เงินไหลบ่าลงทุนหุ้นนอก กองทุน FIF จ่อแตะ 1 ล้านล้านบาท

ลงทุนหุ้นนอกสุดฮอต กองทุนรวมต่างประเทศ หรือ FIF ใกล้แตะล้านล้าน
ไตรมาสแรกมูลค่าทรัพย์สินพุ่ง 9.8 แสนล้านบาท เงินไหลเข้ากองทุนหุ้น
1.5 แสนล้าน กองจีนแชมป์ 5.5
หมื่นล้าน ตามด้วยกลุ่มหุ้นทั่วโลก เฮลธ์แคร์ เทคโนโลยี มอร์นิ่งสตาร์ฯ
คาดช่วงที่เหลือของปีแรงต่อเนื่อง เตือนอย่าไล่ราคา หลังผลตอบแทนพุ่ง เน้นจัดพอร์ตกระจายความเสี่ยง
ลงทุน 3-5 ปี
ไตรมาสแรก กองทุนหุ้นนอก ทะยาน 7.2
แสน ลบ.
นางสาวชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส
บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า กองทุนรวมต่างประเทศ
หรือ FIF (ไม่รวม Term Fund) มีการเติบโตต่อเนื่อง
โดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ขยับขึ้นไปที่ 9.8
แสนล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสแรกของปีนี้ หรือสูงกว่าเมื่อสิ้นปี 2563
ราว 17%
โดยเป็นการเติบโตจากกองทุนตราสารทุนต่างประเทศ
(หุ้น) ทั้งจากกลุ่มกองทุนรวมหุ้นจีน (China Equity) กลุ่มหุ้นทั่วโลก
(Global Equity) หรือกลุ่มที่เป็นหมวดอุตสาหกรรม เช่น
กลุ่มเฮลธ์แคร์ และหุ้นเทคโนโลยี
"ไตรมาสแรกที่ผ่านมา
มีเม็ดเงินไหลเข้าลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศมากถึง 1.5
แสนล้านบาท โดยกองทุนหุ้นโตค่อนข้างเร็วภายในระยะเวลา 3
เดือน ที่ 25%
ผลักดันให้มูลค่ากองทุนประเภทนี้พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 7.2
แสนล้านบาท" นางสาวชญานี กล่าว
ทั้งนี้ ในไตรมาสแรก กองทุนหุ้นจีน (China
Equity) มีมูลค่าทรัพย์สินสูงสุดที่ 1.6
แสนล้านบาท และเป็นกลุ่มที่มีเม็ดเงินไหลเข้าสูงสุดรวม 5.5
หมื่นล้านบาท โดยกว่า 50% เป็นเงินไหลเข้าจาก 2
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) คือ บลจ.กรุงไทย 1.47
หมื่นล้านบาท และ บลจ.กสิกรไทย 1.45 หมื่นล้านบาท
ทำให้มูลค่าทรัพย์สินของกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น 40.1%
จากไตรมาสก่อนหน้า
เช่นเดียวกับกลุ่มกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นทั่วโลก
(Global Equity) ที่มีการเติบโตโดดเด่น 36.3%
โดยมีมูลทรัพย์สินรวม 1.6 แสนล้านบาท
นางสาวชญานี กล่าวว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2564
มีกองทุน Global Equity เปิดใหม่จำนวน 15
กองทุน รวมมูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสแรก และพบว่า
ส่วนใหญ่มีนโยบายลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมการเติบโตในยุคใหม่
ทำให้สามารถดึงดูดเงินลงทุนได้ค่อนข้างดี
มอร์นิ่งสตาร์ฯคาดอุตสาหกรรมกองทุนรวมปี 64
พลิกบวก
สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทย ปี 2564
มอร์นิ่งสตาร์ฯ ประเมินว่า จะกลับมาฟื้นตัวเป็นบวกได้ จากสิ้นปี 2563
ที่ทั้งอุตสาหกรรมมีมูลค่าทรัพย์สินอยู่ที่ 5
ล้านล้านบาท ลดลง 6.5% จากปีก่อนหน้า หากนับเฉพาะกองทุนเปิดอยู่ที่ 4
ล้านล้านบาท ลดลง 7.3% จากสิ้นปี 2562
