NITMX เปิดตัว API Hub รับแบงก์ไทยลุย Open Banking

1733
NITMX

NITMX รับนโยบายแบงก์ชาติจับมือ Red Hat เปิดตัวระบบ Infra ใหม่ API Hub แชร์ข้อมูลระหว่างแบงก์ พร้อมสร้างมาตรฐานใหม่หนุนแบงก์/นอนแบงก์ยกระดับอุตสาหกรรมธนาคารไทย

ย้อนไปเมื่อธันวาคม 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดรับฟังความเห็นต่อนโยบายการเปิดกว้างให้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลตามสิทธิของผู้ใช้บริการ (Open Banking Data for Consumer Empowerment) โดยภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่างเห็นด้วยกับการนโยบายนี้ เพราะช่วยให้ผู้ใช้บริการได้รับบริการที่สะดวก ขณะที่ผู้ให้บริการอย่างธนาคารก็สามารถเข้าถึงข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาบริการและนวัตกรรมทางการเงิน ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการได้ดียิ่งขึ้น

การเงินธนาคาร ได้สัมภาษณ์พิเศษ นายธีรเกียรติ์ จิตตวัฒนรัตน์ Head of Innovation & Solution Architect บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด (NITMX) ถึงการพัฒนา API Hub ซึ่งเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานใหม่ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินและนอนแบงก์ สามารถใช้ประโยชน์ในการรับส่งข้อมูลและต่อยอดนวัตกรรมทางการเงินได้ตามนโยบาย Open Banking Data for Consumer Empowerment ของ ธปท. พร้อมเผยก้าวต่อไปของ NITMX ที่ต้องการสนับสนุนอุตสาหกรรมธนาคารไทยให้สร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง

NITMX พัฒนาระบบ API Hub Infra ใหม่ของอุตสาหกรรมธนาคาร

NITMX

นายธีรเกียรติ์ จิตตวัฒนรัตน์ Head of Innovation & Solution Architect บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด (NITMX)

นายธีรเกียรติ์ กล่าวว่า บทบาทของ เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ คือการเป็นผู้พัฒนาและให้บริการระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของธนาคารพาณิชย์ไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการชำระเงินของประเทศไทย เช่น การพัฒนาระบบ ATM Pool ที่ช่วยให้ผู้ใช้ถอนและโอนเงิน ผ่านตู้ ATM ข้ามธนาคารได้ จนถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศอย่างระบบ PromptPay ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

จากนโยบาย Open Banking Data for Consumer Empowerment ของ ธปท. ทำให้ เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ ได้พัฒนา API Hub โดยมีหน้าที่นำข้อมูลที่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล มาแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ภายใต้มาตรฐานที่เป็นประโยชน์ในการเชื่อมต่อระหว่าง ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินและนอนแบงก์ โดยระบบ API Hub ถูกพัฒนาตามแนวคิด Open Data และ Open Infra

Open Data : คือการแชร์ข้อมูลต่างๆ ที่ถูกเก็บอยู่ที่ธนาคารพาณิชย์เช่น ชื่อ-สกุล ที่อยู่ Statement สลิปเงินเดือน ฯลฯ เพื่ออำนวยความสะดวกเมื่อลูกค้าธนาคารต้องการทำธุรกรรมหลายธนาคาร ตัวอย่างเช่น หากลูกค้าเคยเปิดบัญชีที่ธนาคาร A แล้วต้องการเปิดบัญชีที่ธนาคาร B ด้วย โดยปกติลูกค้าต้องยื่นเอกสารใหม่ทั้งหมด แต่การเปิดโครงสร้างพื้นฐานแบบ Open Data จะช่วยให้ลูกค้าสามารถให้ความยินยอมย้ายข้อมูลที่เคยให้ไว้กับธนาคาร A มาสู่ธนาคาร B ได้โดยไม่ต้องเก็บข้อมูลใหม่ทั้งหมด

