ทำไมการตามหา “ความยุติธรรม” ถึงทำให้เรายิ่งทะเลาะกัน?

“When given the choice between being right and being kind,
choose kind.”
- Dr. Wayne Dyer
ทำไมยิ่งวิ่งตามหา
“ความยุติธรรม” มากเท่าไหร่ ยิ่งเจอความไม่ยุติธรรมมากขึ้นเท่านั้น?
หลายปัญหาในธุรกิจครอบครัว เช่น
การให้เงินเดือนที่ยุติธรรม หรือการจัดสรรหุ้นให้ลงตัวนั้น ไม่อาจแก้ไขได้ด้วยเครื่องมือทางการเงิน
กฎหมาย การจัดโครงสร้างการบริหารใหม่ หรือแม้กระทั้ง “ธรรมนูญครอบครัว”
ประเด็นปัญหาที่เกี่ยวพันกับเรื่องของผลประโยชน์ ความยุติธรรม
ความเชื่อ และอดีตที่ฝังใจ คือประเด็นที่ไม่มีใคร หรือเครื่องมือใด จะแก้ช่วยแก้ปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
เพราะปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากข้างในตัวของเราเองเป็นความนึกคิดของเรา
รวมถึงจิตใต้สำนึกของเราเองด้วย ซึ่งเกิดขึ้นในหัว (สมอง) และหัวใจของเรา
แล้วจะจัดการกับปัญหาเหล่านี้กันอย่างไร? ผมมี 3 แนวคิดที่อยากจะแชร์ เพราะเชื่อว่าจะทำให้พวกเรามีความสุขมากขึ้น และครอบครัวก็จะมีสันติภาพมากขึ้น
แนวคิดที่ 1 เลิกตามหาความยุติธรรม
การแบ่งผลประโยชน์ที่ยุติธรรมเป็นสิ่งที่ทุกครอบครัวปรารถนา
แต่จะมีซักกี่ครอบครัวที่แบ่งผลประโยชน์แล้วสมาชิกทุกคนยอมรับว่า “ยุติธรรม”? ทำไมพ่อแม่ต้องเอาเงิน เวลา และพลังงาน ไปถมให้กับลูกที่ไม่เอาไหน?
ทำไมลูกที่ไม่ได้ทำธุรกิจครอบครัวถึงได้หุ้นเท่ากับลูกที่คลุกฝุ่นทำธุรกิจของครอบครัว?
หรือทำไมพี่ชายสามารถไปทำอาชีพที่อยากทำได้
แต่ตัวเราเองต้องมานั่งทำงานในธุรกิจครอบครัว คำถามเหล่านี้
สะท้อนเรื่องของผลประโยชน์ (ซึ่งไม่ได้มีแค่เรื่องของเงิน) กับเรื่องของความยุติธรรมซึ่งเป็นอุดมคติของคนส่วนใหญ่
ใครๆ ก็ต้องอยากได้ความยุติธรรมอยู่แล้วหรือไม่จริง?!
- แต่ละคนมีความยุติธรรมในมุมมองของตัวเอง
ปัญหาใหญ่ของ
“ความยุติธรรม” ก็คือ
ทุกคนมีมุมมองความยุติธรรมเป็นของตัวเอง
พ่อแม่มีมุมมองของความยุติธรรมที่ให้กับลูกในแบบของพ่อแม่ ลูกๆ
มองความยุติธรรมในมุมของตัวเองเช่นกัน พี่กับน้องก็มีมุมมองของความยุติธรรมที่อาจจะแตกต่างกัน
ดังนั้น จึง ไม่มี ความยุติธรรมที่เป็นหนึ่งเดียว การตั้งเป้าหมาย “ความยุติธรรมหนึ่งเดียว” จึงเป็นเพียงอุดมคติที่ไม่มีวันเป็นจริง
และบนเส้นทางของคนที่ไขว่คว้าหาความยุติธรรมนั้น
เคยถามตัวเองหรือไม่ว่า คุณมีความสุขหรือความทุกข์กันแน่ และแม้ถึงวันที่คุณได้รับความยุติธรรมที่ต้องการนั้นแล้ว
เช่น แม่ตัดหางปล่อยวัดน้องชายที่ไม่เอาไหน
คุณได้หุ้นมากกว่าพี่น้องที่ไม่ได้ทำธุรกิจครอบครัว
หรือคุณได้ไปทำอาชีพในฝันตามที่ตั้งใจแล้ว คุณจะมีความสุขจริงๆ หรือ? แล้วแน่ใจหรือไม่ว่าความยุติธรรมที่เกิดขึ้นนั้น จะอยู่กับคุณตลอดไป? แล้วถ้าความยุติธรรมหายไปอีก คุณก็ต้องเริ่มไล่ล่าไขว่คว้ากันอีกรอบอย่างนั้นหรือ?
