สินทรัพย์กลุ่ม Defensive เหมาะเก็บเข้าพอร์ตช่วงเศรษฐกิจตึงตัว

อีสปริงส์ แนะปรับกลยุทธ์ลงทุนในสินทรัพย์กลุ่ม Defensive ตราสารหนี้โลก อินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์ กองทุนอสังหาฯ และรีท ชี้เหมาะเก็บเข้าพอร์ตช่วงเศรษฐกิจตึงตัว ดอกเบี้ยขาขึ้นเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง บลจ.กรุงไทย ให้น้ำหนักลงทุนตราสารหนี้ 40%
นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย จำกัด หรือ TMBAM Eastspring และ บลจ.ธนชาต หรือ Thanachart Fund Eastspring กล่าวในงานสัมมนา “ลงทุนอย่างไร เมื่อเศรษฐกิจโลกกำลังเจอมรสุม” ว่า ปี 2565 ถือเป็นปีที่ค่อนข้างหนักหนาสำหรับตลาดลงทุนทั่วโลก แม้ว่าในปัจจุบันหลายประเทศจะเริ่มเปลี่ยนผ่านจากโควิด-19 จากการมองว่าเป็นการแพร่ระบาดไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่นมากขึ้น ทำให้ทุกประเทศทั่วโลกสามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างปกติ และเศรษฐกิจโลกจะดูเหมือนจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนจากการลงทุนในหลายๆ
สินทรัพย์กลับไม่ได้ฟื้นตัวตามสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น
โดยตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงปัจจุบัน พบว่าหุ้นจากประเทศหลักๆ
ทั่วโลกทำผลตอบแทนติดลบ และติดลบค่อนข้างหนักพอสมควร
TMBAM Eastspring แนะจับตา 3 ปัจจัยเสี่ยง
นายบดินทร์ พุทธอินทร์
ผู้อำนวยการส่วนกลยุทธ์การลงทุน TMBAM Eastspring กล่าวว่า
ปัจจุบันการลงทุนทั่วโลกกำลังกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอน โดยมี 3
ประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยส่วนตัวเชี่อว่า
อาจจะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและการลงทุนทั่วโลก
ประเด็นแรก ความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ
โดยเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐฯที่อาจเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
และตลาดยังประเมินว่า โจทย์ของเฟดนั้นไม่ง่าย
เพราะนอกจากจะทำให้เงินเฟ้อลดลงมาแล้วต้องไม่ทำให้เศรษฐกิจถดถอยด้วย
ประเด็นที่ 2 ความเสี่ยงด้าน Supply
Shock หลังจากที่นโยบาย Covid Zero ของจีนที่ทำให้เกิดการล็อกดาวน์ในจีนอีกครั้ง
โดยเริ่มมีคำถามว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)
หรือการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่ตั้งเป้าไว้ 5.5% นั้น มีโอกาสถึงเป้าหมายหรือไม่
เนื่องจากล่าสุด Bloomberg Economics ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจจีนเหลือ 3.6%
จากก่อนหน้าที่คาดการณ์เติบโต 5.1% และล่าสุดเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทาง Bloomberg
ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจจีนลงอีกครั้งเหลือเติบโตเพียง 2.0%
นอกจากนั้น
การล็อกดาวน์ในจีนแต่กลับไม่ได้กระทบแค่ประเทศจีน แต่กระทบถึงห่วงโซ่อุปทาน (Supply
Chain) ทั่วโลก ที่ต่างพึ่งพาโรงงานในจีนเป็นส่วนใหญ่
โดยส่วนตัวเชื่อว่าความกังวลด้าน Supply Shock ที่ทำให้การผลิตสินค้าและบริการหายไปจะเริ่มส่งสัญญาณอีกครั้ง
ประเด็นที่ 3 มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจากยุโรป
เพราะยังมีกลุ่มประเทศ ที่ยังพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียอย่าง ฮังการี บัลแกเรีย สโลวาเกีย
และสาธารณรัฐเช็ก ที่ยังคงไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว และขอยืดระยะเวลาออกไป
ขณะที่รัสเซียก็พร้อมจะตอบโต้อีกฝ่ายด้วยการตัดการส่งพลังงานไปยังประเทศที่ไม่จ่ายค่าพลังงานเป็นเงินรูเบิ้ล
รวมถึงล่าสุดที่ทางรัสเซียจะไม่ส่งก๊าซไปยังฟินแลนด์เพื่อตอบโต้ที่ฟินแลนด์แสดงความจำนงเข้าร่วมกลุ่มนาโต้
ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์เกิดขึ้นอีกครั้ง
และจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อในยุโรปเร่งตัวขึ้นอีก
และเชื่อว่าอาจเป็นอีกแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB)
ที่เป็นอีกแรงที่ทำให้สภาวะการเงินโลกตึงตัวมากขึ้น
แนะกลยุทธ์จัดพอร์ต
กองทุน 3 กลุ่ม รับมือผันผวน
นายพงศ์สรร ยอดเมืองเจริญ