“วิสัยทัศน์ของ ธปท. คือต้องการผลักดันไปที่บริการให้สินเชื่อของธนาคารให้มีความสะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น และลดการเก็บข้อมูลที่ซ้ำซ้อนกัน อีกทั้งในอนาคตหากมีสถาบันการเงินหรือนอนแบงก์ต้องการเข้ามาเชื่อมต่อในส่วนนี้เพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้าก็สามารถทำได้เช่นกัน”

Open Infra : คือการแชร์ระบบโครงสร้างพื้นฐานให้กับธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงิน หรือนอนแบงก์ ให้เข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมการเงินใหม่เพื่อเชื่อมต่อกับโครงสร้างพื้นฐานนี้ ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่ลูกค้าธนาคารบางรายมีบัญชีเงินฝากอยู่หลายธนาคาร หากธนาคารพาณิชย์นำแอปพลิเคชั่นโมบายล์แบงก์กิ้งมาเชื่อมต่อกับระบบ API Hub จะสามารถดึงข้อมูลบัญชีเงินฝากจากทุกธนาคารมารวมอยู่ในแอปพลิเคชั่นเดียวได้

นอกจากนี้ระบบ API Hub ยังช่วยสร้างการแข่งขันในตลาดนวัตกรรมการเงินให้คึกคัก ช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถปรับใช้กับระบบโครงสร้างพื้นฐานเดิมอย่าง PromptBiz และ PromptTrade ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินและรับส่งเอกสารสำหรับภาคธุรกิจ

นายธีรเกียรติ์ได้ยกตัวอย่างการนำ API Hub ไปใช้กับระบบ PromptTrade ในกรณีของการแลกเปลี่ยนเอกสารสำหรับผู้ส่งออกและนำเข้า โดยปกติต้องใช้เอกสารสำคัญจากหลายหน่วยงาน แต่ API Hub จะทำหน้าที่เป็น Portal เดียวในการเชื่อมต่อข้อมูลเอกสารจากทุกหน่วยงาน ซึ่งหากไม่มีระบบ API Hub ผู้ส่งออกหรือนำเข้าต้องไปเดินเรื่องกับแต่ละหน่วยงานเอง ทำให้เสียเวลาและมีต้นทุนเพิ่ม ระบบ API Hub คาดว่าจะเปิดให้ธนาคารและองค์กรที่เป็นพาร์ตเนอร์ของ เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ เริ่มทดลองใช้งานผ่าน Sandbox ภายในเดือนเมษายนนี้

NITMX จับมือ Red Hat ฝ่า 3 ความท้าทาย API Hub

นายธีรเกียรติ์กล่าวต่อว่า การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอย่าง API Hub นั้นมีความท้าทายที่ เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ ต้องเผชิญอยู่ด้วยกัน 3 ประการคือ

1. ระบบต้องมีความยืดหยุ่น สามารถปรับขนาดได้ เนื่องจากระบบนี้ถูกคิดค้นขึ้นให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ แม้ว่าในช่วงแรกจะมีอัตราการเติบโตที่ต่ำ แต่เมื่อเริ่มมีธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงิน หรือหน่วยงานต่างๆ เข้ามาเชื่อมต่อเป็นจำนวนมาก จะทำให้ระบบนี้มีอัตราการใช้งานที่สูงขึ้นแบบก้าวกระโดด

“API Hub เป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในลักษณะเดียวกับ PromptPay ซึ่งมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 1 เท่าทุกปี ดังนั้นระบบจะต้องสามารถรองรับอัตราการเติบโตในอนาคตได้”

2. ต้องมีข้อตกลงระดับในการให้บริการ (Service Level Agreement หรือ SLA) อยู่ที่ 99.99% ทำให้ระบบ API Hub นั้นเกิดดาวน์ไทม์ได้เพียงแค่เดือนละ 4 นาทีเท่านั้น

3. การกำหนดมาตรฐานของอุตสาหกรรม เนื่องจาก API Hub ถูกออกแบบมาให้เป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานกลาง ดังนั้นธนาคารพาณิชย์หรือองค์กรใดที่ต้องการจะใช้งานหรือดึงข้อมูลจากระบบนี้ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานในมาตรฐานเดียวกัน

นายธีรเกียรติ์กล่าวต่อว่า นอกจากความท้าทายใหญ่ทั้ง 3 ข้อแล้ว ยังต้องประกอบด้วยอีกหลายปัจจัยสำคัญเช่น ระบบต้องมีความเสถียร พึ่งพาได้ มีความปลอดภัยสูง และมีต้นทุนที่ไม่สูงมากในการพัฒนาระบบต่อไป เพื่อช่วยให้องค์กรขนาดเล็กสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่ เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ ทำได้

โดยจากความท้าทายและปัจจัยดังกล่าวทำให้ เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ ต้องร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ด้านเทคโนโลยีที่เชื่อถือได้อย่าง Red Hat เนื่องจากระบบ API Hub นั้นใช้พื้นฐานของผลิตภัณฑ์อย่าง Red Hat OpenShift เป็นพื้นฐานทั้งในส่วนของ OS และ Container Orchestration

“Red Hat OpenShift เป็นแพลตฟอร์มที่มีความเสถียร เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ทาง Red Hat สามารถซัพพอร์ต NITMX ได้ อีกทั้งยังมีจุดเด่นในด้าน Container Orchestration ตอบโจทย์ระบบ API Hub ที่รันทุกอย่างในลักษณะของ Micro Services และยังรองรับการดำเนินการบน Hybrid Cloud Environment ใดก็ได้”

เดินหน้าศึกษาเทคโนโลยีใหม่ เล็งใช้ AI สแกนธุรกรรมต้องสงสัย

นายธีรเกียรติ์ กล่าวต่อว่า โฟกัสหลักในการพัฒนาของ เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จะเน้นที่ระบบ API Hub เป็นหลัก โดยมองถึงการรองรับนวัตกรรมหรือยูสเคสใหม่จากพาร์ตเนอร์ทุกราย ขณะเดียวก็ยังให้ความสำคัญกับการศึกษาทุกเทคโนโลยีที่มีโอกาสสร้างความเปลี่ยนแปลง ตลอดจนการตระหนักถึงภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ที่อาจเกิดขึ้นตามพัฒนาการของเทคโนโลยีด้วย

“ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เทคโนโลยีกระจายศูนย์ (Decentralized) อย่าง Blockchain เพราะเป็นเทคโนโลยีที่มีโอกาสมาแทนที่ระบบการชำระเงินอย่าง PromptPay และท้าทายบทบาทในการเป็นตัวกลางของ NITMX โดยตรง”

อีกเป้าหมายที่ เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ ต้องการบรรลุ คือการเป็นผู้กำหนดมาตรฐานความพร้อมใช้งานและประสิทธิภาพของสมาชิก ที่จะต้องมี SLA ที่ใกล้เคียงกันทั้ง ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก และ ธนาคารต่างชาติ

นายธีรเกียรติ์ กล่าวต่อว่า เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ ยังมีแผนจะพัฒนา AI เพื่อตรวจจับและคาดการณ์พฤติกรรมที่น่าสงสัยก่อนที่จะเกิดความเสียหาย โดยจะเป็นส่วนเสริมจากระบบ Central Fraud Registry (CFR) ที่ เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ เป็นผู้พัฒนาให้ธนาคารสมาชิกสามารถนำส่งข้อมูลธุรกรรมต้องสงสัยที่ผู้เสียหายเป็นผู้แจ้ง หรือธนาคารตรวจพบเองผ่านช่องทาง NITMX Web Portal ส่งผลให้ระบบสามารถทำงานในลักษณะ Prevention ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“NITMX จะเป็นผู้สนับสนุนด้านนวัตกรรมให้ธนาคารพาณิชย์สามารถเดินต่อไปได้ โดยอาจมองสิ่งที่ NITMX ทำเป็นเหมือนเลโก้ชิ้นเล็ก ๆ ให้ธนาคารนำเลโก้เหล่านี้ไปประกอบกันให้กลายเป็นนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ หรือโซลูชั่นใหม่ ๆในอุตสาหกรรมได้กว้างและครอบคลุมมากขึ้น เป็น Common Utility ที่พาร์ตเนอร์ทุกรายสามารถเข้าถึงได้”