การสร้างทายาทด้วยระบบพี่เลี้ยง

การสร้างทายาทผู้นำ
เป็นปัญหาที่ท้าทายของทุกองค์กร ไม่เว้นแม้แต่กิจการครอบครัว โดยเฉพาะในยุคที่ธุรกิจต้องเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม อีกทั้งคนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ก็มีแนวความคิดแตกต่างกันมาก การผ่องถ่ายความรู้และประสบการณ์ที่มีประโยชน์
จึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายๆ
ผู้นำสามารถช่วยให้ผู้อื่นเติบโตได้
ด้วยบทบาทการเป็นพี่เลี้ยง (Mentor) ที่มีประสิทธิภาพ
การทำหน้าที่ดังกล่าว เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับทัศนคติ บวกกับทักษะความชำนาญ
คุณสมบัติที่เหมาะสมและความรู้ความสามารถ
ผู้นำที่มีบทบาทสำคัญในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนภาวะผู้นำของตนเอง ด้วยความตั้งใจและเต็มใจ เพื่อส่งเสริมในทางบวกต่อการเติบโตของผู้นำรุ่นใหม่ในองค์กร และเพื่อเปิดโอกาสต่างๆ ในอนาคต แม้ว่าจะต้องลงทุนในด้านเวลาและความพยายามก็ตาม
ลักษณะงานของการเป็นพี่เลี้ยง (Mentoring)
เกี่ยวข้องกับการแบ่งปันปัญญาภูมิความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญพิเศษ
เพื่อช่วยให้ผู้เรียนรู้ (Mentee) ได้พัฒนาและเติบโตมักให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาชีพหน้าที่การงานหรือให้คำแนะนำปรึกษาเกี่ยวกับบทบาทด้านต่างๆ ฉะนั้น คนที่เป็น Mentor
มักจะเป็นคนที่อาวุโสกว่า
มีประสบการณ์มากกว่าที่เต็มใจแบ่งปันความรู้ การทำงาน หรือการคิด ให้กับอีกคนที่มีประสบการณ์น้อยกว่า
ด้วยความสัมพันธ์ที่เชื่อใจต่อกันซึ่งไม่ใช่การบังคับบัญชาโดยตรง
การรับบทบาทเป็น
Mentor เป็นภาระความรับผิดชอบที่สำคัญมากเพราะ Mentor
จะสามารถช่วยให้ Mentee เปิดวิสัยทัศน์ เข้าใจภาพรวมของทิศทางเชิงกลยุทธ์และเป้าหมายขององค์กร
และเพิ่มความตระหนักรู้ในความเป็นไปได้สำหรับโอกาสความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ซึ่งเป็นการรักษาคนที่มีศักยภาพให้คงอยู่ในองค์กร
และช่วยในวางแผนสร้างทายาทหรือผู้นำรุ่นต่อไป ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในระบบที่มีพี่เลี้ยงดูแลจะก่อให้เกิดวัฒนธรรมของความจงรักภักดี
ช่วยให้คนที่มีศักยภาพ มีความรู้สึกว่าได้รับการให้อำนาจและรู้สึกจูงใจ
นอกจากนั้น ตัวพี่เลี้ยงเองก็ได้พัฒนาทักษะและความสามารถส่วนตัวไปด้วย เป็นการเปิดโอกาสให้มีเครือข่ายที่กว้างขึ้น ได้เรียนรู้แง่มุมต่างๆ ของธุรกิจที่นอกเหนือความรับผิดชอบปกติ มีโอกาสท้าทายมุมมองของตนเองในประเด็นต่างๆ รอบด้านมากขึ้น
Mentor ที่ดีต้องมีคุณสมบัติเฉพาะตัวหลายด้าน
เพื่อช่วยให้ผู้อื่นสามารถปีนบันไดแห่งความสำเร็จให้สูงขึ้นได้ด้วยตัวเขาเอง
1. เป็นคนที่ประสบความสำเร็จ ทั้งในสิ่งที่ทำและสิ่งที่เป็น นั่นคือ
เป็นคนที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นคนที่มีอุปนิสัยดี
2. เป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ฉะนั้น
ผู้นำคนหนึ่งอาจจะต้องมีพี่เลี้ยงหลายคนเพื่อดูแลแต่ละด้านของชีวิตที่ต้องการพัฒนา
เช่น ด้านสุขภาพ ด้านความสัมพันธ์ ด้านการสื่อสาร ด้านการเป็นผู้นำ
