เปิดท็อป 10 ไฮยีลด์บอนด์ อสังหาริมทรัพย์ติดกลุ่มมากสุด

ตลาดหุ้นกู้ฮอต รอบ 9
เดือน ภาคเรียลเซ็กเตอร์ระดมเงินกว่า 6.8 แสนล้านบาท อสังหาฯติดท็อป 10
มีมูลค่าคงค้างไฮยีลด์บอนด์สูงสุด สมาคมตลาดตราสารหนี้
ชี้เอกชนเร่งตุนเงินช่วงโค้งท้ายปีก่อนเฟดขึ้นดอกเบี้ย
ตลาดตราสารหนี้ไทย
เติบโตต่อเนื่องแม้ว่าจะยังมีการระบาดของโควิด-19 สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยมูลค่าการออกหุ้นกู้ภาคเอกชนระยะยาวสำหรับช่วง
9
เดือนแรกของปี 2564
มียอดการออกหุ้นกู้รวมทั้งสิ้น 817,556
ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54%
จากช่วงเดียวกันปีก่อน กลุ่มธุรกิจที่ออกหุ้นกู้สูงสุด 5
กลุ่มแรกยังมีสัดส่วนคงเดิม ได้แก่ กลุ่มพลังงาน มีสัดส่วน 20.6%
อสังหาริมทรัพย์ 15.1%
กลุ่มการเงิน 13.6 % พาณิชย์
12.8%
และอาหาร 11.8%
อสังหาฯ ติด 10 อันดับ ออกไฮยีลด์บอนด์สูงสุด
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ก.ล.ต.) เปิดเผย 10
อันดับมูลค่าคงค้างของหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับลงทุน (Non-Investment Grade) หรือไฮยีลด์บอนด์
ณ วันที่ 30
กันยายน 2564
มีมูลค่ารวม 43,554.36
ล้านบาท โดยมีบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จำนวน 7 บริษัท ตามด้วยกลุ่มธุรกิจการเงิน
สำหรับ 5 อันดับแรก
บริษัทที่มีมูลค่าคงค้างไฮยีลด์บอนด์สูงสุด ประกอบด้วย 1.บมจ.พร็อพเพอร์ตี้
เพอร์เฟค มีมูลค่าคงค้าง 13,531.60
คิดเป็น 28.0% 2.บมจ.อารียา
พรอพเพอร์ตี้ 7,817.76
คิดเป็น 16.2% 3.บมจ.แกรนด์
แอสเสท โฮเทลล์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ 5,471.20 คิดเป็น 11.3% 4.บมจ.เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ 5,167.60
คิดเป็น 10.7%
และ 5.บจก.ไทยแอร์เอเชีย
มีมูลค่าคงค้าง 2,800.00
คิดเป็น 5.8%
โดยมีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ที่ระดับ BB+ BB- BB และ B
ทั้งนี้ ตราสารหนี้ Investment Grade (อินเวสต์เมนต์
เกรด) หมายถึง “กลุ่มระดับลงทุน" เรตติ้งตั้งแต่ AAA จนถึง
BBB- เป็นหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทที่มั่นคง
ผลประกอบการดี อยู่ในกลุ่มที่น่าลงทุน ผลตอบแทนไม่สูงมาก
Non-Investment
Grade (นัน-อินเวสต์เมนต์ เกรด) หมายถึง
“กลุ่มต่ำกว่าระดับลงทุน" เรตติ้ง ตั้งแต่ BB+ ลงมา จนถึง D เป็นหุ้นกู้คุณภาพปานกลางถึงคุณภาพต่ำ
จึงให้ผลตอบแทนสูงกว่า
เอกชนเร่งออกหุ้นกู้ ก่อนเฟดขึ้นดอกเบี้ย
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า มูลค่าการออกหุ้นกู้ภาคเอกชนช่วง 9
เดือนแรก มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ด้วยมูลค่า 131,988
ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 59%
จากกลุ่มภาคการผลิต (เรียลเซ็กเตอร์) มูลค่า 685,568 ล้านบาท ล่าสุดจนถึงเดือนตุลาคม (ข้อมูล ณ
วันที่ 7
ต.ค.) มียอดออกหุ้นกู้ไปแล้วราว 30,000
ล้านบาท มีมูลค่ารวม 840,000
ล้านบาท
สำหรับไตรมาส 4 ปี 2564 คาดว่าบริษัทเอกชนออกหุ้นกู้ประมาณ 218,930
ล้านบาท แบ่งเป็น หุ้นกู้ออกใหม่ 111,930
ล้านบาท และอีกประมาณ 107,000
ล้านบาท เป็นการออกเพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนด (โรลโอเวอร์)
นอกจากนี้ คาดว่าการออกหุ้นกู้ของภาคเอกเชน
มีโอกาสแตะ 1
ล้านล้านบาท ในสิ้นปี 2564
สูงกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 900,000
ล้านบาท หลังจากเห็นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ (ไฟลิ่ง)
ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้วประมาณ 100,000
ล้านบาท
"การออกหุ้นกู้ภาคเอกชนปี
64
คาดว่าจะกลับไปทำนิวไฮเดิมปี 2562
ที่ทะลุ 1
ล้านล้านบาท เนื่องจากภาคเอกชนคาดว่าหากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะทำให้ต้นทุนการออกหุ้นกู้สูงขึ้น ดังนั้น
จึงใช้จังหวะช่วงที่เหลือปีนี้ออกหุ้นกู้อย่างต่อเนื่อง" นางสาวอริยา กล่าว
บอนด์ยีลด์ดีด ไม่กระทบต้นทุนเหตุสภาพคล่องสูง
นางสาวอริยา กล่าวถึงทิศทางตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงที่เหลือของปี
2564
แม้ผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) ว่า มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางในตลาดโลก
แต่ส่วนชดเชยความเสี่ยง (Credit
Spread) ของหุ้นกู้ที่ปรับลดลง
ประกอบกับสภาพคล่องในระบบ
ทำให้ต้นทุนของผู้ออกตราสารหนี้ภาคเอกชนไม่ได้เพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปี
ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการออกหุ้นกู้ ดังนั้น