คำถามเหล่านี้ ทำให้เราต้องกลับมานั่งคิดกันดีๆ ว่ายังควรให้ “ความยุติธรรม” เป็นสิ่งที่เราต้องคอยตามหากันต่อไปหรือไม่
- กระบวนการที่ยุติธรรม VS ผลลัพธ์ที่ยุติธรรม
แต่ก็ไม่ใช่ว่าแนวคิดเรื่องความยุติธรรมจะไร้ค่า
เมื่อเรายังไม่อาจตัดความรู้สึกของการเปรียบเทียบระหว่างกันออกไปได้
และสมาชิกในครอบครัวก็ยังคอยตามหาความยุติธรรมกันอยู่ดี คำแนะนำหนึ่งที่อยากจะฝากไว้คือ
ขอให้พวกเรามุ่งไปที่กระบวนการที่ยุติธรรม (Fair Process) มากกว่าผลลัพธ์ที่ยุติธรรม
(Fair Outcome)
“กระบวนการที่ยุติธรรม” คือการใช้กระบวนการบางอย่างที่ทุกฝ่ายยอมรับว่า
“ยุติธรรม” เพื่อให้กระบวนการนั้นๆ นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยุติธรรมในที่สุด
เช่น หากจะแบ่งเค้กอย่างยุติธรรมให้กับพี่น้อง 2 คน เราก็อาจใช้วิธี “น้องแบ่ง แล้วให้พี่เลือก” หรือ “พี่แบ่ง แล้วให้น้องเลือก” หรือใครแบ่งเค้กก็ได้
แต่ให้คนที่เป่ายิ้งฉุบชนะได้เลือกก่อน หรือถ้ามองว่าแม่คือความยุติธรรม
ก็อาจให้แม่เป็นคนแบ่งให้ก็ได้ เป็นต้น การแบ่งผลประโยชน์ในครอบครัวก็คล้ายกัน หากครอบครัวใช้กระบวนการที่ยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการจัดสรรผลประโยชน์ก็จะช่วยลดความขัดแย้งลงได้
- เท่ากัน หรือเท่าเทียมกัน?
ครอบครัวยังสามารถใช้ความยุติธรรมเป็นกุศโลบายเพื่อ
“เฉลี่ยความสุขโดยทั่วกัน” ได้ด้วย
เช่น การมองความยุติธรรมในมุมของความ “เท่าเทียมกัน” (Equity)
มากกว่า “เท่ากัน” (Equality) ภาพที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของคำทั้งสองคือภาพต่อไปนี้
(ภาพด้านซ้ายคือ “เท่ากัน” (Equality) คือเด็กทั้ง 3
มีกล่องหนึ่งใบเท่ากัน แต่ไม่ใช่เด็กทุกคนจะได้เห็นเกมการแข่งขันเหมือนกัน
ในขณะที่ภาพด้านขวาสะท้อนความ “เท่าเทียมกัน” (Equity) คือเด็กทั้ง
3 ได้กล่องไม่เท่ากัน แต่ได้ชมเกมการแข่งขันเหมือนกัน)
ลองถามตัวเองว่า ถ้าหากเด็กทั้งสามคือคนที่คุณรักไม่แตกต่างกัน คุณจะเลือกความยุติธรรมแบบไหนให้กับพวกเขา?
