ธปท.เผยคนไทยลงทุนนอกน้อย แล้วควรลงทุนอย่างไร

การกระจายลงทุนออกมายังต่างประเทศเพียงเฉพาะส่วนของตราสารทุน
จะช่วยเพิ่มอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังได้อย่างมีนัยสำคัญ
และหากเป็นผู้ที่รับความเสี่ยงได้มาก
อัตราผลตอบแทนที่คาดหวังจะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว
ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เผยแพร่บทความ
“เจาะลึกพฤติกรรมการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของคนไทย” ทางคอลัมน์
Focused and Quick (FAQ) เมื่อวันที่
4 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมาโดยชี้ว่าคนไทย
และแม้แต่นักลงทุนสถาบันไทยนิยมฝากเงินและลงทุนในหุ้นไทยเป็นหลัก
ซึ่งเป็นการจำกัดโอกาสในการกระจายความเสี่ยง
และจำกัดโอกาสเพิ่มผลตอบแทนระยะยาวจากการลงทุนในตลาดการเงินโลกที่กว้างและมีผลิตภัณฑ์หลากหลาย
โดยเมื่อเทียบการลงทุนในตราสารทุนของคนไทยกับหลายประเทศ คนไทยมีความ “ติดบ้าน” (Home-Bias) ในอัตราสูง เมื่อดูตามดัชนี Home-Bias ซึ่งหากค่าใกล้ 1.00 หมายความว่ามีการลงทุนในหุ้นประเทศตัวเองเป็นส่วนใหญ่ พบว่าค่า Home-Bias Index ของคนไทยอยู่ที่ระดับ 0.94 เป็นรองเล็กน้อยจากคนอินโดนีเซียซึ่งอยู่ในระดับ 0.99 ขณะที่คนมาเลเซียอยู่ที่ระดับ 0.86 คนเกาหลีใต้อยู่ที่ระดับ 0.83 ส่วนคนออสเตรเลียอยู่ที่ระดับ 0.69 ส่วนของการลงทุนในตราสารหนี้ คนไทยก็มีความติดบ้านไม่แพ้ด้านตราสารทุน
โดยดัชนี Home-Bias อยู่ที่ระดับ 0.94 ขณะที่คนเกาหลีใต้อยู่ที่ระดับ 0.88 และคนออสเตรเลียอยู่ที่ระดับ 0.83 และแม้แต่นักลงทุนสถาบันของไทยเอง ก็ยังมีการลงทุนต่างประเทศอย่างจำกัด กองทุนประกันสังคม มีมูลค่าการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศประมาณ 8% ขณะที่เพดานการลงทุนอยู่ที่ระดับ 15.3% กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ มีการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ 23% ขณะที่เพดานอยู่ที่ 40% ส่วนภาพรวมของอุตสาหกรรมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) มีการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศรวมกันไม่ถึง 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าแทบไม่มีการเติบโตในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
โดยในบทความดังกล่าวของธนาคารแห่งประเทศไทยได้สรุปจบไว้ว่า “การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินของไทยลดลงตามภาวะเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การปรับสัดส่วนพอร์ตการลงทุนให้มีหลักทรัพย์ต่างประเทศมากขึ้นจึงเป็นโอกาสหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มผลตอบแทนการลงทุนในระยะยาวได้” พร้อมทั้งได้อธิบายแนวนโยบายที่จะเอื้อให้คนไทยลงทุนต่างประเทศได้ง่ายขึ้น
ลงทุนนอกที่ผ่านมาดีอย่างไร
ตามที่บทความจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้อธิบายไว้ข้างต้น
ในด้านการบริหารความเสี่ยง การแบ่งเงินลงทุนไปต่างประเทศจะช่วยกระจายความเสี่ยงเชิงประเทศ
(Country Risk) ได้ในทันที
ทั้งในมิติของเศรษฐกิจและการเมือง และยังเป็นการกระจายความเสี่ยงเชิงอุตสาหกรรม (Industry Risk) ออกไปยังบริบทที่ต่างกันทั่วโลก
ในภาพรวมจึงถือเป็นการช่วย “ลดความเสี่ยง” ของการลงทุน
แทนที่จะกระจุกความเสี่ยงไว้อยู่ในบริบทของประเทศใดเพียงแห่งเดียว
ในด้านผลตอบแทน จากสถิติย้อนหลัง 5 ปี (ข้อมูล