ผู้อำนวยการส่วนบริหารผลิตภัณฑ์ TMBAM Eastspring แนะนำกลยุทธ์การลงทุนในกองทุนที่เหมาะกับเป็นหลุมหลบภัยในช่วงที่ตลาดกำลังผันผวนหนัก
ประกอบด้วยกองทุนตราสารหนี้
ตัวอย่างเช่น กองทุน PIMCO GIS Income
Fund มีการกระจายการลงทุนไปในตราสารหนี้หลากหลายประเภททั่วโลกตั้งแต่พันธบัตรรัฐบาล
หุ้นกู้เอกชน ตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ และตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน (Securitized
Asset) ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยมหภาคที่เข้ามากระทบทั้งเรื่องความกังวลของปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
หรือภาวะความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนได้
นอกจากนี้
กองทุนยังมีการถือครองตราสารหนี้ที่สามารถชดเชยเงินเฟ้อ (Inflation Linked
Bond) และตราสารหนี้เอกชนในกลุ่มสันทนาการและท่องเที่ยว
ซึ่งจะสามารถรับผลตอบแทนในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มมีการเปิดเมืองด้วย
กองทุนที่เน้นลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน
(อินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์) ทั่วโลก ยกตัวอย่างกองทุน Lazard Global Listed
Infrastructure Equity Fund ที่พอร์ตการลงทุนยังคงเน้นการลงทุนในบริษัทที่อยู่ในกลุ่มสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ
เช่น ถนน ทางด่วน เสาส่งไฟฟ้า สนามบิน ฯลฯ
เนื่องจากสามารถสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอในภาวะที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนและอาจมีการปรับขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในอนาคตได้
นอกจากนี้ ในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูง
อินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ยังมีความน่าสนใจ
เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ทนทานต่อสภาวะตลาดผันผวน ( Defensive Play) (ข้อมูลจาก
Lazard Asset Management)
กองทุนที่เน้นที่ลงทุนในหมวดอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์
(Property Sector) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานทั้งไทยและต่างประเทศ
ตัวอย่างเช่น การลงทุนในทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (รีท)
ประเภทอุตสาหกรรม หรือ Industrial REIT ในไทย
เพราะได้รับประโยชน์จากการเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และโลจิสติกส์
รวมถึงแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างประเทศจากปัญหาซัพพลายเชนในจีน
และกลุ่ม Retail REIT ในสิงคโปร์
เพราะได้รับประโยชน์จากค่าเช่าที่มีแนวโน้มกลับสู่สภาวะปกติภายหลังสถานการณ์โควิด-19
ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีการเปิดประเทศในนักลงทุนต่างชาติเข้าได้อย่างเสรีมากขึ้น
นายพงค์สรร กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า ปัจจุบัน TMBAM
Eastspring มีกองทุนทั้ง 3 ประเภทสินทรัพย์
และได้มีการปรับกลยุทธ์ให้เหมาะกับสภาพตลาดในปัจจุบันเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นและเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง
นอกจากนี้
ยังมีการกระจายการลงทุนในหลากหลายกลุ่มธุรกิจและประเทศเพื่อลดความผันผวนของพอร์ตลงทุนโดยรวม
อย่างไรก็ตามในระยะสั้น
กองทุนอาจได้รับผลกระทบไปบ้างอย่างไรก็ตามเชื่อว่าในระยะยาวจะสามารถกลับมาสร้างผลตอบแทนตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
KTAM แนะกระจายพอร์ต-เพิ่มน้ำหนักตราสารหนี้
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ
บลจ.กรุงไทย (KTAM) และนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน เปิดเผยถึงภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนทั่วโลกว่า
แม้การฟื้นตัวเศรษฐกิจในช่วงต้นปี 2565 จะไม่เท่าเทียมและไม่ทั่วถึง
โดยปัจจัยหลักมาจากเงินเฟ้อ การปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอาหาร
และสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ รวมถึงผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในหลายประเทศ
