ส่อง “ค่าแรงขั้นต่ำ” ตลอด 50 ปี ปี 2516-2566 ปรับขึ้นมาแล้วเท่าไร?

6647

หากย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีก่อน ในปี 2516 นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยเริ่มมีการกำหนด “ค่าแรงขั้นต่ำ” เป็นครั้งแรก คณะปฏิวัติในขณะนั้นได้มอบอำนาจให้กระทรวงมหาดไทย กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการค่าจ้างขึ้นมา ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคี มีการแต่งตั้งผู้แทนจากฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างอย่างน้อยฝ่ายละ 3 คน ซึ่งเมื่อรวมประธานและกรรมการอื่นจะต้องมีไม่น้อยกว่า 9 คน แต่ไม่เกิน 15 คนนั้น

ซึ่งคณะกรรมการในขณะนั้นได้พิจารณาข้อเท็จจริงต่าง ๆ ถึงอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ในตอนนั้น เพื่อให้ลูกจ้างสามารถเลี้ยงดูตัวเองและสมาชิกในครอบครัวได้อีก 2 คน โดยนำไปเปรียบเทียบกับงานในลักษณะเดัยวกัน สภาพทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ทั้งค่าครองชีพ ราคาสินค้า ต้นทุนการผลิต และความสามารถของธุรกิจแล้ว จึงกำหนดให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำแตกต่างกันไปตามพื้นที่ต่าง ๆ

  • ไทยกำหนด “ค่าจ้างขั้นต่ำ” ครั้งแรก 12 บาท/วัน ในปี 2516

14 กุมภาพันธ์ 2516 ได้ประกาศกำหนด “ค่าแรงขั้นต่ำ” เป็นฉบับแรก โดยกำหนดอัตราแรงขั้นต่ำไว้ที่ 12 บาท หรือเดือนละ 312 บาทสําหรับลูกจ้างรายเดือน เบื้องต้นครอบคลุมพื้นที่เพียง 4 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี และมีผลบังคับใช้เมื่อ 17 เมษายน 2516 ระยะเวลาผ่านไปราว 8 เดือนเศษ ได้มีการประกาศฉบับใหม่เป็นฉบับที่ 2 ขยับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในพื้นที่เดิมเป็น 16 บาท

หลังจากนั้นผ่านไปราวครึ่งปี 14 มิถุนายน 2517 ประกาศฉบับที่ 3 เริ่มบังคับใช้ กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ 20 บาท พร้อมกับการขยายพื้นที่เพิ่มเติมอีก 2 จังหวัด คือ สมุทรสาคร และนครปฐม ภายในปีเดียวกันนั้นมีการขยายการกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำไปสู่พื้นที่อื่นของประเทศไทย โดยแบ่งเป็น 3 เขตหลักๆ แต่มีอัตราค่าจ้างที่แตกต่างกันไป สำหรับจังหวัดภาคกลาง ภาคใต้ และ 4 จังหวัด คือ อุดรธานี นครราชสีมา ขอนแก่น และอุบลราชธานี อยู่ที่ 18 บาท ส่วนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ 16 บาท และต้นปี 2518 ขยับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้ 6 จังหวัด (กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และนครปฐม) อีกครั้งเป็น 25 บาท

นั่นเท่ากับช่วงระยะเวลาราว 2 ปี ตั้งแต่ปี 2516-2518 มีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างสูงสุด 13 บาท

  • รัฐบาลเริ่มนำ “นโยบายแรงงาน” เข้าแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3

และห่างหายไปอีกราว 2 ปี ในช่วงเวลาดังกล่าวรัฐบาลไทยได้บรรจุนโยบายแรงงานในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับ 3 ต่อมามีการออก พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ขึ้นมา ซึ่งมีการกล่าวถึงข้อตกลงเกี่ยวสภาพการจ้างงาน การระงับข้อพิพาทแรงงาน การนัดหยุดงาน คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ คณะกรรมการลูกจ้าง สมาคมนายจ้าง สหภาพแรงงาน สหพันธ์นายจ้างและสหพันธ์ลูกจ้าง การกระทำอันไม่เป็นธรรม และบทลงโทษเกี่ยวกับแรงงานสัมพันธ์

หลังจากนั้นมีการปรับแก้กฎกระทรวงใหม่ ประเด็นสำคัญอยู่ที่การปรับแก้การพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำนั้นให้ครอบคลุมเพียงค่าใช้จ่ายของลูกจ้างเพียงคนเดียวเท่านั้น จากเดิมที่รวมถึงสมาชิกในครอบครัวด้วยอีก 2 คน

