เปิด 20 อันดับหุ้นกู้เอกชนไทย อสังหาฯไม่ติดกลุ่ม

กรณีเอเวอร์แกรนด์บริษัทอสังหาฯของจีนที่มีหนี้สินก้อนโตหนึ่งในนั้นมีหนี้หุ้นกู้อยู่ด้วย
หันมาดูบ้านเราเมื่อเปิดรายชื่อท็อป 20
หุ้นกู้เอกชนระยะยาวที่มีมูลค่าคงค้างสูงสุดไม่มีหุ้นกู้อสังหาฯ นักวิเคราะห์ชี้
ดีเวลล็อปเปอร์ไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ฐานะการเงินแข็งแกร่ง
ปัญหาการขาดสภาพคล่องของบริษัท เอเวอร์แกรนด์
กรุ๊ป หรือ Evergrande ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อันดับ
2 ของจีนได้สร้างความหวั่นวิตกไปทั่วโลกเพราะมีหนี้สินสูงที่สุดในโลกถึง3
แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 10 ล้านล้านบาทแบ่งเป็นหนี้ซัพพลายเออร์ 1.5
แสนล้านดอลลาร์ หนี้จากยอดจอง (พรีเซล) มูลค่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์ เจ้าหนี้ธนาคาร
และหุ้นกู้9 หมื่นล้านดอลลาร์
ในปีที่แล้ว
รัฐบาลจีนได้บังคับใช้กฎเกณฑ์ใหม่ในการควบคุมปริมาณหนี้ของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่
มาตรการใหม่นี้ ทำให้เอเวอร์แกรนด์ต้องขายอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทออกไปในราคาต่ำ
เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีเงินไหลเข้ามาในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้
20 อันดับหุ้นกู้เอกชนไทยมูลค่าคงค้างสูงสุด
ไร้อสังหาฯ
ตลาดตราสารหนี้ไทยมีหุ้นกู้อสังหาริมทรัพย์มากน้อยแค่ไหนจากรายงานมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ขึ้นทะเบียนในสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
(ThaiBMA) ณ
วันที่ 31 สิงหาคม 2564 (ไม่รวมตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศ)
มีมูลค่าคงค้างรวมทั้งสิ้น 14.43 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นตราสารหนี้ภาครัฐ 10.57
ล้านล้านบาท ตราสารหนี้ภาคเอกชน 3.77 ล้านล้านบาท และหุ้นกู้ต่างประเทศ (Foreign Bond) 78,361.10
ล้านบาท
สำหรับ 20
อันดับแรกของหุ้นกู้เอกชนระยะยาวที่มีมูลค่าคงค้างสูงสุด
พบว่าไม่มีหุ้นกู้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ โดยมีกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค
กลุ่มค้าปลีก อาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มสื่อสารและโทรคมนาคม กลุ่มพลังงาน
และกลุ่มธุรกิจการเงิน และส่วนใหญ่มีอันดับเครดิตที่แข็งแกร่ง ตั้งแต่ระดับ A- จนถึง
AAA
มูลค่าคงค้างของผู้ออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว
20 อันดับสูงสุด
ปัญหาอสังหาฯจีน กระทบไทยวงจำกัด
บมจ.หลักทรัพย์กสิกรไทย
คาดว่าบริษัทอสังหาริมทรัพย์ของไทยได้รับผลกระทบจำกัด จากปัญหาอสังหาฯในจีน
เนื่องจากฐานะการเงินแข็งแกร่ง โดยมาตรการดูแลเชิงป้องกันของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ที่ถูกนำมาใช้ในปี 2562
ทำให้ความเสี่ยงทางการเงินและสัดส่วนงานในมือรอรับรู้รายได้ (Backlog) ลูกค้าต่างชาติของบริษัทอสังหาฯ
ลดลงต่อเนื่อง
โดย ณ สิ้น ไตรมาส 2/64
สัดส่วนลูกค้าต่างชาติใน Backlog
ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
จำนวน11 แห่งอยู่ที่ 18% การระบาดของโควิด-19
ทำให้กลยุทธ์การพัฒนาสินค้ามีความระมัดระวังมากขึ้น
ส่งผลให้มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนผู้ถือหุ้นสุทธิ (net IBDE)ในไตรมาส
2/64 ต่ำกว่า 0.9 เท่า และ Backlog
สัดส่วนจีนและฮ่องกงลดลงเป็น 12%
บล.กสิกรไทย ชู 4 หุ้นเด่น งบแกร่ง
ORI-LH-SPALI
และAP
บทวิเคราะห์บล.กสิกรไทย ระบุอีกว่า สำหรับ Backlog ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์จำนวน11
ราย ที่มีมูลค่า 2.52 แสนล้านบาทหากพิจารณา Backlog ที่มีกำหนดโอนอย่างน้อยในกรอบ 2 ปี
จะเห็นผลกระทบสูงสุดต่อการคาดการณ์กำไรของฝ่ายวิจัยฯในปี 2565-2566 ไม่เกิน 10%
หาก Backlog ทั้งหมดนี้ตัดสินใจไม่โอน
และยูนิตที่ขายไปแล้วนั้นไม่สามารถขายให้กับผู้ซื้อรายอื่นได้
ทั้งนี้ปัจจุบันยังมีกิจกรรมการโอนของลูกค้าต่างชาติในไตรมาส
