เปิดแผน 3 ปี สมาคมธนาคารไทย ฟันเฟืองหนุนเศรษฐกิจโตอย่างยั่งยืน

2488

“การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของสมาคมธนาคารไทยเป็นการสร้างแผนและวิธีการปฏิบัติงานของภาคธนาคารให้มีมาตรฐานกลาง ทำให้การต่อเชื่อมต่างๆ มีความลื่นไหล สะดวก นอกจากนี้ ยังเป็นการวางเป้าประสงค์หรือเป้าหมายของการทำงานที่มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SME ให้เข้าสู่วงจรธุรกิจได้ดีขึ้นและสามารถแข่งขันได้มากขึ้น”

ธนาคารเป็นภาคส่วนที่มีหน้าที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจ โดยเป็นตัวกลางระดมเงินทุนและจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจไปสู่ภาคเศรษฐกิจต่างๆ รวมทั้งให้บริการทางการเงินและชำระเงินหลากหลายรูปแบบ ซึ่งระบบสถาบันการเงินที่พัฒนา มีประสิทธิภาพ และมีเสถียรภาพจึงจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน

กอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษ การเงินธนาคาร ว่า เพื่อสนับสนุนให้ภาคธนาคารไทยพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ สมาคมธนาคารไทยมุ่งส่งเสริมให้ธนาคารสมาชิกให้ความร่วมมือกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานและประสิทธิภาพและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันมากขึ้นซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจโตอย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพผ่านแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี

“การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของ สมาคมธนาคารไทย เป็นการสร้างแผนและวิธีการปฏิบัติงานของภาคธนาคารให้มีมาตรฐานกลาง ทำให้การต่อเชื่อมต่างๆ มีความลื่นไหล สะดวก นอกจากนี้ ยังเป็นการวางเป้าประสงค์ หรือเป้าหมายของการทำงานที่มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SME ให้เข้าสู่วงจรธุรกิจได้ดีขึ้นและสามารถแข่งขันได้มากขึ้น”

เปิดแผน 3 ปี
ผลักดัน 4 ประเด็นหลัก

กอบศักดิ์กล่าวว่า สมาคมธนาคารไทย ได้วางแนวทาง (Roadmap) หรือแผนการพัฒนาระบบการเงินในช่วง 3 ปี (2566-2569) โดยปรับให้สอดคล้องบริบทของสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น เพื่อรับมือความท้าทายและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน เสริมสร้างความเชื่อมั่นระบบการเงิน และยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยทุกคนพร้อมยกระดับการแข่งขันของประเทศไทย ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยขับเคลื่อนใน 4 ด้าน ดังนี้

1.การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (Enabling Country Competitiveness) การเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ โดยนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของภาคธุรกิจเพื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์ขึ้น โดยมีโครงการที่สำคัญ เช่น

  • โครงการ Smart Financial and Payment Infrastructure for Business หรือ PromptBiz เป็นการพัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูลการค้า การชำระเงิน ข้อมูลผู้ให้บริการทางการเงินและระบบภาษีของภาครัฐผ่านกระบวนการดิจิทัล
  • โครงการ National Digital ID (NDID) หรือการยืนยันตัวตนในรูปแบบดิจิทัล และ ระบบ e-Signature หรือลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ ควบคู่กับการบริหารความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคล และความเสี่ยงทางไซเบอร์อย่างเข้มข้น

ตลอดจนผลักดันการวางกรอบแนวทางสนับสนุน ระบบ Open Banking หรือ การสร้างกลไกให้ผู้ใช้บริการทางการเงินในฐานะเจ้าของข้อมูลสามารถบริหารจัดการข้อมูลที่มีอยู่ที่ธนาคารต่างๆ ผ่านช่องทางดิจิทัลได้สะดวกมากขึ้น

นอกจากนี้ ภาคธนาคารได้เปิดตัวการให้บริการ d-Statement หรือการรับส่งข้อมูลรายการเคลื่อนไหวของบัญชีเงินฝาก (Bank Statement) ในรูปแบบดิจิทัลระหว่างสถาบันการเงิน เพื่ออำนวยความสะดวก และลดต้นทุนของลูกค้า

“ระบบการชำระเงินดิจิทัลของประเทศไทยที่มีความเข้มแข็งมาก เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งในด้านความสามารถของระบบและด้านปริมาณการใช้งาน เห็นได้จากการถอนเงินสดจาก ATM ที่ปัจจุบันลดลงอย่างมาก ขณะที่การโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัลปัจจุบันมากสุดสูงถึง 50 ล้านธุรกรรมต่อวัน ซึ่งการใช้ Digital Payment จะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อำนวยความสะดวกให้ประชาชน และสนับสนุนการเชื่อมต่อระหว่างประเทศด้วย”

