาดว่า สหรัฐฯ ภายใต้การนำของนายไบเดนจะกลับมาเข้าร่วมเจรจาอีกครั้ง
หลังจากถอนตัวไปเมื่อปี 2560
ขณะที่ไทยยังอยู่ระหว่างพิจารณาเข้าร่วม CPTPP เช่นกัน
นอกเหนือจากข้อตกลงดังกล่าว ยังมีการเจรจาของสหราชอาณาจักรในการถอนตัวออกจาก EU (BREXIT) ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะไม่มีการทำข้อตกลงทางการค้าร่วมกัน
(No-deal BREXIT) ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นคาดว่าสหราชอาณาจักรจะหันไปทำข้อตกลงทางการค้าใหม่กับประเทศคู่ค้าอื่นๆ
ทดแทน
ขณะที่ผู้ประกอบการไทยต้องตรวจสอบกฎระเบียบและมาตรฐานการนำเข้าที่ต่างกันของสหราชอาณาจักรและ
EU
รวมถึงอาจต้องปรับกลยุทธ์การทำตลาดใหม่ เช่น
จากเดิมเคยใช้สหราชอาณาจักรเป็นฐานกระจายสินค้าไปในประเทศต่างๆ ใน EU แต่หลังจากนี้จะทำได้ยากหรือมีต้นทุนสูงขึ้น
เนื่องจากทั้งสองฝ่ายไม่มีข้อตกลงทางการค้าร่วมกัน
ทำให้อัตราภาษีนำเข้าระหว่างกันสูงขึ้นและไม่ได้มีสิทธิประโยชน์ทางการค้าเช่นเดิม
5. New Economic Paradigm on Sustainable Growth : การขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นฐานของความยั่งยืน
การเติบโตอย่างยั่งยืนจะทวีความสำคัญมากขึ้นในทุกภาคส่วนอย่างชัดเจน
โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม หลังจากสหประชาชาติ (UN) ส่งสัญญาณเตือนว่าทั่วโลกต้องร่วมกันยับยั้งภาวะโลกร้อนและ
Climate Change ให้ได้ภายในปี
2573 ก่อนที่จะสายเกินไป ดังนั้น จึงคาดว่าในปี 2564
จะเป็นอีกหนึ่งปีที่ทุกภาคส่วนทั่วโลกจะหันมาเร่งปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง
โดยมาตรการใน ระดับประเทศ เช่น EU เตรียมประกาศใช้
European Climate Law ในปี
2564 ซึ่งมีมาตรการสำคัญ ทั้งการลดการปล่อยคาร์บอนในธุรกิจพลังงาน
การห้ามใช้สินค้าที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง และการเพิ่มสัดส่วนวัสดุรีไซเคิลในสินค้าต่างๆ
สหรัฐฯ ในยุคของนายไบเดน มีแนวโน้มจะเก็บภาษีคาร์บอน
ซึ่งรวมถึงการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศที่ไม่มีมาตรการทางภาษีในการแก้ปัญหา Climate Change และรวันดาห้ามนำเข้า/ผลิต/ขายบรรจุภัณฑ์พลาสติก
ขณะที่ ระดับธุรกิจ
ก็ขานรับมาตรการปกป้องสิ่งแวดล้อมและการเติบโตอย่างยั่งยืนเช่นกันภายใต้หลัก Environmental, Social and Governance
(ESG) เช่น Michelin กำหนดให้ Supplier หลักของบริษัทราว 70% ต้องผ่านมาตรฐาน Michelin’s Standard ในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต
Nestle ตั้งเป้าเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์น้ำดื่มจากขวดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเป็นพลาสติก
Food Grade ที่รีไซเคิลได้ภายในปี
2568
ภาคการเงิน
ธนาคารชั้นนำทั่วโลกเดินหน้าดำเนินนโยบายตามหลักการของการเป็นธนาคารที่มีความรับผิดชอบ
(Principles for
Responsible Banking) ของ UN รวมถึงสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และ
Paris Agreement เช่น
Standard Chartered Bank และ
BNP Paribas กำหนดนโยบายไม่ปล่อยสินเชื่อแก่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่
รวมถึงการสำรวจ/ขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในแถบขั้วโลกเหนือ ขณะที่ Morgan Stanley มีแผนลดการปล่อยสินเชื่ออุตสาหกรรมที่พึ่งพาการใช้คาร์บอนอย่างเข้มข้น
นอกเหนือจาก 5
ประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว เป็นที่คาดว่า ในปี 2564
ทั่วโลกยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายอื่นๆ
ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของเทคโนโลยียุคใหม่ที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาโมเดลธุรกิจที่ต่างไปจากเดิม
หรือการเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่ที่จะทำให้พฤติกรรมการบริโภคสินค้าและบริการเปลี่ยนไป
ดังนั้น
ท่านผู้ประกอบการควรเตรียมความพร้อมและปรับ กลยุทธ์ทางธุรกิจทั้งในเชิงรับ
เพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ เช่น การติดตามข้อมูลมาตรการทางการค้าของประเทศคู่ค้าทั้งทางตรงและทางอ้อม
รวมถึงการปรับปรุงกระบวนการดำเนินธุรกิจและยกระดับคุณภาพสินค้าให้เป็นไปตามระเบียบใหม่ของโลก
โดยเฉพาะมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงกับ Supply Chain เส้นใหม่ของโลกได้อย่างไร้รอยต่อ
ขณะที่ กลยุทธ์ในเชิงรุก
เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่น
ติดตามสิทธิประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าใหม่ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดใหม่
รวมถึงอาจเข้าไปลงทุนในประเทศที่ได้สิทธิประโยชน์ทางการค้า
เพื่อใช้เป็นสปริงบอร์ดในการกระจายสินค้าไปในประเทศอื่นๆ ควบคู่ไปกับการเพิ่มช่องทางการส่งออกผ่านออนไลน์
โดยอาจเริ่มจากการเข้าไปขายสินค้าบน e-Marketplace ที่ได้รับความนิยมในประเทศเป้าหมาย
รวมถึงการติดตามข้อมูลและวางแผนธุรกิจอย่างรอบด้านเพื่อจะเป็นวัคซีนสำคัญในการป้องกันและสร้างภูมิแก่ภาคธุรกิจให้เดินหน้าได้อย่างมั่นคงแข็งแรงในปีฉลูที่จะมาถึงนี้