3/64 และบริษัทอสังหาฯยังมีเงินดาวน์ราว 25-30% ของราคาขาย เป็นส่วนชดเชยความเสียหายหากลูกค้าต่างชาติเลือกที่จะไม่โอนกรรมสิทธิ
ดังนั้นจึงคงมุมมอง “เป็นกลาง” ต่อหุ้นอสังหาฯทั้งกลุ่ม
โดยเลือก บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ (ORI)บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH ) บมจ.เอพี
(ไทยแลนด์) (AP) บมจ.ศุภาลัย
(SPALI) และบมจ.เอสซี
แอสเสท คอร์ปอเรชั่น (SC)
เป็นหุ้นเด่น
ด้วยงบดุลที่โดดเด่นและยอดขายล่วงหน้าของอสังหาฯแนวราบ ที่แข็งแกร่ง
ซึ่งช่วยชดเชยยอดขายคอนโดมิเนียมที่ลดลง
รวมถึงแนวโน้มการทำกำไรที่ปรับตัวดีขึ้น
ตลอดจนแนวโน้มการฟื้นตัวของธุรกิจที่มีรายได้ประจำเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักในหุ้นที่เราเลือก
โดยปัจจัยดังกล่าวยังจะช่วยต้านทานผลกระทบจากปัญหาอสังหาฯ
ของจีนในปัจจุบันได้ในระดับหนึ่ง
เว้นแต่ปัญหาดังกล่าวจะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมและความต้องการที่อยู่อาศัยทั่วไป
ADB เชื่อไม่ซ้ำรอยเลห์แมนบราเธอร์ส
นายมาซัตซูกะ อาซากาวะ
ประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB)กล่าวว่า
จีนมีทุนสำรองและเครื่องมือด้านนโยบายที่เพียงพอในการป้องกันไม่ให้การผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทไชน่า
เอเวอร์แกรนด์ ส่งผลกระทบจนกลายเป็นวิกฤตการเงินโลก
ประธาน ADB ยังกล่าวด้วยว่า
ทางการจีนได้แสดงความพร้อมที่จะควบคุมไม่ให้การล้มละลายของเอเวอร์แกรนด์ต้องบานปลาย
และธนาคารกลางจีนก็อัดฉีดสภาพคล่องจำนวนมากเข้าสู่ระบบ นอกจากนี้
เอเวอร์แกรนด์ยังมีสินทรัพย์ที่ถือครองอยู่เป็นจำนวนมาก
ซึ่งคาดว่าจะช่วยบรรเทาภาระหนี้สินของบริษัทได้
อย่างไรก็ดี นายอาซากาวะกล่าวว่า
การล่มสลายของตลาดอสังหาริมทรัพย์อาจส่งผลกระทบต่อรัฐบาลในระดับภูมิภาคของจีน
และภาคครัวเรือนที่ต้องพึ่งพาการถือครองอสังหาริมทรัพย์ในรูปของตราสารหนี้ทางการเงิน
"เราต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
เนื่องจากผลกระทบที่มีต่อสถานะการเงินของรัฐบาลในระดับภูมิภาคของจีนและภาคครัวเรือนนั้น
เป็นสิ่งที่น่ากังวลมาก" นายอาซากาวะกล่าว
เปิดมาตรการคุมอสังหาฯรัฐบาลจีน
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงศรี
จำกัด มีมุมมองว่า
เอเวอร์แกรนด์ซึ่งมีปัญหาสภาพคล่องเกิดจากการที่มีหนี้อยู่ในระดับสูงมากอยู่แล้ว
แต่เมื่อมาเผชิญกับการควบคุมหนี้ที่เข้มงวดขึ้นของจีนจึงทำให้ขาดสภาพคล่องรุนแรง
ไม่ได้เกิดจากภาพอุตสาหกรรมที่ไม่ดีทั้งระบบ
ส่วนผลกระทบของเอเวอร์แกรนด์
ต่อภาพเศรษฐกิจโดยรวมมีจำกัด กรณีที่บริษัทผิดนัดชำระหนี้จะส่งผลกระทบต่อเจ้าหนี้
ทั้งธนาคาร ผู้ถือหุ้นกู้ และซัพพลายเออร์ในวงกว้าง
รวมทั้งอาจทำให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายอื่นๆ กู้เงินได้ยากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม
คาดว่ารัฐบาลจีนจะเข้ามาช่วยเหลือบางส่วนเพื่อให้มีผู้ได้รับผลกระทบต่างๆ
น้อยที่สุด ทางการจีนพยายามจัดการปัญหาหนี้มาโดยตลอด
ในอดีตที่ผ่านมามีการปล่อยให้บริษัทล้มละลาย
แต่ก็อยู่ภายใต้การประเมินว่าจะต้องไม่ส่งผลกระทบในวงกว้าง
ขณะที่ภาคธนาคารกลางจีนมีความแข็งแกร่ง
มีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งหมดต่อสินทรัพย์เสี่ยง (CAR Ratio) สูงที่ 14.5% ณ สิ้นปี 2020
และตราสารอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้ - CDS (Credit Default Swap) 5
ปี ของธนาคารจีน ไม่ได้เคลื่อนไหวไปกับความกังวลเกี่ยวกับข่าวดังกล่าว
ทั้งนี้ จีนออกนโยบาย “3 Red Lines” เพื่อควบคุมนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
(Property Developers) เพื่อให้ลดหนี้
และมีงบดุล (Balance
Sheet) ที่ดีขึ้น
ซึ่งจะส่งผลดีให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีความแข็งแกร่งในอนาคต
แต่สิ่งที่แลกมาคือบริษัทที่มีหนี้สูงอยู่แล้ว จะไม่สามารถหาสภาพคล่องในระยะสั้น
และอาจจะต้องล้มละลายไปด้วย
สำหรับความหมายของ 3 Red Lines Policy คือ
มาตรการควบคุมสถานภาพทางการเงิน 3 ข้อ
โดยมุ่งเน้นให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ในจีนมีสถานะทางการเงินที่เข้มแข็ง