2.การเป็นผู้นำการให้บริการทางการเงินในภูมิภาค (Regional Championing) การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ นักลงทุนและประชาชนสามารถทำกิจกรรมการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ และการชำระเงินของนักท่องเที่ยวในภูมิภาคได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย ต้นทุนต่ำ

โดยสมาคมจะเดินหน้าสนับสนุนการเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินดิจิทัลระหว่างกันในภูมิภาค รวมถึงสนับสนุนระบบสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง หรือ CBDC และต่อยอดสู่การชำระเงินระหว่างประเทศ โดยมีโครงการที่สำคัญ คือ

  • โครงการ National Digital Trade Platform (NDTP) เป็นแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย เป็นโครงการที่ขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คือ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทย ซึ่งในเฟสแรก พัฒนาและดำเนินการโดย บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด (NITMX) และ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด เป็นผู้ดูแลจัดการเกี่ยวกับเอกสารสัญญาที่เกี่ยวข้อง

โดยแพลตฟอร์ม NDTP ถูกพัฒนาด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และดำเนินการโดย บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด (NITMX) ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้พัฒนาและให้บริการโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินของไทย รวมทั้ง PromptPay และได้ขยายบริการไปยังโครงสร้างพื้นฐานการค้าและการให้สินเชื่อ ทั้ง PromptBiz และ Trade Document Registry (TDR) สำหรับธนาคาร เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงบริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ๆ และสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน NDTP เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีการค้าโลกต่อไป

“แพลตฟอร์ม NDTP มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อให้การส่งออกนำเข้า ง่าย สะดวก รวดเร็วขึ้น ช่วยป้องกันการทำธุรกรรมในเชิงมิชอบหรือการทำธุรกรรมซ้ำซ้อน และช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการทำการค้าแก่กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยหรือ SMEs ในประเทศ”

นอกจากนี้ ยังได้มีการต่อยอดแพลตฟอร์ม NDTP สู่การพัฒนาแพลตฟอร์ม PromptTrade ซึ่งเป็นพัฒนาระบบการค้าระหว่างประเทศรูปแบบดิจิทัล (International Trade Digitization) ในส่วนต่อขยายจาก Trade Document Registry ด้านการให้บริการของธนาคาร และการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านระบบ Port Community System (PCS)

“แพลตฟอร์ม Promptrade เป็นการต่อยอดแพลตฟอร์ม NDPT เฟส 1 และต่อยอดในการทำ Trade Document Registry ซึ่งเป็นระบบที่ภาคธนาคารร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อตรวจสองการทำ Double Financing หรือการที่ลูกค้านำเอกสารชุดเดียวกันมาขอสินเชื่อจากหลายธนาคาร ซึ่งจะส่งผลให้ภาคธนาคารเกิดความเสียหาย โดยโครงการนี้เปิดตัวมาประมาณ 2 ปี มีธนาคารเข้าร่วมแล้ว 8 ธนาคารและมีธุรกรรมเกิดขึ้นหลายแสนธุรกรรมแล้ว”

กอบศักดิ์กล่าวว่า นอกจากการพัฒนาโครงการต่างๆ แล้ว สมาคมธนาคารไทยยังได้สนับสนุนการผลักดันกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการสร้างความร่วมมือเรื่องการชำระเงินระหว่างประเทศในรูปแบบดิจิทัลเป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงผลัดดันการสร้างเครือข่าย Digital Trade ให้สามารถแชร์ข้อมูลระหว่างกัน ทำให้การทำ Digital Trade ในภูมิภาคเกิดได้เร็วขึ้น

3.การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน (Sustainability) โดยสมาคมจะผลักดันให้ภาคธุรกิจปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และ BCG Economy หรือโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสมาคม ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พัฒนาแนวปฏิบัติการธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking) ไปใช้ในการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจนและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

นอกจากนี้ สมาคมจะร่วมกันแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ยกระดับมาตรการทั้งก่อนและหลังเป็นหนี้ โดยสนับสนุนการจัดทำศูนย์กลางข้อมูลเครดิตให้สมบูรณ์ รวบรวมข้อมูลเครดิตจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งธนาคารและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร และสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อสามารถแก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จ ควบคู่กับการให้ความรู้ทางการเงินและการเงินดิจิทัล รวมถึงสร้างกลไกในการเพิ่มวินัยทางการเงินและส่งเสริมการออมเงิน โดยเฉพาะการออมเผื่อเกษียณ

4.การให้ความสำคัญด้านทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital) การพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่มีทักษะตอบโจทย์โลกอนาคต สามารถปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบันและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยสมาคม จะเดินหน้าพัฒนาทักษะ (Up & Re-skill) พนักงานธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบที่มีอยู่กว่า 1.3 แสนราย ให้มีความรู้ด้านดิจิทัลมากขึ้น

โดยอาศัยแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ของสถาบันธนาคารไทย (Thai Banking Academy – TBAC) พร้อมยกระดับ TBAC ให้มีบทบาทเป็นศูนย์กลางระดับชาติด้านองค์ ความรู้และการวิจัยของอุตสาหกรรมการเงิน เพื่อให้บุคลากรในอุตสาหกรรมการเงิน มีสมรรถนะที่สามารถตอบโจทย์โลกการเงินในยุคดิจิทัลตามมาตรฐานสากล นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจลูกค้ามากขึ้น สอดรับกับโมเดลธุรกิจของภาคธนาคารที่มุ่งสู่ดิจิทัล แบงกิ้ง และเน้นความคล่องตัวอย่างเต็มรูปแบบ

“ปัจจุบันธนาคารไทยมีความเข้มแข็งเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่ระบบ Payment ก็มีความเข้มแข็ง การดำเนินงานของเรายังมีความก้าวหน้าโดยเฉพาะธนาคารหลักที่มีการปรับตัวที่ดีต่อโลกที่เปลี่ยนไป และยังสามารถขยายโอกาสในการทำงานออกสู่ภูมิภาคและดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในไทยได้อีกด้วย”

6 ข้อเสนอ
ถึงรัฐบาลใหม่

กอบศักดิ์กล่าวว่า นอกจากบทบาทในการส่งเสริมธนาคารไทยแล้ว สมาคมธนาคารไทยยังมีบทบาทในการเสนอนโยบายต่อรัฐบาล ผ่านคณะกรรมการ่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และลด ความเหลื่อมล้ำ และเพื่อเกิดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างรวดเร็วและยั่งยืน โดยปัจจุบัน สมาคมธนาคารไทยเตรียมข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ดังนี้

1.การสร้างความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) เช่นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค การพิจารณาสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน การเร่งการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับนานาชาติให้มากขึ้น การพัฒนาและต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ

รวมถึง เชื่อมโยงข้อมูลการค้า ข้อมูลการชำระเงิน และข้อมูลในระบบภาษีของภาครัฐอย่างครบวงจร มีมาตรการแก้ไขปัญหาต้นทุนวัตถุดิบราคาแพงและปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) และการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับการพัฒนาและลงทุนในภาคอุตสาหกรรม

2.ความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) โดยปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสนับสนุนการเจรจากับประเทศคู่ค้าให้เกิดการเชื่อมโยงระบบโครงสร้างทางการเงินและการค้า

3.Digital Transformation โดยส่งเสริมการเป็น Technology Hub ของประเทศไทย ส่งเสริมให้เกิด Digital Transformation ในภาคธุรกิจอย่างกว้างขวาง ส่งเสริมการก้าวสู่ Cashless Society และ Digital Economy ที่อยู่บนโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินระบบ PromptPay และเร่งขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลดิจิทัล

4.การพัฒนามนุษย์ (Human Development) โดยการปรับอัตราตอบแทนค่าจ้างหรือค่าจ้างขั้นต่ำ การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานไทย การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวของประเทศไทย การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) ควรกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยการสนับสนุนระบบการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ (Pay by Skill) และการยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ได้มาตรฐานสากล สร้างข้อมูลภาครัฐให้เป็นข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อใช้ในการวางแผนและออกแบบนโยบายที่ตอบโจทย์ประชาชน

5.การสนับสนุน SMEs ทั้งในด้านการเข้าถึงแหล่งทุน การปรับโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับทิศทางรายได้ของธุรกิจและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ปลดล็อกให้ SMEs เข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินได้มากขึ้น รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในความสามารถในการแข่งขันกับธุรกิจรายใหญ่ จัดตั้งกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs สนับสนุนงบประมาณในการช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถพัฒนาและเข้าถึงบริการด้าน Digital service และ ออกมาตรการช่วยลดภาระตันทุนการผลิตให้แก่ SMEs ที่อยู่ในระบบภาษี

6.ความยั่งยืน (Sustainability) โดยขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ที่มีศักยภาพเพิ่มเติม ส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์พลังงานหรือการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม

“ตอนนี้ความคาดหวังของหน่วยงานต่างๆ ต่อสมาคมธนาคารไทยมีค่อนข้างสูง ดังนั้น งานของสมาคมธนาคารไทยตอนนี้ทั้งกว้างและลึกมากขึ้น ปริมาณงานต่างๆ ก็เพิ่มมากขึ้น เพราะบทบาทของเราคือสนับสนุนธุรกิจทั้งภาครัฐและเอกชน”


ติดตามอ่านคอลัมน์ Exclusive Interview ได้ในวารสารการเงินธนาคารฉบับเดือนพฤศจิกายน 2566 ฉบับที่ 499 ในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi

รวมช่องทางการสั่งซื้อวารสารการเงินธนาคาร ทั้งฉบับปัจจุบันและฉบับย้อนหลัง ครบจบที่นี้ที่เดียว : https://moneyandbanking.co.th/2023/18250/