ความแตกต่างของ “เท่ากัน” (Equality) ด้านซ้าย และ “เท่าเทียมกัน” (Equity) ด้านขวา
Photo Cr.: Angus Maguire
ความยุติธรรมเป็นหลักการที่ดี เพียงแต่คนเรามองความยุติธรรมแตกต่างกันไป การไขว่คว้าหาความยุติธรรมหนึ่งเดียวจึงเป็นอุดมคติที่ไม่อาจนำพาสันติสุขมาให้เราได้ แตกต่างจาก “การให้โดยไม่หวังผลตอบแทน” ที่สุขใจทั้งผู้ให้และผู้รับ ซึ่งการให้นั้นมีจุดเริ่มต้นจาก “ความพอ” ของตัวเราเองถ้าเราพอแล้วก็เป็นฝ่ายให้บ้าง อย่าบังคับตัวเองให้ต้องให้เพราะรู้สึกผิด หรือต้องให้เพื่อให้ดูดี หรือให้ในวันนี้เพื่อจะเอาในวันข้างหน้า ขีดจำกัดของ “การให้โดยไม่หวังผลตอบแทน” จึงอยู่ที่ความพอใจของผู้ให้เป็นสำคัญ
แนวคิดที่ 2 เปลี่ยนความคิดคนอื่นด้วยการฟัง
หลายครั้งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในธุรกิจครอบครัวก็เป็นผลมาจากการปะทะกันของ
“ตัวตน” ที่แตกต่างกันของคนในครอบครัว โดยต่างคนต่างก็ยึดถือในความคิด ความเชื่อ
และแนวทางของตนว่าถูกต้อง
ว่าดีลองยกเรื่องแนวคิดการบริหารธุรกิจแบบไหนดีที่สุดขึ้นมาคุยดูก็ได้
เราก็จะเห็นความ “ยึดมั่นตัวตน” แบบตัวเป็นๆ
กันเลย หรือถ้าจะเขยิบออกไปอีกหน่อยพูดถึงเรื่องการเมืองหรือศาสนา เราก็อาจได้เห็นสงครามย่อยๆ
เกิดขึ้นในครอบครัวเลยทีเดียว
- ลด “อีโก้” ลงซักนิด (“ชั้นไม่ได้มีอีโก้ซะหน่อย!”)
อีโก้ (Ego) หรือ
ความยึดมั่นในตัวตนของตัวเองนี่แหละคือปัญหาสำคัญ เพราะทำให้เราไม่สามารถเข้าใจ
และเห็นใจคนอื่นได้อย่างแท้จริงนอกจากนี้ ปัญหาอาจจะยิ่งบานปลายหนักขึ้นไปอีก
หากเราพยายามที่จะเปลี่ยนคนอื่นให้คิดหรือเชื่อตามเราให้ได้ ความขัดแย้งทางความคิดที่เกิดขึ้นในครอบครัวคือหลักฐานของข้อเท็จจริงที่ว่าคนเราคิดต่างกัน
การยอมรับความจริงข้อนี้ควบคู่กับการยอมรับว่าไม่มีความคิดของใครที่เรียกได้ว่าดีที่สุด
หรือถูกต้องที่สุดจะทำให้เราค่อยๆ เปิดใจมากขึ้นที่จะรับฟังกัน โดยที่ยิ่งคุณเปิดใจรับฟังใครซักคน
และเค้าคนนั้นก็รับฟังคุณเช่นกัน ทั้งสองฝ่ายก็มีแนวโน้มที่จะเข้าใจกันมากขึ้น เปรียบเสมือนการเปิดหน้าต่างให้ความคิดไหลเวียนระหว่างกันความคิดที่แตกต่างก็มีโอกาสที่จะผสมผสานกัน
แม้อาจจะยังไม่รวมเป็นเนื้อเดียวกันก็ตาม
- การฟังคือการให้เกียรติกัน
“ปัญหาใหญ่ของการสื่อสารคือเราไม่ได้ฟังเพื่อที่จะเข้าใจ
เราฟังเพื่อที่จะตอบโต้” คือคำกล่าวของ สตีเวน โควีย์
ที่สะท้อนปัญหาสำคัญของการสื่อสารในปัจจุบันการฟังเพื่อที่จะโต้แย้งหรือจับผิดไม่อาจทำให้เราเข้าใจกันได้และไม่ทำให้ความคิดของเราเข้าใกล้กัน
“การฟังให้ดีคือการหาว่าอะไรอยู่ในใจของใครสักคน
และแสดงให้เห็นว่าคุณสนใจมากพอที่จะอยากรู้ การฟังคือสิ่งที่เราทุกคนล้วนกระหายอยาก
เพราะนั่นคือการได้รับความเข้าใจในฐานะคนที่มีความคิด อารมณ์
และความตั้งใจที่ไม่เหมือนใครและมีคุณค่า” เคท เมอร์ฟี ผู้เชี่ยวชาญด้านการฟังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ
การฟังอย่างตั้งใจเป็นสัญลักษณ์ของความเคารพต่อความคิดเห็นของคู่สนทนา
ผู้พูดก็รู้สึกว่า ตนได้รับความใส่ใจ สนใจ เกิดความรู้สึกที่ดีกับผู้ฟัง
ในขณะที่ผู้ฟังก็มีโอกาสจะเข้าใจผู้พูดได้มากขึ้นการฟังยังแสดงถึงความใจกว้างของเราที่สามารถยอมรับความเห็นที่แตกต่างระหว่างสมาชิกในครอบครัวโดยไม่ตัดสินความคิดหรือความเชื่อของคนอื่นด้วยการเอาความคิดหรือความเชื่อของตนเองเป็นบรรทัดฐานของความถูกต้อง
อุปสรรคเดียวที่มักจะเกิดขึ้นกับการฟังก็คือ เราไม่เคยมีเวลามากพอที่จะฟัง
พวกเรามีเวลาที่จำกัดในแต่ละวัน และมีภารกิจมากมายที่ต้องทำ
แล้วจะทำอย่างไรจึงจะสามารถหาสมดุลของการฟังได้?