3. เป็นคนที่มีวุฒิภาวะสูง ตัวอย่างเช่น ความสามารถในการตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานของภาพรวมการเผชิญกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ/ความหงุดหงิด/ความไม่สะดวกสบาย/และการพ่ายแพ้
โดยไม่บ่นและไม่ล้มเลือกที่จะรับผิดชอบและทำสิ่งที่ถูกต้อง ความเต็มใจที่จะยืนหยัดในงาน หรือสถานการณ์จนกระทั่งเสร็จสิ้น ความมีวินัยในการใช้ความพยายามในการทำสิ่งที่คาดหวัง ความสามารถในการรับข้อมูลที่ยุ่งยาก และรักษาสิ่งต่างๆ เป็นความลับความเปิดเผยในการแลกเปลี่ยนปัญหาส่วนตัวในภาวะที่ช่วยคนอื่นได้ ความเมตตาที่จะเชื่อมต่อกับผู้อื่นโดยไม่พยายามที่จะแก้ไขเขา
4. เป็นคนที่มีศิลปะในการถามคำถาม เขาจะถามคำถามและสำรวจความคิดเพื่อเปิดประตูที่ปิดอยู่
จะไม่ด่วนสรุปคำตอบ ผู้นำส่วนใหญ่ให้ทิศทางเร็วเกินไป
ในขณะที่ควรจะถามคำถามเท่านั้น
5. เป็นคนที่ถ่อมตัว ความสัมพันธ์ในการเป็นพี่เลี้ยงจะดีที่สุด เมื่อทั้งสองฝ่ายพบและแลกเปลี่ยนอยู่บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้โดยการถ่อมตัวของพี่เลี้ยง เช่น ทำตัวเปิดเผย แบ่งปันความล้มเหลว หรือผิดหวังของตนเอง เพื่อเป็นประโยชน์กับอีกฝ่ายหนึ่งในการเรียนรู้ ทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง
การทำงานของ Mentor ที่มีประสิทธิภาพ จะวัดได้จากผลงานต่อไปนี้
1. สามารถกลั่นความจริงออกมาจากความซับซ้อน
และแบ่งข้อมูลออกมาเป็นหลักการชิ้นเล็กๆ เพื่อที่ผู้อื่นสามารถจะนำไปประยุกต์ใช้ได้
2. จัดให้มีพื้นที่ปลอดภัยที่ผู้เรียนสามารถฝึกหัดหลักการที่พวกเขาได้เรียนรู้
3. ให้ทิศทางในการใช้ชีวิต
และจัดแผนที่สำหรับทางเลือกต่างๆ ว่าจะไปถึงที่หมายได้อย่างไร
4. ก่อให้เกิดพื้นฐานความสัมพันธ์ที่มั่นคง
การให้ความมั่นคงปลอดภัย จะช่วยให้อีกฝ่ายหนึ่งเติบโตและงอกงาม
5. ช่วยผู้คนให้เห็นขอบฟ้าใหม่ๆ
และบินไปยังสถานที่ที่เกินกว่าจินตนาการของเขาจะไปถึง
นี่คือการให้พลังอำนาจอย่างแท้จริง
6. สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ช่วยให้เขาเห็นภาพใหญ่โดยการสอนเขาเรื่อง “ทำไม-Why” สิ่งนี้ช่วยให้เขาเข้าใจปัจจัยแวดล้อม และแสดงให้เห็นความคิดและเหตุผลเบื้องหลังการตัดสินใจ ทำให้มีความสามารถในการตัดสินใจด้วยตนเองได้ดีขึ้น
การปรับเปลี่ยนภาวะผู้นำสู่การเป็น Mentor เป็นงานที่ท้าทายและมีคุณค่า
ให้ระลึกอยู่เสมอว่า
ทุกๆ คนสามารถปรับปรุงตนเองได้
และทุกๆ วัน มีโอกาสในการปรับปรุงเสมอ
หมั่นสร้างทัศนคติที่ดี เช่น การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ละทิ้งความรู้เดิมๆ บ้าง ยินดีเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ
พยายามทำบางสิ่งบางอย่างที่แตกต่างออกไป ตระหนักว่า สิ่งที่ดีที่สุดในวันนี้
ไม่สามารถตอบโจทย์ความท้าทายของวันพรุ่งนี้ได้ มองดูที่ภาพใหญ่
ค้นหาบางสิ่งบางอย่างที่ดีกว่าเดิม
ก้าวเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างกล้าหาญท่ามกลางความไม่แน่นอนขณะเดียวกัน
ก็รู้จักเก็บเกี่ยวความเจริญงอกงามตามจังหวะเวลา
การจัดให้มีระบบพี่เลี้ยงสำหรับตำแหน่งที่สำคัญ
จะช่วยให้การสร้างทายาทในองค์กรดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ความสำเร็จที่คาดหวังย่อมขึ้นอยู่กับศักยภาพความมุ่งมั่น
และความเต็มใจของผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นทายาทด้วย