ที่เป็นปัจจัยหลักที่กดดันสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงที่ผ่านมา
ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลต่อตัวเลขเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก
โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
ได้ปรับท่าทีต่อการดำเนินนโยบายการเงินไปสู่ทิศทางที่ตึงตัวมากขึ้น
ทั้งการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และการลดปริมาณการเข้าซื้อพันธบัตร (QT) นอกจากนี้
ธนาคารกลางในหลายประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (EM) ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อและป้องกันเงินทุนไหลออก
ขณะที่ธนาคารยุโรปแม้จะยังสงวนท่าทีอยู่
แต่มีแนวโน้มที่จะเริ่มเข้าสู่ความตึงตัวมากยิ่งขึ้นจากปัญหาเงินเฟ้อ
จึงนับว่าเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้
สำหรับการลงทุนในปี 2565
มีความผันผวนสูงจากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น หลายสินทรัพย์ได้มีการปรับตัวลงในวงกว้าง
ทำให้นักลงทุนส่วนมากปรับตัวเข้าสู่โหมดลดความเสี่ยง (Risk-off) มากขึ้น
KTAM จึงมีแนวทางในการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภท
โดยมองว่า ตลาดตราสารหนี้เป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจ
หลังต้นปีมานี้ราคาปรับตัวลงแรงโดยมีสาเหตุมาจากธนาคารกลางมีแนวทางในการควบคุมเงินเฟ้อ
ทำให้อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันมีการปรับตัวเพื่อรองรับการขึ้นดอกเบี้ยมาพอสมควรแล้ว
อย่างไรก็ตาม KTAM มองว่าเงินเฟ้อน่าจะถึงจุดสูงสุดในปลายปี
2565 จากนั้นจะมีการปรับตัวลดลงอยู่ในระดับที่ธนาคารกลางสามารถควบคุมได้
ถึงแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะมีการปรับตัวสูงขึ้นแต่อาจจะไม่ปรับตัวสูงขึ้นมากและรวดเร็วกว่าในระยะเวลาที่ผ่านมา
ประกอบกับตลาดหุ้นโดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯและยุโรป
ยังมีความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับตัวลดลง เนื่องจากการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ย
เป็นการสกัดกั้นสภาวะเงินเฟ้อและการแทรกแซงของสหรัฐฯ และยุโรปต่อรัสเซีย
ส่งผลให้ต้นทุนด้านพลังงานและอาหารเพิ่มสูงขึ้นทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐ และยุโรป
เติบโตช้าซึ่งจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อผลประกอบการของบริษัทต่างๆ
“ตลาดหุ้นเอเชียน่าสนใจกว่าประเทศพัฒนาแล้ว
เนื่องจากที่ผ่านมามีการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปประเทศที่พัฒนาแล้ว
และเมื่อพิจารณาด้านราคาจะเห็นว่าหุ้นเอเชียมีราคาที่ถูกกว่า
ทั้งยังมีการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่ได้ประโยชน์ท่ามกลางเงินเฟ้อ เช่น
กลุ่มสินทรัพย์โภคภัณฑ์ และทองคำ โดยแนะนำให้น้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ 40% หุ้น
50% และทองคำ 10%”
การรับมือกับความเสี่ยงจากการลงทุน
นักวิเคราะห์ บริษัท มอร์นิ่งสตาร์รีเสิร์ช
(ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า วิธีบริหารจัดการกับความเสี่ยงนั้นอาจแบ่งได้เป็น 3
ส่วนคือ การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุน (Asset Allocation) การตัดสินใจลงทุน
(Investment Selection) และเรื่องของพฤติกรรมการลงทุน (Behavior)
ทั้งนี้ การจัดสรรสินทรัพย์และการตัดสินใจลงทุน
จะต้องปรับให้รองรับกับพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนด้วย
การรับมือกับความเสี่ยงได้ดีที่สุดก็คือ
การเลือกส่วนผสมของสินทรัพย์ลงทุนให้เหมาะสมนั่นเอง
นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงอาจเหมาะกับการลงทุนในหุ้น
แต่หากรับความเสี่ยงได้ต่ำก็อาจลงทุนในตราสารหนี้และถือเงินสดไว้แทน
และในภาวะปัจจุบันของตลาดการเงินที่ทั้งหุ้นและตราสารหนี้ถูกเทขายอย่างหนัก
นักลงทุนบางส่วนอาจให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นด้วยสัดส่วนที่สูงมาก
การจัดสรรสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ การเลือกสินทรัพย์เพื่อลงทุนก็ควรคำนึงถึงความเสี่ยงของแต่ละสินทรัพย์ หุ้นขนาดใหญ่มักจะมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่าหุ้นขนาดเล็ก หุ้นในตลาดอเมริกาก็มักมีความผันผวนน้อยกว่าหุ้นในตลาดเกิดใหม่ พันธบัตรรัฐบาลก็มีความเสี่ยงที่ต่ำกว่าตราสารหนี้เอกชน
SCB CIO แนะทยอยสะสมหุ้นกู้เอกชน เรทติ้ง A - ขึ้นไป
นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่
ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief
Investment office (SCB CIO ) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า
ภาพรวมการลงทุนในตลาดสินทรัพย์เสี่ยง เช่น ตลาดหุ้นโลก ยังมีความไม่แน่นอนสูง
จึงประเมินการลงทุนในตลาดตราสารหนี้และกองทุนตราสารหนี้ เห็นว่า
ระดับราคาในปัจจุบัน เริ่มมีความน่าสนใจ จากการที่อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ
ทั้งอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวเริ่มปรับตัวขึ้นถึงระดับที่คาดว่ารับข่าวการขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายที่จะเกิดขึ้นอีกหลายครั้งในอนาคตตลอดทั้งปี
2565ไปแล้ว
แม้ว่าความผันผวนในตลาดตราสารหนี้ยังคงมีอยู่ก็ตาม
แต่การปรับขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรและหุ้นกู้เอกชน
นับจากนี้ไปจะไม่รุนแรงเหมือนช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา
และความผันผวนน่าจะทยอยลดลงจากการคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ
มีแนวโน้มผ่านจุดสูงสุดในไตรมาส 2 นี้ และจะทยอยปรับลดลง ทำให้ผลกระทบโดยตรงต่อการลงทุนในตลาดตราสารหนี้โลก
ที่ราคาจะปรับตัวลดลงเหมือนช่วง 5 เดือนแรก มีโอกาสน้อยลง
SCB CIO จึงแนะนำให้เริ่มทยอยลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนและกองทุนตราสารหนี้
ทั้งตราสารต่างประเทศและตราสารหนี้ไทยที่มีอันดับเครดิตมีความน่าเชื่อถือสูง (Investment Grade) เช่น
หุ้นกู้ของบริษัทเอกชนที่มีอันดับตั้งแต่ A- ขึ้นไป โดยสามารถเพิ่มอายุเฉลี่ยการลงทุน
และลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุยาวขึ้นได้ แต่ให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในกองทุน High Yield กลุ่มตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ
(Non-Investment Grade) และตราสารหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยสูงแต่มีระดับ
Credit Rating ต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้
(High Yield) เพราะเศรษฐกิจข้างหน้ามีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงอาจจะส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทที่มี
Balance Sheet ไม่แข็งแรงได้
นายศรชัยกล่าวว่า
ตลาดตราสารหนี้โลกรับรู้ผลกระทบ (Price
in) ในประเด็นดอกเบี้ยขาขึ้นและผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้โลกไปแล้ว
มองว่าในปัจจุบันตลาดตราสารหนี้เริ่มกลับมามีความน่าสนใจ
สังเกตจากการที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี
ได้ปรับขึ้นจากระดับเฉลี่ยในช่วงต้นปีที่ 1.5% ต่อปี มาอยู่ที่ระดับ 2.8-3% ต่อปี
ในปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นการเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัวในช่วงเวลาเพียง 5 เดือน
อย่างไรก็ดี
แนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในกลุ่มตราสาร Non-Investment Grade เนื่องจากมีโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ (Default Rate) อาจเพิ่มขึ้นได้ในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว
รวมถึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชนของจีน โดยเฉพาะหุ้นกู้ High Yield ของจีนในภาคอสังหาริมทรัพย์
เนื่องจากมองเศรษฐกิจจีนอยู่ในแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากผลกระทบของการระบาดในจีนและการกลับมาใช้นโยบายปิดเมือง
SCB CIO แนะนำกลยุทธ์การลงทุนในตราสารหนี้
ต้องพิจารณาทั้งจากสัดส่วนการลงทุนและอายุเฉลี่ยตราสารในการลงทุน
แนะจัดสัดส่วนประเภทของตราสารหนี้ให้เหมาะกับความเสี่ยงของการลงทุน
โดยพิจารณาจากอันดับความน่าเชื่อถือและประเภทของตราสาร
ด้านอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นรุนแรงก่อนหน้า
จะเน้นอายุเฉลี่ยของตราสารที่สั้นไม่เกิน 1-2 ปี