- เมื่อไหร่เราจึงควรจะหยุดฟัง?
การฟังอย่างตั้งใจเป็นเรื่องที่ต้องใช้ “ความอดทน” และ “พลังงาน”
เป็นอย่างมาก แม้เราแทบจะไม่ได้พูดอะไรออกไปเลยระหว่างการสนทนาก็ตาม
ดังนั้น ผู้ฟังที่ดีจึงต้องมีความอดทน และมีพลังงานเหลือมากพอที่จะเป็นผู้ฟังที่ดี
และต่อไปนี้คือข้อแนะนำว่าเมื่อไหร่เราจึงควรจะหยุดฟัง
(1) เมื่อเราไม่มีพลังเหลือพอที่จะฟัง
สมองเราอ่อนล้าเกินไป หรือเมื่อตัวเราเองเกิดความอ่อนไหวในอารมณ์มากจนเกินไป
(2) เมื่อคนๆ นั้นเป็นคนไม่น่ารัก
บางคนก็เป็นคนที่ไม่น่ารับฟังจริงๆ เช่น เมื่อเขาพูดแล้วทำให้เรารู้สึกเศร้า หดหู่
ต่ำต้อย หรือเจ็บปวดจนเกินไป
แต่ก็ต้องระวังอย่าให้อีโก้ของตัวเราเองมาขัดขวางสิ่งที่เราจะได้เรียนรู้จากคนที่ไม่น่ารักเหล่านี้
เพราะบางครั้งคำพูดของคนที่ไม่น่ารักเหล่านี้นี่แหละที่จะทำให้เราเติบโตทางความคิดได้จริงๆ
(3) เมื่อความคาดหวังของผู้พูดกับผู้ฟังไม่ตรงกัน
เช่น เราคาดหวังความจริงแต่ผู้พูดไม่ได้ให้ความจริง
เราคาดหวังเหตุผลแต่ผู้พูดไม่ได้ให้เหตุผล เราคาดหวังความชัดเจนไม่คลุมเครือ ซึ่งผู้พูดไม่ได้ให้
หรือเราต้องการข้อมูลแต่ผู้พูดอาจยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้ เป็นต้น
การหยุดฟังอาจเกิดผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ได้ เช่น ความไม่พอใจของผู้พูด หรือความขัดแย้งที่อาจจะรุนแรงขึ้นได้ เราจึงต้องระมัดระวังให้ดีเมื่อจะหยุดฟังโดยต้องไม่ลืมว่าการฟังคือการให้เกียรติกันการหยุดที่จะฟังก็ต้องเป็นการหยุดที่ให้เกียรติผู้พูดด้วยเช่นกัน
แนวคิดที่ 3 สันติในครอบครัวเริ่มต้นจากสันติในใจคุณเอง
เราไม่อาจตั้งความหวังให้ครอบครัวมีความสุขสงบจากการกระทำของคนอื่น
จุดเริ่มต้นที่แท้จริงแล้วมาจากตัวของเราเอง โดยเริ่มจากใจของเรานั่นเอง
และสิ่งที่เราพบเจอกันอยู่เสมอและก่อให้เกิดความขัดแย้งในครอบครัวก็คือ “อดีตที่ไม่ยอมอยู่ในอดีต” ทุกคนมีอดีตที่ฝังใจ
ทุกคนมีแผลในใจ ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง บางครั้งอาจทิ้งร่องรอยไว้ในใจของเรา ซึ่งถ้าไม่พูดถึงเราก็อาจจะลืมไปแล้ว
แต่ถ้ามีสิ่งมากระตุ้น ก็พร้อมที่จะกระโจนออกมาทักทายเราโดยไม่ทันตั้งตัว
“แผลในใจ” ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุของความขัดแย้งในธุรกิจครอบครัวที่หลายคนอาจมองข้ามไป
หรือแม้กระทั้งไม่รู้ว่ามีอยู่เลยด้วยซ้ำ เพราะโดยทั่วไปแล้ว เราไม่สามารถเห็น “แผลในใจ” ได้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกับแผลที่อยู่นอกร่างกาย
แผลในใจอาจทำให้เรารู้สึกโกรธ เสียใจ น้อยใจ ซึ่งหากสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ
ก็จะส่งผลต่อการทำงาน และการใช้ชีวิตร่วมกันในครอบครัว แล้วเราจะจัดการอย่างไร?
