การโค้ชด้วย Skill/Will Matrix

ในระยะยาว
องค์กรต้องการสร้างผู้นำด้วยการกระจายงานให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริหารมีแนวทางในการปรับวิธีการบริหารให้สอดคล้องกับแต่ละสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ช่วยให้ประหยัดเวลา และยังสามารถพัฒนาตนเองและทีมงานให้เติบโตไปพร้อมๆ กับองค์กร
บังเอิญดิฉันได้เจอหนังสือเก่าเล่มหนึ่ง
ที่ซื้อไว้ตั้งแต่ปี 1996
ชื่อ The TAO of Coaching ของ Max
Landsberg พอมาอ่านใหม่ก็ยังรู้สึกสนุกและทันสมัยอยู่
เหมาะสำหรับผู้บริหารที่ต้องการเรียนรู้เรื่องการบริหารคน และเทคนิคการโค้ชแบบเข้าใจง่าย
และนำไปใช้ได้ทันที จึงนำเนื้อหาบางส่วนมาเล่าสู่กันฟัง
หนังสือเล่มนี้เน้นว่า
ทักษะการโค้ชเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่ขาดเสียมิได้สำหรับผู้นำ และเปรียบเทียบการโค้ชกับปรัชญาแห่งเต๋า
ก็ด้วยหลักการที่ว่า การโค้ชทำให้เกิดประโยชน์ 2 อย่างขึ้นพร้อมๆ กัน
เหมือนกับเหรียญที่มี 2 ด้าน นั่นคือ
1. การช่วยให้ผู้อื่นได้พัฒนาและเติบโต
ด้วยการพัฒนาทักษะและความสามารถของคนที่ทำงานกับเรา
2. การเพิ่มประสิทธิผลในฐานะผู้นำ
ด้วยการกระจายงานให้กับผู้ที่เราได้ช่วยให้เขามีความสามารถสูงขึ้น
เนื่องจากการโค้ชมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานและพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ของผู้อื่น
ผู้ที่เป็นโค้ชจึงต้องมีอุปนิสัยและทักษะพื้นฐานบางอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ฝึกฝนได้
ตัวอย่างเช่น
- การตั้งคำถามให้เป็นและตรงจุด การโค้ชจะเน้นที่การถาม
มากกว่าการบอก เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งกว่า
- การตั้งใจฟัง เพื่อให้เข้าใจครบถ้วนทั้งในสิ่งที่ผู้พูดได้พูดและไม่ได้พูดออกมา
- การสะท้อนกลับที่ชัดเจน ทั้งในด้านบวกและด้านลบ
เพื่อปรับปรุงสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการ
- มีความฉลาดทางอารมณ์
เพื่อให้เข้าใจและรู้ใจผู้อื่น ไม่ตัดสินด้วยมุมมองของตนเอง
รูปแบบการโค้ชมีหลายแบบ แต่เทคนิคหนึ่งที่หนังสือนี้แนะนำคือ
การจับคู่อย่างเหมาะสมระหว่างสไตล์การบริหารของโค้ชกับความพร้อมของผู้รับการโค้ช
เพื่อก่อให้เกิดผลงานอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น นั่นคือ “Skill/Will
Matrix” ซึ่งขอแปลง่ายๆ ว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง ทักษะ กับ
ความตั้งใจ
หัวใจสำคัญของการใช้โครงสร้างรูปแบบการโค้ช
“ทักษะ/ความตั้งใจ” มีความท้าทายสองอย่างคือ
ประการแรก เราต้องวินิจฉัยอย่างจริงจังว่า ผู้รับการโค้ช มีทักษะและความตั้งใจอย่างไร
ประการที่สองคือ ตัวโค้ชเองต้องปรับเปลี่ยนสไตล์การโค้ชให้เหมาะสม เมื่อผู้รับการโค้ชมีการพัฒนาที่ดีขึ้นด้านใดด้านหนึ่ง
ในการวินิจฉัยว่าผู้รับการโค้ชมีทักษะและความตั้งใจสูงหรือต่ำ ต้องพิจารณาสำหรับงานที่เฉพาะเจาะจงที่จะทำให้สำเร็จเท่านั้น ฉะนั้น คนๆ หนึ่ง อาจจะมีความพร้อมต่องานแต่ละชิ้นไม่เหมือนกัน
- ทักษะ (Skill) ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ การฝึกอบรม ความเข้าใจ การตระหนักในบทบาทที่รับผิดชอบ
- ความตั้งใจ (Will) ขึ้นอยู่กับ ความปรารถนาที่จะบรรลุความสำเร็จ สิ่งจูงใจ ความมั่นคง ความเชื่อมั่น
เมื่อระบุความพร้อมของผู้รับการโค้ชทั้งด้านทักษะและความตั้งใจได้แล้ว ผู้ที่เป็นโค้ชก็เลือกใช้สไตล์การโค้ชให้สอดคล้องกัน ซึ่งสามารถแจกแจงได้เป็น 4 แบบ ดังนี้
แบบที่ 1 วิธีสั่งการ
(Direct)
สำหรับผู้ที่มีทักษะต่ำและความตั้งใจต่ำ (Low Skill/Low
Will) เน้นคำสั่งที่ชัดเจน
- เริ่มต้นด้วยการสร้างความตั้งใจก่อน อธิบายให้ข้อมูลที่ชัดเจนสั้นๆกระชับ
ค้นหาความจูงใจ และช่วยให้เขาเห็นภาพของผลงานในอนาคต
- ต่อด้วยการสร้างทักษะ จัดโครงสร้างงานที่สามารถทำให้สำเร็จได้ง่าย
พร้อมด้วยทำการโค้ชและฝึกอบรม
- และรักษาความตั้งใจไว้ ให้การสะท้อนกลับอย่างสม่ำเสมอ
ให้การชมเชยและสนับสนุนการทำงาน
- แต่กำกับดูแลด้วยการควบคุมที่เข้มงวด
มีกฎกติกาที่ต้องทำตาม และมีกำหนดเวลาแล้วเสร็จที่ชัดเจน
คนที่อยู่ในกลุ่มนี้
อาจจะเป็นพนักงานที่ไม่ยินดีพัฒนาตนเอง ไม่ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทำงานไปแบบไม่หวังความก้าวหน้า
แบบที่ 2 วิธีชี้แนะ
(Guide) สำหรับผู้ที่ มีทักษะต่ำและมีความตั้งใจสูง (Low Skill/High
Will)
เน้นการให้แนวทาง
- ลงทุนเวลาให้ในช่วงแรกในเรื่องการโค้ชและการฝึกอบรม
การตอบคำถามและอธิบาย
- สร้างสภาพแวดล้อมที่ปราศจากความเสี่ยง ที่ยินยอมให้เรียนรู้
“ข้อผิดพลาด” แต่เนิ่นๆ
- ผ่อนคลายการควบคุม เมื่อเห็นความก้าวหน้า
คนที่อยู่ในกลุ่มนี้
อาจจะเป็นพนักงานใหม่ หรือพนักงานที่ต้องการสร้างหน้าที่การงานใหม่
แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร
แบบที่ 3 วิธีกระตุ้นสนับสนุน
(Excite) สำหรับผู้ที่
มีทักษะสูงและมีความตั้งใจต่ำ (High Skill/Low Will) เน้นการจูงใจ
- ระบุสาเหตุที่ทำให้ความตั้งใจต่ำ เช่น
ลักษณะงาน รูปแบบการบริหาร หรือปัญหาส่วนตัว
- จูงใจอย่างมีประสิทธิผล
โดยวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลกระทบสำคัญรวมทั้งทัศนคติ
- ติดตาม และประเมินให้สะท้อนกลับที่การสร้างสรรค์
คนที่อยู่ในกลุ่มนี้ อาจจะเป็นพนักงานที่มีความรู้ประสบการณ์สูง
มีความทะนงตัว แต่เฉื่อยชา หรือต่อต้านการเปลี่ยนแปลง
แบบที่ 4 วิธีกระจายงาน
(Delegate) สำหรับผู้ที่
มีทักษะสูงและมีความตั้งใจสูง (High Skill/High Will) เน้นการให้ความคล่องตัวและอำนาจ
- ให้อิสระในการทำงาน กำหนดวัตถุประสงค์แต่ไม่ใช่วิธีการ
ไม่เพิกเฉยในการชมเชย
- ส่งเสริมให้มีความรับผิดชอบ ให้มีส่วนเกี่ยวข้องในการตัดสินใจ
ให้โอกาสแสดงความคิดเห็น
- ให้รับความเสี่ยงที่เหมาะสม ให้ทำงานที่ต้องใช้ความพยายามที่สูงขึ้น
และอย่าบริหารเกินความจำเป็น
คนที่อยู่ในกลุ่มนี้ มักจะเป็นพนักงานที่ต้องการความก้าวหน้าและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น
มีความมุ่งมั่นต่อผลสำเร็จ
ในระยะยาว
องค์กรต้องการสร้างผู้นำด้วยการกระจายงานให้ได้มากที่สุด โครงสร้างการพิจารณาทั้งทักษะและความตั้งใจดังกล่าว
จะช่วยให้ผู้บริหารมีแนวทางในการปรับวิธีการบริหารให้สอดคล้องกับแต่ละสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดเวลา และยังสามารถพัฒนาตนเองและทีมงานให้เติบโตไปพร้อมๆ กับองค์กร