หลังจากนั้นช่วงเดือนตุลาคม 2520 ได้บังคับใช้ประกาศฉบับที่ 6 กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ 25 บาท ในพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และนครปฐม ขณะที่จังหวัดภาคกลางและภาคใต้อยู่ที่ 21 บาท ส่วนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือกำหนดไว้ที่ 19 บาท

ตลอดระยะเวลา 14 ปีต่อจากนั้น ตั้งแต่ปี 2520-2533 มีการออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและบังคับใช้ทั้งหมด 12 ฉบับ

จนกระทั่งปี 2534 ค่าจ้างขั้นต่ำแตะตัวเลขสามหลักเป็นครั้งแรก ได้มีการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับกับกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำฉบับที่ 19 ซึ่งอัตราสูงสุดอยู่ที่ 100 บาท สำหรับพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม และภูเก็ต และ 93 บาทในพื้นที่ระนองและพังงา 88 บาทสำหรับพื้นที่สระบุรี ชลบุรี นครราชสีมา และเชียงใหม่ และอัตราต่ำที่สุดอยู่ที่ 82 บาทในพื้นที่ 60 จังหวัดที่เหลือ

  • วิกฤติเศรษฐกิจ 2540 ปรับครั้งใหญ่

ขณะที่ในช่วงปี 2540 ที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้อธิบายไว้ว่า ช่วงเวลานั้นเกิดการว่างงานอย่างมาก กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมมองว่าการกำหนดค่าจ้างเช่นเดิมในช่วงเวลานั้นไม่เหมาะสม จึงมีการแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาปรับปรุงกฎหมายขึ้นมา โดยมีนายประสงค์ รณะนันท์ รองปลัดกระทรวงฯ นั่งเป็นประธานกรรมการ ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด คือ คณะกรรมการค่าจ้างกลาง ทำหน้าที่กำหนดอัตราค่าจ่างขั้นต่ำพื้นฐานของประเทศ และอัตราค่าจ่างขั้นต่ำของกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย และคณะกรรมการค่าจ้างอีกระดับหนึ่งเป็นระดับจังหวัดที่เสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละจังหวัด

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ มีการกระจายการกำหนดค่าจ้างลงสู่ระดับจังหวัด เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 2 อัตรา ซึ่งพิจารณาจากปัจจัย 9 ประการ ทั้งดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ราคาของสินค้า มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวม และสภาพเศรษฐกิจและสังคม โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ได้แก่

1.อัตราค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐาน คือ อัตราค่าจ้างต่ำสุด ซึ่งกำหนดคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคี มีผู้แทน 15 คน ปลัดกระทรวงนั่งเป็นประธาน มีผู้แทนฝ่ายรัฐบาล 4 คน ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง 5 คน และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง 5 คน หากผู้ประกอบการที่จ่ายค่าจ้างต่ำกว่าอัตรานี้จะถือว่าผิดกฎหมาย

2.อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ คือ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด (มีทั้งหมดไม่เกิน 15 คน ผู้ว่าราชการจังหวัดนั่งเป็นประธานอนุกรรมการ) เป็นผู้เสนอให้กับคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ซึ่งจะไม่น้อยไปกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐาน

ขณะที่ปี 2551 แม้จะมีการบังคับใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ 144-194 ที่มีการประกาศเมือช่วงปลายปี 2550 ไปแล้ว แต่ด้วยสถานการณ์ที่ประชุมคณะกรรมการจ้างขั้นต่ำได้ประชุมอีกครั้งในไตรมาส 2 เห็นชอบให้มีการปรับขึ้นอีกครั้ง จากราคาสินค้าและค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ช่วงเวลานั้นอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงถึง 5.0% เทียบกับไตรมาส 1 ของปี 2550 ที่ประมาณ 2.4% เท่านั้น

ส่งผลให้ 1 มิถุนายน 2551 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนดของไทยขึ้นเป็นสูงสุดที่ 203 บาท ในพื้นที่กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร และลดหลั่นตามพื้นที่ต่าง ๆ และต่ำสุดที่ 148 บาท คือ จังหวัดชัยภูมิ ขณะที่ในช่วงปี 2551-2555 มีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง

  • ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท จากนโยบายพรรคการเมือง

และหนึ่งในประเด็นที่หลายคนพูดถึงกันอย่างมากกับนโยบายพรรคการเมืองที่ได้หาเสียงไว้ “ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท” และมีการนำมาสู่การปรับใช้จริงในปี 2555 นั่นคือยุคของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เริ่มแรก 1 เมษายน 2555 นำร่องเพียง 7 จังหวัด ภูเก็ต กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ต่อมา 1 มกราคม 2556 มีการปรับขึ้นอีก 70 จังหวัดทั่วประเทศ

ซึ่งโดยรวมแล้วค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึง 39.46% นับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยช่วงปี 2544-2554 อัตราการเพิ่มขึ้นอยู่ที่เพียง 1.97% เท่านั้น

แต่ช่วงเวลาดังกล่าวมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและคัดค้านประเด็นการปรับขึ้นเป็น 300 บาท/วัน ในวารสารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ระบุถึงความคิดเห็นที่หลากหลาย เช่น ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล อดีต

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าาการกระทรวงการคลัง ระบุว่าการปรับขึ้นนั้น ผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถรับได้ แต่จะกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจขนาดกลางและย่อยทั่วประเทศที่มีกว่า 2 ล้านราย

ด้านนายประกิจ ชินอมรพงศ์ นายกสมาคมโรงแรมไทยในขณะนั้น มองว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโรงแรมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะระดับ 2-3 ดาว เนื่องจากค่าจากอยู่ที่ 195 บาท/วันเท่านั้น

ขณะที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกลุ ประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กล่าวในต้นเดือนสิงหาคม 2554 สนับสนุนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ และไม่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้จนนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคม เช่นเดียวกับนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล รองประธานคณะกรรมการบริหารการเงินและกรรมการการลงทุน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่เห็นด้วยกับการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ โดยอธิบายว่าในปี 2540-2553 ค่าแรงเพิ่มขึ้น 1.31 เท่า แต่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น 1.4 เท่า เท่ากับว่าค่าแรงขั้นต่ำนั้นเพิ่มขึ้นไม่ทันกับราคาสินค้า ระบุว่าที่ผ่านมาแรงงานเสียเปรียบมาก

ขณะเดียวกันศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารทหารไทยตั้งสมมติฐานไว้ว่า จากการปรับค่าแรงขั้นต่ำนั้นจะทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับเพิ่มขึ้น อัตราเงินหมวดอาหารจะเพิ่มอีก 4.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะเพิ่มเป็น 2.3%

  • เปิดค่าแรงขั้นต่ำจนถึงปี 2565

หลังจากปี 2556 ไม่มีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอีกสักพักใหญ่ จนกระทั่งปี 2560 ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการปรับขึ้นเป็น 300-310 บาท และในปี 2561 เป็นครั้งแรกที่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของ 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และภูเก็ต ปรับขึ้นที่ 330 บาท แซงหน้ากรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑลอื่นที่ 325 บาท

ถัดมาอีก 2 ปี ได้เพิ่มให้ชลบุรีและภูเก็ตขึ้นเป็น 336 บาท รองลงมา 335 บาท คือ จังหวัดระยอง ขณะที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลอีก 5 จังหวัดอยู่ที่ 331 บาท

อย่างไรก็ตามในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์นั้น ได้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกครั้ง โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 อยู่ที่ 328-354 บาท/วัน สูงสุดยังคงเป็นจังหวัดชลบุรี ระยอง และภูเก็ต

 

[สรุป] การกำหนดอัตรา “ค่าจ้างขั้นต่ำ” ตั้งแต่ปี 2516-2565 มีการออกประกาศทั้งหมด 50 ฉบับ ได้แก่

  • ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำและการบังคับใช้ (ตั้งแต่ 2516 – 2536) จำนวน 22 ฉบับ
  • ประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำและการบังคับใช้ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2537 – 2541) จำนวน 6 ฉบับ
  • ประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541) จำนวน 3 ฉบั
  • ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541) จำนวน 8 ฉบับ
  • ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551) จำนวน 8 ฉบับ
  • ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560) จำนวน 3 ฉบับ

 

ที่มา : http://nlrc.mol.go.th/data/doc/SI47018/003SI47018.pdf

https://www.mol.go.th/%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B3

https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/58493

https://tdri.or.th/wp-content/uploads/2014/04/wb101.pdf

https://www.boi.go.th/upload/content/9%20BOI_Sep54-Lowres.pdf

http://social.nesdc.go.th/social/Portals/0/Documents/%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B3%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88%20300%20%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%97%20%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%9A%E0%B9%83%E0%B8%84%E0%B8%A3%20%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B9%88_147.pdf