ในไตรมาสแรกของปีนี้
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนรวมไทย (เฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF,
REIT, Infrastructure fund) อยู่ที่ 4.1
ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6% จากธันวาคม 2563
และสูงกว่าเดือนมีนาคมปีก่อนราว 15% แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19
ที่เคยอยู่ระดับสูงสุดช่วงธันวาคม 2562 ที่เกือบ 4.3
ล้านล้านบาท โดยในไตรมาสแรกนี้มีเงินไหลเข้าสุทธิ 3.3
หมื่นล้านบาท เน้นไปที่เงินไหลเข้าสุทธิกองทุนรวมตราสารทุนทั้งสิ้น 1.3
แสนล้านบาท
แนวโน้มเงินยังไหลออกลงทุนหุ้นนอก
นางสาวชญานี กล่าวว่า
จากแนวโน้มการลงทุนต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
คาดว่าจะผลักดันให้มูลค่ากองทุนหุ้นต่างประเทศสูงกว่ากองทุนหุ้นไทย
เนื่องจากตลาดหุ้นไทยยังมีหลายปัจจัยกดดันทั้งการระบาดของโควิด-19
ระลอกใหม่ นอกจากนี้ มีกลุ่มอุตสาหกรรมให้ลงทุนน้อยกว่าต่างประเทศ
และราคาหุ้นที่ค่อนข้างแพงกว่าเมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆ ในต่างประเทศ
สำหรับแนวโน้มการออกกองทุนใหม่ๆ ของอุตสาหกรรม
คาดว่ายังเน้นกองทุนหุ้นต่างประเทศเป็นหลัก โดยธีมการลงทุน ESG และธีมการลงทุนตามเทรนด์โลกยุคใหม่
จะมีมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มอร์นิ่งสตาร์ฯ
กล่าวเตือนว่า ด้วยผลตอบแทนกองทุนในต่างประเทศที่ปรับตัวขึ้นมาแรงช่วงที่ผ่านมา
ดังนั้น นักลงทุนไม่ควรไล่ตาม
แต่ควรจัดพอร์ตการลงทุนไปต่างประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยงและมีเป้าหมายลงทุนระยะยาว
3-5 ปี
รายงานของมอร์นิ่งสตาร์ฯ เปิดเผยว่า ในรอบ 1
ปีที่ผ่านมา กองทุนรวมต่างประเทศมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด และส่วนแบ่งตลาดมีการกระจายตัวมากขึ้น
โดย บลจ. 5 อันดับแรกมีส่วนแบ่งตลาดรวมราว 60%
จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่เกือบ 70%
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีหลาย
บลจ.ที่เคยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) ที่ต่ำกว่าระดับหมื่นล้าน
ขยับขึ้นมาสูงกว่าระดับหมื่นล้านได้ในช่วง 1 ปี
จากการเติบโตหลายเท่าตัว เช่น บลจ.วรรณ บลจ.เอ็มเอฟซี บลจ.แอสเซท พลัส
บลจ.เกียรตินาคินภัทร และ บลจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ โดย บลจ.วรรณ
มีอัตราการเติบโตสูงสุดราว 8 เท่าจากปีที่แล้ว ไปที่เกือบ 4.5
หมื่นล้านบาท จากที่หลายกองทุนให้ผลตอบแทนสูงและสามารถดึงดูดความสนใจจากนักลงทุน
รวมทั้งการทยอยเปิดกองทุนทริกเกอร์มากกว่า 10
กองทุน ซึ่งมีเม็ดเงินหมุนเวียนสูงกว่า 2 หมื่นล้านบาท
ด้าน บลจ.ฟิลลิป ที่แม้จะเป็น
บลจ.ขนาดเล็กแต่มีกองทุนที่สร้างผลตอบแทนติดอันดับสูงสุดในปีที่แล้ว
โดยในไตรมาสล่าสุดมีเม็ดเงินไหลเข้ากองทุนต่างประเทศกว่า 400
ล้านบาท ทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนต่างประเทศแตะระดับพันล้านบาท
เติบโตมากกว่า 500%