ณ 22 มกราคม
2564)การลงทุนในหุ้นต่างประเทศหลายพื้นที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกในระดับสูง เช่น
การลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีจีน ให้ผลตอบแทน 1 ปีล่าสุด 82.7% และให้ผลตอบแทนย้อนหลัง
5 ปีเฉลี่ย 28.1% ต่อปี การลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทน 1 ปีล่าสุด
45.6% และเฉลี่ย 5 ปีล่าสุด 25.5% ต่อปี
ส่วนการลงทุนในหุ้นโดยรวม ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทน 17.8% ในช่วงหนึ่งปีล่าสุด และในช่วง 5 ปีให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 17.4% ต่อปี ด้านดัชนีหุ้นเวียดนามให้ผลตอบแทน 17.7% ในช่วงหนึ่งปีล่าสุด และให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5 ปีล่าสุด 17.4% ต่อปี ด้านทองคำ ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุนในระดับสากล ช่วงหนึ่งปีล่าสุดให้ผลตอบแทน 18.8% และให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5 ปีล่าสุดที่ 11.0% ต่อปี
ขณะที่ หุ้นไทยโดยรวม มีผลตอบแทนติดลบ 1.7% ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา และให้ผลตอบแทน 6.7% ต่อปี ในช่วง 5 ปีล่าสุด ด้านหุ้นไทยขนาดใหญ่ หนึ่งปีล่าสุดให้ผลตอบแทนติดลบถึง 9.2% ขณะที่ค่าเฉลี่ยผลตอบแทน 5 ปีล่าสุดอยู่ที่ 6.6% ต่อปี และหากพิจารณาหลักทรัพย์กลุ่มกองทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ของไทย ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาให้ผลตอบแทนติดลบถึง 34.9% และในช่วง 5 ปีล่าสุดผลตอบแทนเฉลี่ยก็ยังติดลบ 0.5% ต่อปี
จากสถิติข้างต้น
จึงสามารถเห็นภาพได้ชัดเจนว่า หากมีการกระจายเงินลงทุนออกไปยังต่างประเทศ
นอกจากจะเป็นการลดความเสี่ยงผ่านการกระจายความเสี่ยงแล้ว
ยังเป็นการเพิ่มผลตอบแทนการลงทุนไปพร้อมกัน
และหากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่าหุ้นต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงเป็นพิเศษในช่วงที่ผ่านมาคือหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี
ซึ่งหุ้นกลุ่มนี้มีไม่มากนักในประเทศไทย
และเป็นธุรกิจเทคโนโลยีเดิมที่มีแนวโน้มการเติบโตภายในประเทศได้บ้างแต่ไม่สูงนัก
เช่น กลุ่มโทรคมนาคมที่อัตราการเข้าถึงผู้ใช้งานในประเทศค่อนข้างอิ่มตัว
แนวทางจัดพอร์ตกระจายลงทุนนอก
สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้บ้าง แนะนำแผนลงทุนความเสี่ยงปานกลาง ซึ่งโครงสร้างหลักจะประกอบด้วย ตราสารหนี้ตลาดเงิน 15% ตราสารหนี้ทั่วไป 25% ตราสารทุน 30% กองทุนด้านอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน 25% และสินค้าโภคภัณฑ์ 5% ซึ่งกรณีที่ไม่ลงทุนต่างประเทศ จะให้ผลตอบแทนที่คาดหวัง ซึ่งคำนวณจากผลงานจริงในอดีตของกองทุนแนะนำโดย บลป.เทรเชอริสต์ ในระดับ 3.5-3.7% ต่อปี แต่หากลงทุนต่างประเทศด้วยในส่วนของตราสารทุน จะเพิ่มผลตอบแทนที่คาดหวังเป็น 5.5-5.7% ต่อปี
จะเห็นว่า
การกระจายลงทุนออกมายังต่างประเทศเพียงเฉพาะส่วนของตราสารทุน
จะช่วยเพิ่มอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังได้อย่างมีนัยสำคัญ
และหากเป็นผู้ที่รับความเสี่ยงได้มาก
อัตราผลตอบแทนที่คาดหวังจะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว
*รวบรวมข้อมูลโดย: รวีโรจน์ เจียมศิริกาญจน์
และนิติกร สุทธิมูล ผู้แนะนำการลงทุนรับอนุญาต บลป.เทรเชอริสต์