- ให้อภัยตัวเอง
เราคงไปเปลี่ยนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้
แต่เราสามารถเปลี่ยน “มุมมอง” ของเราต่อสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอคำพูดที่ว่า
“สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วนั้นดีเสมอ” สะท้อนการให้อภัยตัวเองได้เป็นอย่างดี
การให้อภัยตัวเองครอบคลุมไปถึงการไม่ทำร้ายตัวเองด้วยการย้ำคิดถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นไม่ว่าเหตุผลของความผิดพลาดนั้นจะคืออะไรก็ตาม
การเรียนรู้จากความผิดพลาดเป็นเรื่องที่ดี แต่การลงโทษตัวเองซ้ำๆ
ในมโนสำนึกกับเรื่องที่ผ่านมาแล้วในอดีตไม่อาจทำให้อะไรดีขึ้นได้
“แผลในใจ” ก็เช่นเดียวกับแผลอื่นๆ
บนร่างกายของเรา เมื่อเกิดได้ ก็หายได้ อาจจะทิ้งรอยแผลเป็นไว้บ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา
แต่จะไม่สามารถทำร้ายจิตใจที่เข้มแข็ง และมีความเมตตาต่อตัวเองได้อย่างแน่นอน
- ให้อภัยกับคนที่ทำให้เราเจ็บ
“การให้อภัย” ไม่ได้แสดงว่าเราอ่อนแอ แต่แสดงถึงความเข้มแข็งทางจิตใจของคนๆ นั้นมากกว่า การให้อภัยกับคนที่ทำให้เราเจ็บนั้นให้คุณประโยชน์ 2 ชั้น ชั้นแรกคือ ทำให้คุณเองสบายใจคุณได้ปลดปล่อยตัวเองจากอดีตที่ฝังใจ และชั้นที่ 2 คือ ทำให้คนที่เคยทำผิดกับคุณสบายใจขึ้นด้วย การให้อภัยจะทำให้คุณสามารถเริ่มต้นซ่อมแซมความสัมพันธ์ที่ชำรุดให้กลับมาดีได้จริงๆ ความสุขที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือรางวัลของคนที่กล้าจะให้อภัย
“วัฒนธรรมการให้”
คือภูมิคุ้มกันความขัดแย้งในธุรกิจครอบครัว
“ยุติธรรม” หรือ “ไม่ยุติธรรม” คงลดความสำคัญไปมาก หากครอบครัวเลือกที่จะมีความสุขจากการให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เลือกที่จะให้เกียรติกันด้วยการรับฟังเพื่อลดช่องว่างทางความคิดของกันและกัน และเลือกที่ให้อภัยกัน ทิ้งความหลังไว้ในอดีตเพื่อที่จะก้าวเดินต่อไปแนวคิดทั้ง 3 ประการ คือรากฐานสำคัญของการปลูกฝัง “วัฒนธรรมของการให้” ไว้ในใจของสมาชิกครอบครัว
“วัฒนธรรมการให้” 3 ประการ ได้แก่ การให้ (โดยไม่หวังผล) การให้เกียรติ และการให้อภัย