บันได 5 ขั้นประกันสุขภาพ 50 อัพ

1144

ข่าวดี สำหรับวัย 50 อัพ เพราะปัจจุบันบริษัทประกันได้ออกประกันสุขภาพผู้สูงอายุมาให้เลือกในหลากหลายรูปแบบ แต่ปัญหาคือแล้วจะเลือกยังไงให้เหมาะกับความต้องการและครอบคลุมค่ารักษาอย่างคุ้มค่าสำหรับตัวเอง หรือลูกหลานซื้อให้กับพ่อแม่ สำหรับใครที่จะยังไม่รู้ว่าจะเลือกยังไงกันดี ลองมาใช้เทคนิคบันได 5 ขั้นประกันสุขภาพ 50 อัพ เพื่อประกอบการตัดสินใจกัน

 บันไดขั้นที่ 1.เลือกอัตราเบี้ยประกัน เพราะไม่ว่าจะทำประกันแบบไหน สิ่งที่เราจะพิจารณาเป็นอย่างแรกก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของ “เบี้ยประกัน” แล้วคำถามก็ตามมาว่า จ่ายเบี้ยเท่าไหร่จะคุ้มค่ากับผู้ทำประกัน เพราะหากจ่ายเบี้ยประกันสูงเกินไป จนเกินกำลังที่จะจ่ายไหวก็ไม่ใช่เรื่องดีนัก เพราะอาจจะจ่ายไม่ไหวและต้องยกเลิกกรมธรรม์ไปก่อน ดังนั้น เพื่อให้สามารถจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพไปยาวๆ แนะนำว่าควรจะเลือกจ่ายเบี้ยประกันไม่เกิน 15% ของรายได้ต่อปีนะ หรืออีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้จ่ายเบี้ยถูกลงได้ถึง 20-30% เช่น

– การจ่ายเบี้ยแบบมีความรับผิดส่วนแรก (Deductible) กรณีที่บริษัทประกันกำหนดค่ารับผิดส่วนแรกเอาไว้ที่วงเงิน 20,000 บาท หากมีการเคลมผู้เอาประกันต้องจ่ายค่ารักษาเองก่อน 20,000 บาท จากนั้นค่ารักษาที่เกินไปบริษัทประกันจะจ่ายให้

– การจ่ายเบี้ยแบบมีส่วนร่วมจ่าย (Co-payment) เป็นการกำหนดให้ผู้ถือกรมธรรม์มีส่วนจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามเปอร์เซ็นต์ที่กำหนด เช่น บริษัทประกันกำหนดไว้ที่ 10% ของค่ารักษาพยาบาล หากมีค่ารักษาพยาบาลอยู่ที่ 100,000 บาท เท่ากับเราต้องมีส่วนจ่าย 10,000 บาท เป็นต้น

บันไดขั้นที่ 2 เลือกความคุ้มครอง โดยก่อนที่จะตัดสินใจทำประกันสุขภาพผู้สูงอายุนั้น  ควรจะศึกษารายละเอียดของกรมธรรม์ให้เข้าใจว่าคุ้มครองในเรื่องใดบ้าง เช่น การเสียชีวิตทุกกรณีหรือไม่ ค่ารักษาพยาบาลแบบแยกจ่าย หรือเหมาจ่าย ครอบคลุมโรคใดบ้าง คุ้มครองโรคร้ายแรงและโรคอุบัติใหม่หรือไม่ เพราะแบบประกันแต่ละบริษัทจะมีความคุ้มครองที่แตกต่างกันไป อาทิ บางบริษัทคุ้มครองกรณีเสียชีวิตเท่านั้น แต่ไม่รวมถึงค่ารักษาพยาบาล เพื่อช่วยให้ค่าเบี้ยประกันภัยถูกลง เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่มีงบประมาณจำกัดหรือต้องการเลือกซื้อความคุ้มครองสุขภาพอื่นๆ เพิ่มเติม อย่างค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก (OPD)  ค่ารักษาทันตกรรม  เป็นต้น

บันไดขั้นที่ 3 เงื่อนไขสำหรับผู้มีประวัติเจ็บป่วยมาก่อน เพราะถ้ามีโรคประจำตัวหรือเจ็บป่วยมาก่อน ก็อาจจะทำประกันสุขภาพได้ยาก หรือหากทำได้ก็ต้องจ่ายเบี้ยที่สูงกว่าผู้ที่มีสุขภาพดี ตัวอย่างเช่น บริษัทประกัน ก. รับประกันนายเอ ซึ่งเป็นผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว พร้อมเงื่อนไขว่าจะมีระยะเวลารอคอย 2 ปี  ซึ่งในกรณีนี้ นายเอ สามารถทำประกันสุขภาพกับบริษัทประกัน ก.ได้ แต่จะสามารถเคลมค่าประกันได้หลังจากกรมธรรม์อนุมัติไปแล้ว 2 ปี  ซึ่งจากตัวอย่างนี้ ผู้ทำประกันต้องทำความเข้าใจและเป็นข้อควรระวังที่ต้องศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจ

บันไดขั้นที่ 4 อายุที่ยังสมัครได้หรือยังได้รับความคุ้มครอง ที่ผ่านมาส่วนใหญ่บริษัทประกันจะรับพิจารณารับประกันสุขภาพผู้สูงอายุที่ 60-65 ปี และระยะเวลาความคุ้มครองถึงอายุ 65 ปี แต่ปัจจุบันบางบริษัทได้มีการกำหนดอายุรับประกันภัยที่ 65-99 ปีแล้ว โดยมีระยะเวลาความคุ้มครองถึงอายุ 99 ปี ซึ่งการที่เรารู้ว่าสามารถทำประกันได้ที่อายุเท่าไหร่ และระยะเวลาความคุ้มครองถึงอายุเท่าไหร่ จะช่วยให้การวางแผนทางการเงินในส่วนของค่ารักษาพยาบาลได้เป็นอย่างดี

บันไดขั้นที่ 5 ควรเลือกประกันสุขภาพที่ให้เราเข้ารักษาในโรงพยาบาลใกล้บ้านได้ หรือเข้ารักษาได้ในทุกโรงพยาบาล เพราะโรคภัยของผู้สูงอายุสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา หากเลือกแบบประกันที่สามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้สะดวก รวดเร็ว ก็จะช่วยให้การดูแลรักษาผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี

เพื่อให้การวางแผนประกันสุขภาพครอบคลุมมากที่สุด ควรจะเริ่มทำตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อจะได้จ่ายเบี้ยประกันภัยต่ำ แต่ได้รับความคุ้มครองสูง  หรือหากลูกๆ ต้องทำประกันสุขภาพให้พ่อแม่หรือผู้สูงวัย ควรวางแผนในจ่ายเบี้ยประกันในระยะยาวเพื่อเป็นการลดค่าเบี้ยประกันที่จะสูงขึ้นตามอายุของผู้ที่ได้รับประกันและลดความเสี่ยงในการเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้