การออกหุ้นกู้ระยะยาวของปีนี้จะไม่ต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้
การเงินธนาคาร
รวบรวมความเคลื่อนไหวการออกหุ้นกู้ เช่น บมจ.แกรนด์แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์
พรอพเพอร์ตี้ (GRAND) ยื่นไฟลิ่งออกหุ้นกู้มีประกัน
2
ชุด เสนอขายผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ โดยชุดที่ 1
เสนอขายไม่เกิน 230
ล้านบาท อายุ 2 ปี
ครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2566
อัตราดอกเบี้ยคง 7.5%
ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3
เดือนตลอดอายุหุ้นกู้ เสนอขายวันที่ 26-27 ตุลาคมที่ผ่านมา
นำเงินไปชำระคืนหนี้หุ้นกู้ระยะสั้น
ชุดที่ 2 เสนอขายไม่เกิน 1,000
ล้านบาท อายุ 1 ปี
6
เดือน ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2566
มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ 7%
ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3
เดือน ตลอดอายุหุ้นกู้ โดยเสนอขายต้นเดือนพฤศจิกายน นำเงินไปชำระคืนหนี้เดิม 200-400
ล้านบาท ใช้ลงทุน และ/หรือให้กู้ยืมแก่บริษัทย่อย และ/หรือ บริษัทร่วมค้า จำนวน 150
ล้านบาท และใช้เป็นทุนหมุนเวียนในกิจการ และ/หรือ พัฒนาโครงการในปัจจุบันของบริษัท
จำนวน 450
ล้านบาท
หุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ
"BB-" แนวโน้มอันดับเครดิต
"Negative" โดยบริษัท
ทริสเรทติ้ง จำกัด
บมจ.ไมโครลิสซิ่ง (MICRO) เสนอขายหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
ไม่มีประกันจำนวน 2
ชุด อัตราดอกเบี้ย 5.25-5.50%
ต่อปี เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หุ้นกู้ดังกล่าวจ่ายดอกเบี้ยทุก 3
เดือน เสนอขายผู้ลงทุนสถาบัน และผู้ลงทุนรายใหญ่
จัดอันดับความน่าเชื่อถือโดยทริสเรทติ้ง เมื่อวันที่ 8
เมษายน 2564
อันดับเครดิตองค์กรอยู่ที่ BB+
แนวโน้มอันดับเครดิต Stable ส่วนหุ้นกู้ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
บริษัทมีวัตถุประสงค์ที่จะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นกู้ในครั้งนี้
เพื่อใช้เป็นเงินทุนในการขยายธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อของบริษัท จำนวน 700
ล้านบาท และชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน 150 ล้านบาท
บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์
คอร์ปอเรชั่น จำกัด เสนอขายหุ้นกู้ 2 ชุด แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ
ผู้ลงทุนรายใหญ่ ซึ่งหุ้นกู้ดังกล่าว ค้ำประกันโดย บริษัท ดีทีจีโอ คอร์ปอเรชั่น
จำกัด ประกอบด้วย ชุดที่ 1
อายุ 2 ปี
ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ.2566
อัตราดอกเบี้ย 6.75%
ต่อปี และชุดที่ 2
อายุ 3 ปี
ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ.2567
อัตราดอกเบี้ย 7.10%
ต่อปี หุ้นกู้ดังกล่าวไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) ยื่นไฟลิ่งออกและเสนอขายหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
ไม่มีประกัน อายุ 3 ปี
8
เดือน อัตราดอกเบี้ย 4%
ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3
เดือน เสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป และ/หรือ ผู้ลงทุนสถาบัน
จัดอันดับความน่าเชื่อถือโดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 20
กันยายน 2564
อันดับความน่าเชื่อองค์กร อยู่ที่ BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” ส่วนหุ้นกู้มีความน่าเชื่อถืออยู่ที่
BBB แนวโน้มอันดับเครดิต
“Negative” บริษัทมีวัตถุประสงค์ที่จะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นกู้ในครั้งนี้
เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน
บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) ยื่นไฟลิ่งออกและเสนอขายหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
ไม่มีประกัน จ่ายดอกเบี้ยทุก 3
เดือน เสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไปเปิดให้จองซื้อในเดือนพฤศจิกายน
หุ้นกู้ดังกล่าวแบ่งออกเป็น 3
ชุด อัตราดอกเบี้ย 3.13-
3.70% ต่อปี
ทริสเรทติ้ง
ให้อันดับความน่าเชื่อถือองค์กรที่ระดับ BBB+ แนวโน้ม "คงที่" และอันดับหุ้นกู้ที่
BBB+ แนวโน้ม
"คงที่"
บริษัทมีวัตถุประสงค์ที่จะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นกู้ในครั้งนี้เพื่อคืนหุ้นกู้ชุดเดิมที่ครบกำหนดชำระ
และที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน