สุดต้าน สินค้าราคาแพงทั่วโลกไม่ใช่ไทยประเทศเดียว

หลังกระแสโรคระบาดหมู-หมูแพง
กระเทือนสังคมไทยทั้งประเทศ งานจุดพลุต้องมา “สินค้าแพงทั้งแผ่นดิน”
เพราะกลายเป็นเหตุผลให้เนื้อสัตว์และสินค้าบริโภคอุปโภคหลายชนิดเดินพาเหรดไปที่กระทรวงพาณิชย์จะขอปรับราคาสินค้าไม่ให้ตกขบวน
สังคมจับตาวิพากย์รัฐบาลกันจนต้านแทบไม่ไหว
อีกมุมหนึ่งนักวิจัยสินค้าโภคภัณฑ์แนวหน้าของ Rabobank หรือแม้แต่นักวิเคราะห์อเมริกันต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันให้จับตาปี
2565 วิกฤต “ขาดแคลน” อาหารครั้งใหญ่ของโลก
นักวิเคราะห์เหล่านั้นให้เหตุผลสำคัญของวิกฤตขาดแคลนครั้งนี้
ว่า ราคาสินค้าอาหารเป็นราคาสูงที่สุดในรอบ 10 ปี
ปัจจัยที่เป็นตัวเร่งให้ราคาพุ่งสูงคือ สภาพภูมิอากาศที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้,
เงินเฟ้อสูงขึ้น, ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น
และปัญหาวิกฤตแรงงาน นอกจากนี้
เพราะสินค้ามีความต้องการสูงหลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
ขณะที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ
(Food and Agriculture Organization : FAO) รายงานว่า
ราคาสินค้าเกษตรและน้ำมันในปี 2564 เพิ่มสูงถึง 74%
โดยสินค้าโภคภัณฑ์และอาหารที่มีการซื้อขายมากที่สุดทั่วโลกได้แก่
ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มธัญพืช ผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสัตว์ น้ำมันพืช และน้ำตาล
รวมถึงปัจจัยสมทบอื่นๆ ที่ทำให้ราคาอาหารพุ่งขึ้น เช่น จำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้น
ขณะที่พื้นที่เพาะปลูกลดลง การบริโภคเหลือทิ้งจำนวนมาก
การขาดแคลนแรงงานซึ่งอาจจะเป็นผลจากการกักตัวเพราะติดเชื้อโควิด-19
ตลอดจนการหยุดชะงักของเศรษฐกิจโลกเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรค
จากเหตุผลดังกล่าว ต้องพิจารณากันให้ถ่องแท้ว่า
“หมูแพง” เพียงอย่างเดียว สามารถทำให้ราคาในห่วงโซ่การผลิตสินค้าอื่นๆ
เพิ่มตามไปด้วยได้อย่างไร
ซึ่งเป็นไปได้ที่จะส่งผลต่อราคาเนื้อสัตว์บางประเภทที่สามารถทดแทนเนื้อหมูได้แต่ก็ใช่ว่าราคาจะพุ่งปรี๊ดจนผู้บริโภครับไม่ได้
เนื่องจากผลผลิตไม่ได้ขาดเพียงแต่ความต้องการเพิ่ม
ให้กลไกการตลาดทำงานสร้างสมดุลราคา
ที่สำคัญผู้บริโภคเป็นคนตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อสินค้า
ผู้กำกับดูแลราคาสินค้าอย่างกระทรวงพาณิชย์ ต้องไม่ลืมนำต้นทุนสำคัญของภาคการผลิตที่ราคาขึ้นทั่วโลก เช่น ราคาน้ำมัน วัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของภาคการผลิตและการขนส่ง รวมถึงปัจจัยโรคระบาดโควิด-19 มากกว่า 2 ปี ก่อให้เกิดวิกฤตหลายด้านที่อาจโดนละเลยไป ลองสมมติกันดูว่าหากไม่มีกรณีหมูแพง สินค้าจะไม่มีการขอปรับราคาเลยหรือ?
ราคาสินค้าแพงทั่วโลกเพราะต้นทุนการผลิตเพิ่มทั้งราคาน้ำมัน
วัตถุดิบ ปัจจัยการผลิตอื่นมีราคาสูง
รัฐบาลหลายประเทศเข้าใจสถานการณ์และเหตุผลเป็นอย่างดี
กลไกการตลาดจึงเป็นพื้นฐานในการสร้างสมดุลราคาไม่ให้สูงเกินและไม่กดจดผู้ผลิตไม่สามารถปรับราคาตามต้นทุน
การเร่งการผลิตในประเทศหรือผลิตเองไม่ได้ก็ต้องหาแหล่งนำเข้าที่ปลอดภัยและราคาเหมาะสมสำหรับผู้บริโภค
สำหรับกระทรวงพาณิชย์ไทยขอความร่วมมือผู้ผลิตให้ตรึงราคาทั้งสินค้าอาหารทั้งเนื้อสัตว์
อาหารแห้ง จนถึงแก๊สหุงต้ม และนำมาตรการด้านราคา
ด้วยการจำหน่ายสินค้าราคาถูกทั้งหมู ไก่ และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นในโครงการสินค้าราคาถูก
หากมองอีกด้านหนึ่งวิธีการนี้เป็นการดูดซัพพลายออกจากระบบในราคาขอความร่วมมือ(อาจจะเป็นราคาต้นทุน)
จากผู้ผลิต เพื่อไปจำหน่ายผู้บริโภคบางจุด
แต่ไม่ได้ทำให้คนไทยที่เสียภาษีได้รับประโยชน์ถ้วนหน้า
ที่สำคัญนักเศรษฐศาสตร์บางท่านกล่าววิธีการดังกล่าวเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น
และอาจจะก่อให้เกิดการคอร์รัปชั่นได้
หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงเริ่มที่
ราคาหมูแพงเพราะหมูขาด
การใช้กลไกการตลาดอย่างชาญฉลาดคือการหาหมูมาเพิ่มในระบบให้เพียงพอต่อความต้องการ
แต่ก็อย่างที่บอกการนำเข้าก็ต้องรอบคอบและรัดกุมที่สุด โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและสุขอนามัยของประชาชนเป็นสำคัญ
ต้องไม่มาจากแหล่งที่มีโรคระบาดชนิดเดียวกันเพื่อป้องกันปัญหาโรคระบาดซ้ำซ้อน
ถ้าหาไม่ได้ก็เร่งผลิตในประเทศ
ซึ่งวิธีนี้ดูสมเหตุสมผลแม้ต้องใช้เวลาแต่รัฐบาลสามารถส่งเสริมการผลิตและจูงใจเกษตรกรให้ฟื้นฟูฟาร์มด้วยมาตรการต่างๆ
เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การพักหนี้ การหาลูกหมูขุน วัคซีนที่มีคุณภาพ และอื่นๆ
เพื่อเร่งการผลิตให้ออกสู่ตลาดได้โดยเร็ว
ระหว่างนี้ผู้บริโภคจะพิจารณาทางเลือกเองว่าจะกินอะไรทดแทนเนื้อหมู
เชื่อว่าผู้บริโภคปรับตัวได้ไม่มีใครเจาะจงกินแต่เนื้อหมูอย่างเดียว
แต่มาตรการคุมราคาขอเถอะให้เป็นทางเลือกสุดท้าย